เมื่อน้องๆ นักเรียนสอนผู้ใหญ่ในบ้านเมือง
ใครจะคิดยังไงผมไม่รู้นะ
แต่สำหรับผม น้องๆ นักเรียนโรงเรียนเอกชนชื่อดังได้ชี้ให้สังคมไทยได้เห็นหลายเรื่องที่สำคัญ และอาจเป็นคำตอบที่อธิบายว่าเหตุใดเราจึงเป็นประเทศ"กำลังพัฒนา"อยู่ทุกวันนี้
หนึ่ง ประเทศจะพัฒนาได้ คนต้องมีคุณภาพ ทั้งร่างกาย จิตใจ และปัญญา
"คุณภาพกาย"ดูง่ายๆ จากการเจริญเติบโตที่สมส่วน ได้มาตรฐาน ซึ่งมีผลจากพันธุกรรม อาหารการกิน การออกกำลังกาย
การออกมาเรียกร้องให้สังคมเห็น พร้อมหลักฐานเชิงประจักษ์ว่า ขนาดโรงเรียนเอกชนในเมืองหลวงของประเทศ ค่าเทอมสูง และภาพลักษณ์ในอดีตดีระดับต้นๆ ของประเทศ อาหารการกินที่เด็กประถมซึ่งอยู่ในวัยเจริญเติบโตยังได้รับการจัดอาหารแบบไร้มาตรฐานจนน่าตกใจ และไม่สามารถยอมรับได้
แต่สุดท้ายอาหารดังกล่าวก็ถูกจัดให้โดยโรงเรียน ที่อ้างว่าลงทุนจ้างผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการด้วยอัตราเงินเดือนสูง ข่าวอ้างว่าได้รับค่าตอบแทนรวมราว 65,000 บาทต่อเดือน
ผมลองเอาภาพอาหารของโรงเรียนนั้นที่จัดให้เด็กประถมหลังจากโดนประท้วง มาให้ทางนักโภชนาการมืออาชีพได้ลองประเมินดู ถ้าจำไม่ผิดเป็นข้าวมันไก่ที่ข้าวปริมาณสัก 1 ทัพพีนิดๆ ไก่ไม่กี่ชิ้น แกงจืดฟักมีฟัก 2 ชิ้น และชมพู่ 1 ซีก (ครึ่งลูก) เค้าตีค่าพลังงานได้ไม่เกิน 200 กิโลแคลอรี่ แถมแซวว่าพลังงานน้อยกว่าอาหารลดน้ำหนักเสียอีก ถ้ากรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข หรือสำนักอนามัยของกรุงเทพมหานครเห็นและเอาไปคิดวิเคราะห์ น่าจะเป็นลม และควรหันมาตำหนิตัวเองว่าปล่อยให้สถานศึกษาเอกชนกระทำการดูแลเด็กนักเรียนแบบนี้มาได้อย่างไร
"คุณภาพใจ" มักไม่ง่ายในการดูแบบตรงๆ เด็กมักจะซึมซับแบบอย่างจากผู้ที่ดูแลใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ คนในครอบครัว ตลอดจนครูบาอาจารย์ที่โรงเรียน และเหล่านี้แหละที่จะหล่อหลอมให้เค้าเรียนรู้ว่าอะไรดี อะไรไม่ดี และแสดงออกมาเป็นบุคลิกและอุปนิสัยของเค้า จะด้วยการเลือกทำตามอย่าง หรือเพราะความคุ้นชินก็ตาม
จากการประท้วงของเหล่าเด็กนักเรียน แสดงออกให้สาธารณชนในสังคมไทยเห็นว่า พวกน้องๆ พิจารณาแล้วพบว่า สิ่งที่เค้าพบเห็นที่โรงเรียนในช่วงที่ผ่านมานั้น ทำให้เค้าไม่สบายใจเป็นอย่างยิ่ง และไม่อยากเห็นให้เกิดขึ้นอีกต่อไป
ถามว่าตัวอย่างประสบการณ์ใด จึงทำให้เด็กๆ รังเกียจปานนั้น หากเราตามข่าว และหากข่าวเป็นจริง คงมีหลายเรื่อง ร้อยเรียงไม่ถูกว่าอะไรเกิดก่อนเกิดหลัง และเป็นมาถี่บ่อยเพียงใด
