“กรมการข้าว” หวั่นเออีซีเปิดช่องข้าวเวียดนามบุกไทยกระทบราคาต่ำ
กรมการข้าวเร่งดันกม.ป้องกันเออีซีเปิดช่องข้าวเวียดนามคุณภาพต่ำเข้าไทย หวั่นราคาฮวบ-ชาวนาเดือดร้อน ชี้นาอีสานพื้นที่ชลประทานน้อยทำยอดข้าวลด กษ.เร่งมาตรการรุก-รับเสริมความรู้เกษตรกร
วันที่ 20 เม.ย.55 สมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทย จัดสัมมนา “ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนกับภาคการเกษตรไทย” ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ โดยนายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (รมว.กษ.) กล่าวว่า การเตรียมพร้อมเพื่อผลักดันภาคเกษตรกรรมไทยสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 58 จำเป็นต้องตั้งมาตรการเชิงรับ ได้แก่ การตั้งเงื่อนไขนำเข้าสินค้า เช่น กำหนดช่วงเวลานำเข้า กำหนดด่านนำเข้า กำหนดมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (SPS) พร้อมเข้มงวดการลักลอบนำเข้าสินค้า โดยต้องไม่ให้ขัดต่อข้อตกลงและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ขณะที่มาตรการเชิงรุก เช่น การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตหรือลดต้นทุนการผลิต การพัฒนาคุณภาพสินค้า และสร้างภาพลักษณ์สินค้า เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน รวมทั้งย้ายฐานการผลิตไปลงทุนในประเทศอาเซียนที่มีต้นทุนถูกกว่า เพื่อนำเข้ามาใช้เป็นวัตถุดิบที่ขาดแคลนในประเทศ พร้อมให้ความรู้แก่เกษตรกร เพื่อให้เกิดการปรับตัวและป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อเกษตรกรเองในอนาคตได้
อย่างไรก็ตาม กษ. ได้กำหนดมาตรการป้องกันผลกระทบจากการเปิดเขตการค้าเสรีเบื้องต้น ซึ่งนอกจากมีกองทุนเอฟทีเอสำหรับจัดทำโครงการหรือมาตรการรองรับ ยังมีการแต่งตั้งคณะทำงานติดตามสถานการณ์การเปิดเสรีมาตั้งแต่ปี 52 ไม่เฉพาะภายใต้กรอบประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเท่านั้น แต่รวมถึงข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ภายใต้กรอบอื่นๆ ทั้งทวิภาคีและพหุภาคีด้วย
รมว.กษ. ยังกล่าวว่า จากการศึกษาโดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) พบว่า มูลค่าการค้า(ส่งออก -นำเข้า) ในปี 53 ซึ่งเป็นปีแรกที่ไทยเปิดเสรีภายใต้กรอบเออีซีจะสูงกว่าปี 52 ถึง 29% โดยส่งออกเพิ่มขึ้น 32% นำเข้าเพิ่มขึ้น 16% ทำให้ดุลการค้า (ส่งออก - นำเข้า) เพิ่มขึ้น 38% ส่วนปี 54 เมื่อเทียบกับปี 53 มูลค่าการค้าก็เพิ่มขึ้นถึง 25% ส่งออกเพิ่ม 24% นำเข้าเพิ่มขึ้น 32% ทำให้ดุลการค้าเพิ่มขึ้น 22% ดังนั้น จะเห็นว่า สถานการณ์ปัจจุบันยังไม่น่ากังวลว่าไทยจะเสียเปรียบดุลการค้ามากนัก
ขณะที่ข้าวซึ่งถือเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของไทยนั้น นายชัยฤทธิ์ ดำรงเกียรติ อธิบดีกรมการข้าว ยืนยันว่า ปัจจุบันข้าวไทยเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีพื้นที่ทำนาปีทั่วประเทศ 61 ล้านไร่ นาปรัง 16 ล้านไร่ มูลค่าการส่งออกกว่า 4 แสนล้านบาท มีปริมาณการผลิตข้าวเปลือกในอาเซียนเฉลี่ยปี 50-54 ผลรวมเป็นอันดับ 3 คิดเป็น 17% รองจากอินโดนีเซียและเวียดนาม สาเหตุเกิดจากไทยมีพื้นที่ชลประทานน้อยเพียง 30% ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภาคกลาง ขณะที่ภาคอีสานเป็นพื้นที่ปลูกข้าวสูงถึง 34 ล้านไร่ กลับมีพื้นที่ชลประทาน 10% เท่านั้น ส่งผลให้นาข้าวของภาคอีสานให้ผลผลิตน้อยเพราะขาดน้ำ
