นักวิชาการจุฬาฯ ชี้ภาษาในสื่อมีส่วนช่วยต้านโกง ยกกรณีอินโดฯ เทียบ
นักวิชาการจุฬาฯ เผยงานวิจัยพบการใช้ภาษาในสื่อ อาจมีผลต่อการรับรู้ปัญหาคอร์รัปชั่นในประเทศได้ ยกเคสอินโดฯเทียบ ชี้สิบปีไทยเน้นกลุ่มคำสร้างดราม่า มากกว่าสะท้อนปัญหาเชิงระบบ
เมื่อวันที่ 27 ก.พ. 61 ในงานเสวนา Knowledge Farm Talk ครั้งที่ 4 จากห้องทดลองสู่โลกจริง เข้าใจคอร์รัปชันในสังคมไทย ที่คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค นักวิจัย SIAM LAB และอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯการนำเสนอผลการวิจัยเรื่องคอร์รัปชันในสังคมไทย: เข้าใจคอร์รัปชันผ่านสื่อ
ดร.ต่อภัสสร์ กล่าวถึงดัชนีการรับรู้ทุจริตประเทศไทยล่าสุด ถึงแม้เราจะมีพัฒนาการบ้างในบ้างส่วน แต่ในภาพรวมเมื่อเทียบกับคะแนนเฉลี่ยทุกประเทศทั่วโลก ไทยยังสอบไม่ผ่าน และหากดูในระดับอาเซียนจะเห็นได้ว่าประเทศอินโดนีเซีย จากเดิมที่เคยอยู่ในลำดับที่สู้ไทยไม่ได้ ทุกวันนี้สามารถพัฒนาคะแนนขึ้นมาเทียบเท่าไทยได้แล้ว (อ่านประกอบ :ดัชนีคอร์รัปชันปี’60 ไทยขยับขึ้นอยู่ที่96 กลุ่มเดียว บราซิล โคลัมเบีย อินโดฯ ปานามา)
อะไรที่ทำให้อินโดนีเซียขยับมาดีได้ ดร.ต่อภัสสร์ กล่าวว่า ในงานวิจัยต้องการดูว่า รูปแบบการใช้ภาษาในสื่อมีผลต่อการรับรู้เรื่องคอร์รัปชันหรือไม่ โดยเทียบกันระหว่างไทยและอินโดนีเซีย โดยหากดูการทำงานด้านต่อต้านคอร์รัปชั่นในอินโดนีเซีย พบว่ามีองค์กรที่ทำงานด้านนี้จำนวนกว่าร้อยองค์กร ในช่วงที่รัฐตัดงบขององค์กรอย่าง KPK ซึ่งคือ ปปช.อินโดนีเซีย ตอนนั้นประชาชน เอ็นจีโอออกมาประท้วงเรี่ยไรเงิน มีความร่วมมืออย่างเป็นระบบ จนสามารถหาเงินเพื่อให้องค์กรสามารถทำงานต่อไปได้
ดร.ต่อภัสสร์ กล่าวว่า งานวิจัยชิ้นนี้ได้นำเอาหนังสือพิมพ์ภาคภาษาอังกฤษของสองประเทศ(บางกอกโพสต์และเดอะ จากาตาร์โพสต์ ตั้งแต่ปี2550-2560) มาเทียบกลุ่มคำที่ใช้ พบว่า คำที่ปรากฏในสื่อไทย ได้แก่คำว่า สงคราม กองทัพ อาวุธ ความตาย สีเหลือง สีแดง หลากสี ยานพาหนะ รถเมล์ การขนส่งทางบก การกิน บริโภค ผู้หญิง เกมส์ เล่นหมากรุกทางการเมือง คำเหล่านี้ มีความหมายเฉพาะเจาะจงมาก