ยกตัวอย่างเช่น ไม่ว่าจะเป็นการต้องหยุดเรียนมาร้องเพลงวันเกิดให้ผู้บริหาร ต้องเสียเวลาไปฝึกซ้อมการแสดงเพื่อมาแสดงฉลองวันเกิดให้ผู้บริหาร ต้องเห็นภาพการจัดงานปาร์ตี้ตรุษจีนและฉลองวันเกิดผู้บริหารโดยมีแอลกอฮอล์โชว์หราอยู่ในภาพ แถมข่าวคราวว่าลงทุนจัดงานด้วยงบสูงลิ่ว มีเค้กก้อนโตให้เจ้าของงานวันเกิด ในขณะที่นักเรียนกินอาหารที่เปรียบดั่งเศษอาหารในแต่ละวัน
นั่นแปลว่า เด็กๆ กำลังชี้ให้เห็นว่า "คุณภาพใจ" นั้นกำลังมีปัญหาหนัก และเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง อยากให้สถานศึกษาที่พวกเค้าอยู่นั้นเป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่เค้าและแก่สังคม
"คุณภาพปัญญา" มักวัดกันจากคะแนนสอบพื้นฐานไม่ว่าจะ O-NET, A-NET, และอะไรอีกไม่รู้ เยอะแยะตาแป๊ะไก๋ แถมดูจะมีการทดสอบที่เวิ่นเว้อมากมายเกินควรด้วยซ้ำ มีการจัดอันดับโรงเรียน มหาลัย แข่งขันชิงโน้นนี่นั่นเต็มไปหมด แต่สุดท้ายคนในสังคมจำนวนไม่น้อยกำลังสงสัยว่า ประเทศเรามีคนเก่งเยอะไปหมด เลือกชี้แต่ละคนมักมีแต่เกรดดีมีรางวัลทั้งสิ้น แต่การเปลี่ยนแปลงทางสังคมกลับไม่ค่อยมากเท่าที่คาดหวัง จนหลังๆ เริ่มมีคนคิดใหม่กันว่า คุณภาพปัญญาไม่ควรวัดเรื่องความฉลาดเพียงอย่างเดียว แต่ควรควบคู่ไปกับอารมณ์ และการแสดงออกซึ่งจิตใจที่ดี มีคุณธรรม จริยธรรม และศีลธรรม
น้องๆ นักเรียนแสดงให้เห็นถึงคุณภาพปัญญาที่ประเทศพึงปรารถนา มิใช่มุ่งแค่คะแนนสอบ แต่เป็นการที่คนในประเทศทั้งเด็กจนถึงผู้ใหญ่มีสติปัญญาไตร่ตรอง ดูความเป็นไปในสังคม และตระหนักได้ว่าอะไรที่เป็นเรื่องดีเรื่องร้าย และกล้าหาญตัดสินใจออกมาแสดงจุดยืน และชี้แนะให้เห็นหนทางตรวจสอบและแก้ไขให้ถูกต้องเหมาะสม
บทเรียนข้อแรกนี้เป็นเรื่องสำคัญยิ่งนัก และหากรัฐบาลและผู้ใหญ่ในบ้านเมืองได้เรียนรู้และสกัดบทเรียน จะได้คีย์เวิร์ดหรือคำสำคัญสำหรับพัฒนาระบบดูแลและให้การศึกษาแก่ลูกหลานของเราทั้งในภาครัฐและเอกชน ได้แก่ "อาหารที่ดีถูกหลักโภชนาการ", "โมเดลการปฏิบัติที่ดี" อันหมายรวมถึงผู้ปกครอง ครูบาอาจารย์ และเหล่านักบริหาร, และ "การสร้างสมดุลระหว่างการสอบกับการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมจากสถานการณ์ในชีวิตจริง"
เอาล่ะ แล้วน้องๆ ชี้ให้เราเห็นอะไรอีก...
สอง ความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่ถ่างกว้างขึ้นเรื่อยๆ มิใช่เรื่องคนยากจนหรือเกิดในชนบทอีกต่อไป
หากเราติดตามข้อมูลให้ดี เราจะพบว่านี่อาจเป็นการพลิกตำราของเหล่าสหประชาชาติ และธนาคารโลกก็เป็นได้ เพราะเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของการที่เด็กที่มีเศรษฐานะปานกลางและดี แถมอยู่ในบริบทเมือง อยู่ในที่ที่มีชื่อเสียงภาพลักษณ์ที่เหมือนจะดี แต่สุดท้ายได้รับบริการทางการศึกษาและโภชนาการที่อาจด้อยกว่าต่างจังหวัด โดยไม่รู้เท่าทันและไม่มีอำนาจการต่อรอง
ถามว่าทำไมถึงว่าไม่รู้เท่าทัน และไม่มีอำนาจการต่อรอง?
