บันทึกสนทนา ‘นิตยา มาพึ่งพงศ์’ ใบไม้ร่วงที่ VOA
"...คุณนิตยา เรียนจบทางด้านเศรษฐศาสตร์ปริญญาตรีในสหรัฐและอังกฤษ ปริญญาโทในสหรัฐ ทำงานที่สถานีวิทยุกระจายเสียงภาคภาษาไทย ทำงานที่สำนักงานส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ในประเทศไทยและเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อยู่ช่วงหนึ่ง หลังจากนั้นไปศึกษาต่อและทำงานที่ VOA เป็นเวลากว่า 30 ปี ช่วงชีวิตผ่านเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองไทย การเมืองสหรัฐ และการเมืองโลกมาหลายเหตุการณ์..."
ช่วงเช้าวันที่ 20 ก.พ.2561 เฟซบุ๊ก VOA Thai หรือ วอยซ์ ออฟ อเมริกา (Voice of America -VOA) สถานีวิทยุกระจายเสียงภาคภาษาไทยตรงจากสหรัฐฯ แจ้งข่าวว่า คุณนิตยา มาพึ่งพงศ์ หัวหน้าแผนกภาษาไทยของ VOA ได้เสียชีวิตเมื่อ เวลาประมาณ 09.30 น.วันที่ 19 ก.พ.2561 ตามเวลาท้องถิ่น ที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา ด้วยวัย 74 ปี สร้างความอาลัยแก่ครอบครัว คนรู้จัก และมิตรรักแฟนข่าวที่ติดตามเธอผ่านสื่อกระจายเสียงแห่งนี้นับสิบปี
คุณนิตยา เรียนจบทางด้านเศรษฐศาสตร์ปริญญาตรีในสหรัฐและอังกฤษ ปริญญาโทในสหรัฐ ทำงานที่สถานีวิทยุกระจายเสียงภาคภาษาไทย ทำงานที่สำนักงานส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ในประเทศไทยและเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อยู่ช่วงหนึ่ง หลังจากนั้นไปศึกษาต่อและทำงานที่ VOA เป็นเวลากว่า 30 ปี ช่วงชีวิตผ่านเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองไทย การเมืองสหรัฐ และการเมืองโลกมาหลายเหตุการณ์
ข้อมูลจาก voathai.com ระบุว่า คุณนิตยาเรียนมาทางเศรษฐศาสตร์ แต่ชอบภาษา จึงมีโอกาสได้ใช้ทั้งวิชาเศรษฐศาสตร์และความรู้ทางภาษา ถ้ามีเวลาว่างชอบอ่านหนังสือ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับฆาตกรรมลึกลับ และจารกรรมข้ามชาติ เพราะว่าอ่านแล้วลืมได้ทันที ชอบดูหนังและฟังเพลงได้ทุกประเภท กีฬาที่พยายามเล่นมานานหลายสิบปีแล้วคือ กอล์ฟ แต่ยังทำคะแนนให้ต่ำกว่า 100 ไม่ได้ ถ้าไม่มีโอกาสเล่นกอล์ฟจะพยายามเดิน เป็นการออกกำลังกายแทนที่
บนเส้นทางวิชาชีพและมีความโง่เป็นเพื่อน มีโอกาส เข้าไปนั่งสนทนาขอความรู้กับคุณนิตยา 2 ครั้ง ครั้งแรกช่วงราวเดือนธันวาคมปี 2547 โดยมีคุณ Montanee Anusas-Amornkul เป็นผู้นำทาง ว่าด้วยเรื่ององค์กรต้นสังกัด การทำหน้าที่ จิปาถะ ครั้งที่สอง สิบปีต่อมา ณ สำนักงาน VOA ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมื่อวันที่ 9 ม.ค. 2557 มีผู้สื่อข่าว VOA 2 ท่าน และเพื่อนร่วมทางอีก 2 ชีวิตร่วมสนทนา จำได้ว่าคุณนิตยาเชิญผู้สื่อข่าวจากกัมพูชาเข้าร่วมแลกเปลี่ยนด้วย
อเมริกาได้ชื่อว่ามีเสรีภาพของสื่อ สภาคองเกรสไม่สามารถผ่านกฎหมายมาจำกัดสิทธิเสรีภาพของสื่อ จะทำธุรกิจสื่ออย่างไรก็ได้ ไม่จำเป็นต้องมีใบอนุญาต ทุกคนสามารถที่จะเรียกตัวเองว่าเป็นสื่อได้โดยไม่จำเป็นต้องผ่านการฝึกอบรม