นอกจากนี้นายชัยฤทธิ์ยังกล่าวถึงกรณีไทยเสียแชมป์การส่งออกข้าวให้แก่เวียดนามว่า แท้จริงแล้วไทยยังครองอันดับ 1 การส่งออกข้าว โดยสถิติปริมาณการส่งออกในตลาดโลกของอาเซียนเฉลี่ยปี 51-54 ระบุไทยส่งออกข้าวสูงถึง 53% ขณะที่เวียดนาม 33% กัมพูชา 9% ซึ่งมั่นใจว่าหลายประเทศไม่สามารถไล่ตามทันได้ หากอนาคตไทยมีแผนพัฒนาข้าวชัดเจนมากขึ้น
“เวียดนามมีส่วนแบ่งตลาดข้าวในอาเซียนปี 54 เป็นอันดับ 1 เพราะเน้นข้าวขาวคุณภาพต่ำ ราคาถูก ส่งผลให้ประเทศในภูมิภาคสั่งซื้อมาก จึงหวั่นว่าหากเข้าสู่เออีซี ประเทศในอาเซียนจะส่งออกข้าวมาในไทย ส่งผลให้ราคาข้าวไทยตกต่ำเพื่อแย่งชิงตลาด ชาวนาอาจเดือดร้อนได้”
อธิบดีกรมการข้าว กล่าวต่อว่า ไทยจึงตั้งมาตรการเชิงรับเพื่อป้องกันปัญหาส่วนแบ่งตลาดข้าวผ่านกฎหมายต่าง ๆ ดังนี้ 1.พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจคนต่างด้าว พ.ศ.2542 ได้แก่ การทำนาในบ/ช1 ไม่อนุญาต, การสีข้าว การผลิตแป้งจากข้าวในบ/ช3 ต้องขออนุญาตจากอธิบดีกรมทะเบียนการค้าโดยความเห็นชอบของคกก.ประกอบธุรกิจคนต่างด้าว 2.พ.ร.ฎ.ควบคุมการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้าบางอย่าง (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2496 ได้แก่ ห้ามนำสินค้าที่ระบุเข้ามาในไทย (เมล็ดธัญญาหาร เมล็ดพืช ซึ่งรวมถึงข้าวด้วย) เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
3.พ.ร.บ.กักพืช พ.ศ.2507 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2542 และพ.ศ.2551 ได้แก่ ผู้ใดจะนำเข้าข้าวเปลือกต้องรับอนุญาตจากอธิบดีกรมวิชาการเกษตร โดยผ่านการวิเคราะห์ความเสี่ยงศัตรูพืช 4.ประกาศพณ.เรื่องการนำข้าวเข้ามาในราชอาณาจักรตามความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน ได้แก่ ต้องมีหนังสือรับรองเพื่อประกอบการใช้สิทธิพิเศษทางด้านภาษีศุลกากร 5.พ.ร.บ.คุ้มครองที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อคุ้มครองพื้นที่ใช้ในการเกษตรกรรม ห้ามใช้ทำประโยชน์อื่น หากขัดขืนรัฐสามารถยึดคืนได้ทันที และ 6.พ.ร.บ.สวัสดิการชาวนา ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการเสนอครม.ครั้งที่ 2 หลังจากผ่านคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
ส่วนมาตรการเชิงรุกการผลิตข้าวไทยปี 55-59 นายชัยฤทธิ์ กล่าวว่า ไทยเน้นการวิจัยและพัฒนารอบด้าน รวมถึงสร้างความเข้มแข็งให้ชาวนาผ่านศูนย์ข้าวชุมชนเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต ที่สำคัญส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่ยึดอาชีพทำนา แต่ภาครัฐต้องสร้างความมั่นใจว่าทำนาแล้วจะรวย จึงขอความร่วมมือเอกชนสร้างสัดส่วนตลาดข้าวในประเทศให้สอดคล้องกับต้นทุนการผลิตข้าวของเกษตรกรด้วย
ด้านนายวิวัฒน์ ไม้แก่นสาร กลุ่มธุรกิจพืชครบวงจร เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า ข้าวนับเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของไทย ฉะนั้นจึงต้องเร่งพัฒนาเมล็ดพันธุ์ลูกผสม เพราะทนทานต่อโรคและศัตรูพืช ให้ผลผลิตสูง ปลูกได้ทั้งฤดูฝนและแล้ง ทั้งส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาใช้เทคโนโลยีในชุมชนเพื่อลดต้นทุนการผลิต เช่น ปุ๋ยอินทรีย์ พลังงานจากธรรมชาติ