ไม่ใช่ว่ามีฐานะแล้วจะทำอะไรก็ได้
เด็กๆ ไม่รู้ประสีประสา หากเข้าสู่ระบบโรงเรียนแล้ว หากไม่พอใจ การย้ายโรงเรียนอาจทำได้ แต่ไม่ง่าย และส่งผลกระทบต่อเวลา และพัฒนาการด้านต่างๆ
นอกจากนี้คนระดับรัฐมนตรียังออกมาให้ข่าวต่อสถานการณ์นี้ว่า เรื่องนี้มีหน่วยงานที่ดูแลสถานศึกษาเอกชนอยู่คือ สช. แต่ดูเหมือนว่า อำนาจที่มีคือการตรวจสอบคุณสมบัติทั่วไปสำหรับการอนุญาตให้ประกอบการ มิได้เจาะลึกถึงกลไกอภิบาลระบบอย่างละเอียด ยิ่งไปกว่านั้นท่านยังชี้ให้เห็นกันว่า โรงเรียนเอกชนที่ไม่ได้รับงบสนับสนุนจากรัฐ 100% นั้นมีอำนาจการบริหารจัดการตนเอง ยิ่งทำให้เราเข้าใจกระจ่างมากขึ้นว่า กิจการค้าขายภาคเอกชนทั้งหลายจึงมีความคล่องตัวในการจัดการสูง เพราะไม่มีใครมาก้าวก่ายตรวจสอบอย่างละเอียดได้
โดยเฉพาะเรื่องคุณธรรม จริยธรรม และศีลธรรม
แต่เราฉุกคิดกันไหมว่า สถานศึกษาเอกชนนั้นไม่เหมือนกับกิจการค้าขายสินค้าหรือบริการทั่วไป เพราะแม้จะเป็นบริการด้านการศึกษา แต่เดิมพันด้วยชีวิตและพัฒนาการของเด็กๆ ซึ่งหากทำอะไรผิดพลาดไปจะด้วยความจงใจหรือไม่ก็ตาม จะส่งผลต่อเด็กอย่างมากและอาจแก้ไขผลกระทบได้ยาก
ตัวอย่างที่เด็กๆ มาประท้วงให้เห็น นั่นเป็นกรณีศึกษาที่ดียิ่ง ชี้ให้เห็นแนวโน้มที่หากเป็นรุนแรงและต่อเนื่อง อาจถือเป็นการกระทำที่ละเมิด หรืออย่างน้อยที่สุดคือการปฏิบัติไม่เป็นธรรมต่อเด็กๆ ทั้งเรื่องอาหาร การจัดเวลาเรียน และสิ่งแวดล้อมในการเรียนรู้
ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองจึงควรคิดให้ดีว่า ควรจะคิดปฏิรูประบบการติดตามกำกับ และตรวจสอบ รวมถึงสร้างกลไกถ่วงดุลอำนาจสำหรับกิจการสถานศึกษาเอกชนแล้วหรือยัง ก่อนที่จะมีกรณีอื่นๆ ในอนาคตที่สุดท้ายจะกลายเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือปฏิบัติไม่เป็นธรรม ด้านเยาวชน และด้านการศึกษา ซึ่งจะกลายเป็นประเด็นพิพาทระหว่างประเทศได้ในระยะยาว หรือส่งผลต่อภาพลักษณ์ด้านการปกป้องสิทธิมนุษยชนของประเทศอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
ยิ่งไปกว่านั้น ข้อมูลที่เผยแพร่ทางสื่อต่างๆ ยังชี้ให้เราเห็นว่า ไม่ว่าจะเด็กนักเรียน ผู้ปกครอง หรือแม้แต่ศิษย์เก่าของโรงเรียน เวลาเผชิญเหตุการณ์เช่นนี้ กลับออกอาการซวนเซพอสมควร เพราะเห็นปัญหาที่ดูรุนแรง แต่ไม่ทราบช่องทางควบคุมป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ
จะร้องเรียน จะร้องกับใครได้บ้าง มีกี่ที่ที่ควรไปร้อง และต้องนำส่งเอกสารและชงประเด็นอย่างไรให้ถูกต้อง? โดยรู้ทั้งรู้ว่าหากร้องไปตามระบบภายในของเอกชน อาจมีโอกาสน้อยที่จะได้ผล เพราะเป็นปัญหาอ่อนไหว และมีโอกาสได้รับการปกปิดได้
นี่คือประเด็นของความไม่รู้เท่าทันด้านกฎหมายและสิทธิมนุษยชน (Law and human rights illiteracy)
ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองไม่ควรมองข้ามเรื่องนี้
ประเทศเราจะพัฒนาไปไกลกว่านี้ได้ หากเราสามารถบ่มเพาะให้ประชาชนทุกเพศทุกวัยได้เรียนรู้เรื่องกฎหมายและสิทธิที่เค้าพึงมีพึงปกป้อง และแน่นอนจำเป็นต้องให้เค้ารู้บทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบควบคู่ไปด้วย
เรื่องปัญหาต่างๆ ในโรงเรียนเอกชนแห่งนั้น ก็คงต้องเป็นไปตามกระบวนการของหน่วยงานต่างๆ ที่เริ่มเข้ามาดูแลไปตามครรลอง อะไรผิดก็แก้ไขไป แต่ควรวางแผนจัดการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาเดิมๆ อีกในอนาคต
ไม่รู้สิ...สองประเด็นยักษ์ที่ชี้ให้เห็นนั้น ผมเรียนรู้มาจากปรากฏการณ์ที่น้องๆ แสดงออกมาให้เห็น
และผมมองว่ามันเป็นประเด็นสำคัญระดับชาติ ที่ควรนำไปปรับแต่งยุทธศาสตร์ชาติฉบับล่าสุดครับ
ด้วยรักต่อทุกคน
หมายเหตุ : ภาพประกอบจากผู้จัดการออนไลน์