เจาะแฟ้มคดีเก่าป.ป.ช.เชือดจนท.2แบงก์รัฐปลอมลายมือ-ยักยอกเงิน ฉากสุดท้ายจำคุก-หลบหนี
"...เป็นที่น่าสังเกตว่า รูปแบบการทุจริตทั้ง 3 คดี มี 2 ลักษณะสำคัญ คือ การปลอมลายมือชื่อลูกค้า และการยักยอกโอนเงินไปใช้ประโยชน์ส่วนตัว โดยเฉพาะ กรณี นายวิรบูลย์ นาดี ที่มีการถอนเงินจากวงเงินกู้ในบัญชีลูกค้า หรือการไม่นำเงินที่ได้รับชำระหนี้จากลูกหนี้ไปเข้าบัญชีชำระหนี้ทันที แต่นำเงินไปใช้ประโยชน์ก่อนจะโอนเข้าบัญชีในภายหลัง ชี้ให้เห็นช่องโหว่ในขั้นตอนการจ่ายเงินชำระหนี้ของธนาคารอีกลักษณะหนึ่ง นอกเหนือจากการปลอมลายมือชื่อลูกค้าเพื่อทำเรื่องเบิกถอนเงินโดยตรงขณะที่วงเงินทุจริตแต่ครั้ง จะมีจำนวนน้อยไม่มาก ค่อยๆ ทำไม่ให้ผิดสังเกต หรือถูกจับได้..."
ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำข้อมูลมติชี้มูลความผิดคดีทุจริตของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่พนักงานธนาคารรัฐล่าสุด ที่มีการแจ้งประกาศผ่านเว็บไซต์สำนักงาน ป.ป.ช. เป็นทางการ มานำเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบกันไปแล้ว พฤติการณ์การทำความผิดมีหลากหลายรูปแบบ อาทิ การนำชื่อบุคคลภายนอกมาขอ กู้สินเชื่อกับธนาคารแล้วอำนวยสินเชื่อให้โดยทุจริต โอนเงินของธนาคารไปชำระหนี้ของตนเอง หรือผู้อื่นโดยมิชอบ หรือปลอมลายมือชื่อผู้กู้และ ผู้ค้ำประกัน ในเอกสารการกู้เงิน แล้วเบิกเงินตามสัญญา ไปเป็นประโยชน์ส่วนตน (อ่านประกอบ : ถึงคิว!เปิดมติป.ป.ช.ชี้มูลคดีทุจริต3แบงก์รัฐ 'ปลอมชื่อขอกู้-โอนเงินธ.จ่ายหนี้ตัวเอง') ขั้นตอนปัจจุบัน เจ้าหน้าที่พนักงานธนาคารรัฐทุกรายที่ถูกป.ป.ช. ชี้มูลความผิด จะต้องไปต่อสู้คดีในชั้นศาล เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธ์ของตนเองต่อไป
อย่างไรก็ดี ในช่วงระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา มีคดีทุจริตของเจ้าหน้าที่พนักงานธนาคารรัฐ หลายคดีที่ถูก ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิด และบทสรุปสุดท้ายหลังจากการต่อสู้คดีในชั้นศาล ถูกตัดสินลงโทษ รุนแรงถึงขั้นจำคุก บางรายอยู่ระหว่างการหลบหนี
สำนักข่าวอิศรา สืบค้นข้อมูลคดีต่างๆ มานำเสนอให้สาธารณชนรับทราบ ณ ที่นี้
@ นายฐิมานะ รุณเกษม เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งพนักงานธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สาขาสุโขทัย
ถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดฐานเป็นพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และกระทำการปลอมเอกสารอันเป็นเอกสารสิทธิ และใช้เอกสารสิทธิปลอม
กล่าวคือ นายฐิมานะ รุณเกษม เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งพนักงานพัฒนาธุรกิจ 5 ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สาขาสุโขทัย มีหน้าที่รับผิดชอบในการปฏิบัติสินเชื่อด้านเกษตรกร สถาบันเกษตรกร องค์กรชุมชน งานเงินฝาก ฯลฯ อาศัยโอกาสงานในตำแหน่งหน้าที่ ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยทุจริต ปลอมลายมือชื่อลูกค้าธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร รวม 14 ราย แล้วใช้เอกสารสิทธิปลอมนั้น เบิกเงินไปเป็นประโยชน์ส่วนตนโดยไม่ชอบ โดยทุจริต รวม 14 ครั้ง เป็นเงินจำนวน 390,000 บาท
