มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเสนอให้ยุติการทำร่าง พ.ร.บ. วิธีพิจารณาคดีทางการแพทย์
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเสนอให้ยุติการทำร่าง พ.ร.บ. วิธีพิจารณาคดีทางการแพทย์ พ.ศ… เหตุล้าหลัง ผลักภาระในการพิสูจน์ให้คนไข้ ผู้เสียหาย แถมมีคณะกรรมการจากวิชาชีพฝ่ายเดียว ไม่เป็นกลาง ไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภคในการฟ้องคดี เสนอให้ผลักดันกฎหมายคุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบจากบริการสาธารณสุขแทน
วันที่ 2 มี.ค 61 เวลา 14.15 น. ณ ห้องประชุมมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ กรุงเทพฯ นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับ นายโสภณ หนูรัตน์ นักวิชาการด้านกฎหมาย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แถลงสด(Fb Live) วิพากษ์(ร่าง) พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทางการแพทย์ พ.ศ… ของกระทรวงสาธารณสุข ที่จะจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ในวันที่ 13 มีนาคม 2561 นี้
ขอคัดค้านกฎหมายโดยมีเหตุผลสำคัญประกอบดังนี้
1. กฎหมายฉบับนี้ ล้าหลัง ผลักภาระในการพิสูจน์ให้กับคนไข้หรือผู้เสียหาย เนื่องจากไม่ได้มีการกำหนดภาระการพิสูจน์ให้ชัดเจนและเป็นเรื่องที่ยากของผู้ป่วยหรือผู้บริโภคในปัจจุบันในการพิสูจน์ ซึ่งแตกต่างจาก พ.ร.บ. วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 ในมาตรา 29 ที่กำหนดไว้ว่า “ประเด็นข้อพิพาทข้อใดจำเป็นต้องพิสูจน์ถึงข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับการผลิตการประกอบ การออกแบบ หรือส่วนผสมของสินค้า การให้บริการ หรือการดำเนินการใด ๆ ซึ่งศาลเห็นว่า ข้อเท็จจริงดังกล่าวอยู่ในความรู้เห็นโดยเฉพาะของคู่ความฝ่ายที่เป็นผู้ประกอบธุรกิจให้ภาระการพิสูจน์ในประเด็นดังกล่าวตกอยู่แก่คู่ความฝ่ายที่เป็นผู้ประกอบธุรกิจนั้น”
2.ไม่เป็นกลาง ไม่ได้รับความเป็นธรรม เนื่องจากมาตรา 13 คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ จำนวน 6 คน มีเฉพาะผู้ประกอบวิชาชีพฝ่ายเดียวเท่านั้น ได้แก่ ผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์(สองคน) คณบดีในมหาวิทยาลัยในสาขาวิชีพที่เกี่ยวข้อง(หนึ่งคน) สถานพยาบาลของรัฐ(หนึ่งคน) ผู้แทนสภาวิชาชีพ(สองคน) ส่งต่อความเป็นกลางในการพิจารณาคดี ขาดความเป็นกลางทำให้ผู้บริโภคที่ฟ้องคดี ได้รับความเป็นธรรมลดลง
3. กฎหมายฉบับนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมายปกครองโดยเฉพาะตามมาตรา 17 วรรคสอง“ถ้าคณะกรรมการได้ให้ความเห็นโดยสุจริตแล้ว ย่อมเป็นเอกสิทธิ์เด็ดขาด ผู้ใดจะนำไปเป็นเหตุฟ้องร้องว่ากล่าวกรรมการผู้นั้นในทางใดมิได้”
4. เกิดความล่าช้าในกระบวนการพิจารณาคดีโดยไม่จำเป็นเนื่องจากมาตรา 15 การพิจารณาคดีต้องรอให้คณะกรรมการพิจารณาภายใน 90 วัน ทำให้คดีผู้บริโภคโดยปกติที่จะต้องนัดพิจารณาภายใน 30 วัน กลายเป็น 120 วัน โดยไม่มีความจำเป็น
5. ให้อำนาจฝ่ายบริหารแทรกแซงการปฏิบัติงานของฝ่ายตุลาการ (มาตรา 6) โดยให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขมีอำนาจออกประกาศเพื่อปฏิบัติตามพระราชบัญญัติฉบับนี้
6. สนับสนุนให้กระทรวงสาธารณสุข ผลักดัน (ร่าง) พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบจากบริการสาธารณสุข ที่เห็นชอบจากหลายฝ่าย และมีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนในการลดการฟ้องคดีทางการแพทย์ เยียวยาความเสียหายทั้งผู้รับบริการและผู้รับบริการสาธารณสุข เพราะการฟ้องคดีมีความสูญเสียเกิดขึ้นจากทั้งฝ่ายแพทย์และคนไข้
7. กฎหมายฉบับนี้ยังขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 77จากการสอบถามเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ถึงที่ไปที่มาเหตุผลในการทำกฎหมายฉบับนี้ และการวิเคราะห์ความจำเป็นในการทำกฎหมาย (Regulatory Impacts Assessment) ทราบว่า ยังไม่มีการดำเนินการใด ๆ และไม่มีข้อมูล ทำให้การจัดทำกฎหมายฉบับนี้ไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน