ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์: Open Data กับความโปร่งใสของประเทศ
“...ปัญหาหลักของการไม่มีข้อมูลเปิดในประเทศไทย เพราะไม่มีมาตรฐานของข้อมูลที่ต้องเปิด ตามกฎหมายที่สอดคล้องกับนิยามของข้อมูลเปิด การไม่มีกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ไม่มีการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารของทางราชการที่จริงจัง และรัฐบาลและหน่วยงานราชการยังไม่เห็นคุณค่า...”
ภาพประกอบ:https://web.facebook.com/opendatathailand
วันที่ 3 มี.ค.2561 มูลนิธิฟรีดริช เนามัน และภาคีเครือข่าย จัดงาน International Opendata Day ณ อุทยานการเรียนรู้ ทีเคพาร์ค กรุงเทพฯ
ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผอ.วิจัยด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ปาฐกถา หัวข้อ Opendata กับการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน เพื่อความโปร่งใสและอนาคตของสังคม
ดร.เดือนเด่น เริ่มต้นด้วยการอธิบายนิยามคำว่า Opendata (ข้อมูลเปิด) มิได้หมายถึงการนำข้อมูลมาบรรจุไว้ในเว็บไซต์ แต่ตามหลักสากลได้ให้นิยามไว้ 5 ความหมาย กล่าวคือ
1.ต้องเป็นข้อมูลที่เข้าถึงได้ในระบบออนไลน์ ประเทศไทยยังไปไม่ถึงจุดนั้น เนื่องจากพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ข้อมูลข่าวสารของทางราชการ พ.ศ.2540 บัญญัติให้ต้องเผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษา ทำให้ปัจจุบันยังไม่อยู่ในระบบออนไลน์ทั่วไป
2.ต้องนำไปใช้ได้โดยไม่มีเงื่อนไข (Open Licensed) โดยไม่จำเป็นต้องขออนุญาตในการเข้าถึงข้อมูล
3.สามารถดาวน์โหลดเป็นข้อมูลขนาดใหญ่ได้ โดยไม่ต้องคลิกเข้าถึงหน้าข้อมูลหลายครั้ง
4.วิเคราะห์และประมวลผลผ่านโปรแกรมคอมพิวเตอร์ได้ จะต้องไม่อยู่ในรูปแบบพีดีเอฟ (PDF) แต่ควรอยู่ในรูปแบบที่โปรแกรมคอมพิวเตอร์รองรับได้
5.ไม่มีค่าใช้จ่าย แม้ข้อมูลทั่วไปสามารถสืบค้นได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่หากต้องการข้อมูลเชิงลึก เช่น ข้อมูลผู้ถือหุ้นบริษัท ยังต้องเสียค่าใช้จ่ายชั่วโมงละ 1,700 บาท
ทั้งนี้ มองว่า แม้จะสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ทั้งหมด แต่ยังต้องเสียค่าใช้จ่าย จึงไม่ถือว่าเป็น ‘ข้อมูลเปิด’
วิจัยพบ ‘Open Data’ คะแนนไทยยังต่ำ
ขณะที่เมื่อศึกษาผลการประเมิน Open Data Barometer 2016 ของประเทศไทย ซึ่งทีดีอาร์ไอ ได้ศึกษาไว้ ในโครงการจัดทำกรอบมาตรฐานดำเนินการเปิดเผยข้อมูลสำคัญของประเทศ (National Open Data Set) เสนอต่อสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์
ดร.เดือนเด่น ระบุว่า จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน ประเทศไทยได้คะแนนด้านปริมาณและคุณภาพของชุดข้อมูลเพียง 31 คะแนน ด้านความพร้อมของแต่ละภาคส่วน ในการนำข้อมูลไปใช้ 40 คะแนน
สุดท้าย ผลกระทบของชุดข้อมูล ช่วยให้รัฐบาลมีประสิทธิภาพมากขึ้นหรือไม่ ได้คะแนนน้อยมาก เพียง 11 คะแนน หมายความว่า ไม่ช่วยให้รัฐบาลทำงานได้ดีขึ้นเลย
ดร.เดือนเด่น ระบุว่า จึงเป็นโจทย์นอกจากการผลักดันให้มีการเปิดข้อมูลเพิ่มขึ้นแล้ว ยังต้องผลักดันให้ทุกภาคส่วนนำข้อมูลไปใช้ และให้เกิดแรงขับเคลื่อนต่อไปได้ด้วย
ไทยเปิดข้อมูล ดีสุด ‘บ.จดทะเบียน’ -แย่สุด ‘ถือครองที่ดิน’
ทั้งนี้ คำถามเกิดขึ้นว่า ไทยมีข้อมูลแล้วหรือยัง?
ดร.เดือนเด่น กล่าวว่า ในโลกนี้มีข้อมูลจำนวนมาก แต่ข้อมูลที่ทุกประเทศควรจะเปิดเผย เช่น ตารางการเดินรถ สัญญาระหว่างรัฐกับเอกชน แผนที่ ซึ่งไม่มีข้อมูลเปิดชุดใดที่ประเทศไทยได้รับคะแนนเต็ม 100 คะแนน จะมีได้รับคะแนนสูง เช่น สุขภาพ การใช้จ่ายงบประมาณของรัฐ การศึกษา
ดีที่สุด คือ ฐานข้อมูลบริษัทจดทะเบียน ซึ่งถือว่า ล้ำหน้ามาก เพราะประเทศในภูมิภาคอย่างมาเลเซีย หรือสิงคโปร์ ยังไม่เปิดเผยข้อมูลเหล่านี้ เนื่องจากถือว่าเป็นความลับ
แย่ที่สุด คือ ฐานข้อมูลสัญญาสัมปทาน หน่วยงานรัฐยังไม่ยอมเปิดเผย ยกเว้น การทางพิเศษแห่งประเทศไทย
และฐานข้อมูลการถือครองที่ดิน ซึ่งปัจจุบันเปิดเผยเพียงบางส่วน ในกรณีทราบเลขโฉนดที่ดินเท่านั้น
“การเปิดเผยข้อมูลการถือครองที่ดินในประเทศไทยยังติดอุปสรรคในเรื่อง ไม่มีพ.ร.บ.ข้อมูลส่วนบุคคล ที่กำหนดเส้นแบ่งระหว่างข้อมูลสาธารณะกับข้อมูลส่วนบุคคลอย่างชัดเจน ทำให้หน่วยงานราชการ "ไม่กล้า" เปิดเผย เพราะกลัวถูกฟ้องร้อง ดังนั้นจึงกลายเป็นข้ออ้างของหน่วยงานราชการทุกแห่งไม่เปิดเผย เพราะเป็นข้อมูลส่วนบุคคล”
โดยสรุปแล้ว ดร.เดือนเด่น ชี้ชัดให้เห็นถึงปัญหาหลักของข้อมูลเปิดในประเทศไทย เพราะว่า การไม่มีมาตรฐานของข้อมูลที่ต้องเปิดตามกฎหมายที่สอดคล้องกับนิยามของข้อมูลเปิด ด้วยขณะนี้พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ กำหนดให้เปิดเผยข้อมูล แต่ไม่ได้มีละเอียด ทำให้หน่วยงานรัฐเปิดเผยข้อมูลกันตามใจชอบ นำไปใช้งานยากมากที่สุด
นอกจากนี้การไม่มีกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ทำให้เส้นแบ่งระหว่างข้อมูลสาธารณะและข้อมูลส่วนบุคคลไม่ชัดเจน หน่วยงานราชการหลายแห่งจึงไม่เปิดเผยข้อมูลที่ควรจะเปิด
อีกทั้งไม่มีการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารของทางราชการที่จริงจัง และสุดท้าย คือ รัฐบาลและหน่วยงานราชการยังไม่เห็นคุณค่าของข้อมูลเปิด
ข้อสุดท้ายที่ดร.เดือนเด่น เห็นว่า เป็นปัญหาใหญ่มากที่สุด หากยังแก้ไขให้รัฐบาลและหน่วยงานราชการเห็นคุณค่าของการเปิดเผยข้อมูลไม่ได้ ก็จะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใด ๆ .