สถานะทางคดี : สถานีตำรวจภูธรเมืองสุโขทัยได้ตรวจสอบผลการดำเนินการและขอทราบผลคำพิพากษาของศาลจังหวัดสุโขทัย พร้อมทั้งได้สำเนาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 แนบมาพร้อมด้วยแล้ว สรุปผลคำพิพากษาได้ว่า ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่านายฐิมานะ รุณเกษม มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 3,11 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 ประกอบมาตรา 265,268 ลงโทษฐานเป็นเจ้าพนักงานในหน่วยงานหรือองค์การของรัฐปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยทุจริต จำคุกกระทงละ 2 ปี และปรับกระทงละ 4,000 บาท รวม 14 กระทง ฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมจำคุกกระทงละ 2 ปี และปรับกระทงละ 4,000 บาท รวม 14 กระทง จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่ง จึงรวมจำคุก 28 ปี ปรับ 56,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้ลงโทษจำคุกจำเลยสำนวนละ 2 ปี และปรับสำนวนละ 4,000 บาท รวม 14 สำนวน โทษจำคุกจำเลยในแต่ละสำนวนให้รอการลงโทษไว้มีกำหนดสำนวนละ 2 ปี
@ นายณรงค์ ศรีพล เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่บริการลูกค้า ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาบ้านแท่น จังหวัดชัยภูมิ
ถูกคณะกรรมการป.ป.ช. ชี้มูลกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ โดยผู้ถูกกล่าวหาเป็นพนักงานของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาบ้านแท่น จังหวัดชัยภูมิ ตำแหน่งเจ้าหน้าที่บริการลูกค้า มีหน้าที่บริการลูกค้า การรับฝาก ถอนเงินให้แก่ลูกค้าที่ไปติดต่อธนาคารฯ สาขาบ้านแท่น ระหว่างวันที่ 29 ธันวาคม 2549 ถึงวันที่ 21 กรกฎาคม 2551 เวลากลางวัน ผู้ถูกกล่าวหาใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยทุจริต ยักยอกเงินจากบัญชีเงินฝากของลูกค้า โดยทำการปลอมแปลงลายมือชื่อของลูกค้าในสลิปถอนเงิน แล้วใช้กระดาษเปล่าแทนสมุดคู่ฝากถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของลูกค้ารายหนึ่งแล้วฝากเงินเข้าบัญชีของลูกค้าอีกรายหนึ่ง ในลักษณะหมุนเวียนบัญชี จำนวน 8 บัญชี รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,602,621 บาท
ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) มีคำสั่งที่ ธ.113/2552 ลงวันที่ 30 มกราคม 2552 ลงโทษไล่ผู้ถูกกล่าวหาออกจากการเป็นพนักงานของผู้กล่าวหา ตั้งแต่วันที่ 28 กรกฎาคม 2551 ซึ่งเป็นวันพักงานเป็นต้นไป
ขณะที่ ศาลจังหวัดภูเขียวพิพากษาเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2557 ตามคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1276/2557 คดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1443/2557 ให้ลงโทษจำคุก 6 เดือน