หากดูเป็นรายกรณี จะเห็นว่าเป็นคำที่สนับสนุนเรื่องดราม่า สร้างอารมณ์ให้คนรับสาร คนชอบ อยากมีส่วนร่วม แต่ข้อเสียของดราม่าคือจะอยู่แค่กรณีนั้นๆ เท่านั้น แต่ปัญหาจริงๆ ในเชิงระบบไม่ถูกแก้ไข
ขณะที่กลุ่มคำที่สื่ออินโดนีเซียใช้ในระยะสิบปีที่ผ่านมา ดร.ต่อภัสสร์ กล่าวว่า กลุ่มคำที่พบเช่น กฎหมาย ระเบียบ ผิดจริยธรรม สื่อ หนังสือ อาชญากรรม การมีส่วนร่วม การกระทำ การสร้างความเสียหาย การทำลาย ซึ่งกลุ่มคำเหล่านี้สะท้อนในการชี้ปัญหาเชิงระบบมากกว่า
“งานวิจัยสามารถบ่งชี้ วิธีการ ในทางทฤษฎีของภาษาศาสตร์ระบุว่า การที่คนรับรู้ภาษามีผลต่อระบบความคิด เพราะฉะนั้นมีโอกาสเป็นไปได้ว่าการรับรู้อย่างเรื่องคอร์รัปชั่น ผ่านกลุ่มคำที่ต่างกัน ย่อมส่งผลต่อพฤติกรรมของคนรับสารที่ต่างกัน ข้อสรุปเบื้องต้นมีความเป็นไปได้ แต่ยังต้องวิจัยในระยะที่สองเพื่อดูปัจจัยที่ลึกขึ้น ถ้าสามารถสรุปได้ เราอาจเจอแนวทางใหม่ๆ ในการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น” ดร.ต่อภัสสร์ กล่าวและว่า ในงานวิจัยเฟสที่สองจะดูลึกลงมาที่เรื่องภาษาท้องถิ่น เพื่อวิเคราะห์อีกครั้งว่าการใช้คำจะสะท้อนอะไรได้มากหรือไม่
ในส่วนประเด็น เครือข่ายที่ทำงานเรื่องคอร์รัปชัน ดร.ต่อภัสสร์ กล่าวว่า ในงานศึกษาหยิบเอาองค์กรในไทยที่ทำงานเรื่องต่อต้านคอร์รัปชั่นในทุกภาคส่วนพบว่าใน 27 องค์กร มีลักษณะการทำงานต่อต้านคอร์รัปชั่นและป้องกันสามรูปแบบ คือ เปิดโปง ปลูกฝัง และป้องกัน แต่จุดอ่อนในการทำงานแม้ว่าจะมีการเชื่อมโยงอยู่กันบ้าง แต่ยังขาดระบบที่ชัดเจน ดังนั้นสิ่งที่จะช่วยสอดประสานการทำงาน องค์กรเหล่านี้จะสามารถจัดกลุ่มในหน่วยงานเหล่านี้ทำงานร่วมกันได้ไหม ก้าวข้าวอุปสรรค อย่างเรื่องพันธกิจองค์กร ทรัพยากรไม่เพียงพอเหล่านี้จะสามารถก้าวข้ามไปได้ไหม และเมื่อมีการจัดกลุ่มอย่างเป็นระบบจะช่วยสร้างประสิทธิภาพในการทำงานให้มากขึ้น พร้อมทั้งจำเป็นต้อง มีการวัดผลความสำเร็จ นำแนวคิดเรื่องการประเมินผลกระทบทางสังคม (Social Impact Assessment) มาประยุกต์ใช้วัดผลเพื่อเปลี่ยนแนวคิดของคำว่า “ความสำเร็จ” จาก การทำงานให้ “เสร็จ ” กลายเป็น “ทำให้ก้าวหน้า”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เปิดบทวิเคราะห์ลับป.ป.ท.ไขดัชนีคอร์รัปชันไทยปี60 ติดกับดักระบบอุปถัมภ์-ไม่ล่าตัวคนทุจริต