@ นายวิรบูลย์ นาดี เจ้าหน้าที่สินเชื่อธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาบรรพตพิสัย จังหวัดนครสวรรค์
ถูกคณะกรรมการป.ป.ช. ชี้มูลความผิด เป็นพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต กล่าวคือ นายวิรบูลย์ นาดี ผู้ถูกกล่าวหา มีตำแหน่งเจ้าหน้าที่สินเชื่อธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาบรรพตพิสัย จังหวัดนครสวรรค์ มีหน้าที่พิจารณาสินเชื่อ รับชำระหนี้ เบิกถอนเงินในบัญชี ได้ทุจริตต่อหน้าที่ ระหว่างปี พ.ศ. 2545 ถึง พ.ศ. 2546 ไม่นำเงินที่ลูกค้านำฝากเข้าบัญชีตามหน้าที่ แต่ยักยอกเงินดังกล่าวไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัว
โดยเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2546 ถอนเงินจากวงเงินกู้ในบัญชีลูกค้ารายนาย ป. เป็นเงิน 50,000 บาท และไม่นำเงินที่ได้รับชำระหนี้จากลูกหนี้จำนวน 3 ราย ได้แก่ ลูกหนี้สินเชื่อการเกษตรราย นาย ส. จำนวน 6,000 บาท นาง จ. จำนวน 20,000 บาท และลูกหนี้เงินกู้ประจำ นาย ก. จำนวน 35,000 บาท รวมเป็นเงิน จำนวน 61,000 บาท นำเข้าบัญชีชำระหนี้ให้แก่ลูกหนี้ในทันที แต่นำชดใช้หรือเข้าบัญชีให้แก่ลูกค้าในภายหลัง
สถานีตำรวจภูธรบรรพตพิสัยแจ้งว่า ได้ทำการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน สรุปสำนวนการสอบสวนโดยมีความเห็นสั่งฟ้องฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใดๆใช้อำนาจในหน้าที่โดยทุจริตอันเป็นการเสียหายแก่องค์การฯ ผู้ต้องหาหลบหนี และได้ขอศาลจังหวัดนครสวรรค์ออกหมายจับที่ 287/2556 ลงวันที่ 14 มิถุนายน 2556 ได้ส่งสำนวนการสอบสวนไปยังพนักงานอัยการจังหวัดนครสรรค์ตามหนังสือ ที่ ตช 0021.59/4716 ลงวันที่ 24 ตุลาคม 2556 ไว้แล้ว
ปัจจุบันอยู่ระหว่างการสืบสวนจับกุมตัวมาดำเนินคดี
ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า รูปแบบการทุจริตทั้ง 3 คดี มี 2 ลักษณะสำคัญ คือ การปลอมลายมือชื่อลูกค้า และการยักยอกโอนเงินไปใช้ประโยชน์ส่วนตัว โดยเฉพาะ กรณี นายวิรบูลย์ นาดี ที่มีการถอนเงินจากวงเงินกู้ในบัญชีลูกค้า หรือการไม่นำเงินที่ได้รับชำระหนี้จากลูกหนี้ไปเข้าบัญชีชำระหนี้ทันที แต่นำเงินไปใช้ประโยชน์ก่อนจะโอนเข้าบัญชีในภายหลัง ชี้ให้เห็นช่องโหว่ในขั้นตอนการจ่ายเงินชำระหนี้ของธนาคารอีกลักษณะหนึ่ง นอกเหนือจากการปลอมลายมือชื่อลูกค้าเพื่อทำเรื่องเบิกถอนเงินโดยตรง
ขณะที่วงเงินทุจริตแต่ครั้ง จะมีจำนวนน้อยไม่มาก ค่อยๆ ทำ ไม่ให้ผิดสังเกต หรือถูกจับได้
อย่างไรก็ดี ทั้ง 3 คดีนี้ น่าจะเป็นบทเรียนเป็นอุทาหรณ์สอนใจให้เจ้าหน้าที่พนักงานธนาคารรัฐในปัจจุบัน ให้ตระหนักรู้ถึงโทษทัณฑ์การทุจริตประพฤติมิชอบว่าอันตรายร้ายแรงเพียงใด ขณะที่ผู้บริหารธนาคารทั่วไป ควรนำไปใช้ศึกษาเป็นแนวทางในการป้องกันปัญหาการทุจริตในองค์กรของตนเองด้วยเช่นกัน