ค่าที่สื่อเกิดขึ้นอย่างเสรี สถานการณ์การแข่งขันระหว่างสื่อจึงเกิดขึ้นอย่างมาก
มีหนังสือพิมพ์รายวันกว่า 1,400 ฉบับในช่วงสิบก่อน (85% เป็นหนังสือพิมพ์เล็กๆในท้องถิ่น) สื่อกระจายเสียง กระจายภาพ ประมาณ 1,700 แห่ง สถานีวิทยุมีประมาณ 1,300 แห่ง บางแห่งออกอากาศด้วยภาษาต่างประเทศ อาทิ ภาษาเยอรมัน ฝรั่งเศส รวมทั้ง VOA แผนกภาษาไทย ฯลฯ พลเมืองสามารถติดตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนอกประเทศจากสื่อภาษานั้นๆ ได้โดยตรง แน่นอนปัจจุบันคาดว่าลดน้อยลงไป
คุณนิตยารู้ไส้รู้พุงสื่อในอเมริกามากที่สุดคนหนึ่ง
ช่วงหนึ่งผมถามในบริบทการทำหน้าที่ของสื่อ คุณนิตยาบอกว่า สื่ออเมริกันมีการแบ่งแยกกันมากขึ้น ไม่ได้เป็นกลางเป็นเสียทั้งหมด อะไรก็ตามที่สื่อแสดงออกมามันแสดงให้เห็นว่า สื่อฝักใฝ่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ไม่เป็นกลาง แล้วอันนี้ไม่ได้คิดว่าเฉพาะในเมืองไทย ในอเมริกาก็มีสื่ออย่างนี้มาก แบ่งกันเลยว่านี่เป็นพวกก้าวหน้า นี่เป็นพวกอนุรักษ์นิยม นี่เป็นพวกทีปาร์ตี้ (Tea Party-ขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองใหม่ในสหรัฐอเมริกามีแนวคิดแบบขวาจัด)
“คิดว่าสื่อไทยในหลายๆจากที่ได้อ่านนะ ก็คิดว่ามีแนวโน้มไปในลักษณะเดียวกัน”
ผมตีความนัยก็คือ ‘คล้ายๆกัน’กับอเมริกา (อาจเหมือนกันค่อนโลก?) และไม่มีข้อโต้แย้งเพราะแค่ ‘ความเป็นกลาง’หัวข้อนี้หัวข้อเดียวก็เป็นปัญหาโลกแตก (เผลอๆอาจวงแตก)
ผมตั้งคำถามถึง ‘ความเป็นเจ้าของ’ (ownership) การเข้ามาครอบงำในการทำหน้าที่ของสื่อโดยเฉพาะในเรื่องการขุดคุ้ยเปิดโปง ซึ่งเธอยืนยันว่าสื่ออเมริกันไม่ได้ทำหน้าที่ลดลงในการเปิดโปงผู้นำประเทศซึ่งขณะนั้นกำลังมีข่าวกรณีเอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน อดีตเจ้าหน้าที่สำนักงานความมั่นคงสหรัฐ หรือเอ็นเอสเอ เปิดโปงแผนสร้างคอมพิวเตอร์แควนตัมของเอ็นเอสเอซึ่งสามารถทำลายระบบป้องกันข้อมูลคอมพิวเตอร์แทบทุกประเภทและถูกเปิดเผยโดยสื่อในสหรัฐอยู่พอดี เธอจึงตอบได้ทันทีว่า “ถ้าน้อยลง เราคงไม่ได้ยินเรื่องนี้”
แน่นอนว่า ทัศนะของคุณนิตยา สอดคล้องใครหลายคน แม้กระทั่ง จี พี. แมเธอร์ ( Gene P. Matter) ที่ปรึกษาด้านสื่อแห่ง ฟรีดอม ฟอรัม และ โรเจอร์ อาโรนอฟฟ์ (Roger Aronoff) นักเขียนและผู้ผลิตของ Accuracy in Media, Inc. ว็อชทด็อกอีกแห่งที่ให้ข้อมูลแก่ผมในบริบทเดียวกันในช่วงขณะนั้น
มีหลายแง่มุมที่คุณนิตยาสะท้อนบอกเล่าประสบการณ์ ให้น่าคิดน่าศึกษา ไม่ควรปล่อยผ่านเลยไปอย่างปกติธรรมดา
ไม่แปลกใจกับคำกล่าวที่ได้ยินผ่านสื่อไทยหลังจากเธอลาจากว่า คุณนิตยาเป็นคนที่เข้าใจเข้าถึงบริบททางการเมืองและสังคมทั้งของไทยและสหรัฐ สามารถสื่อสารให้ประชาชนทั้ง 2 ประเทศเข้าใจสถานการณ์ได้มากขึ้นโดยเฉพาะในช่วงที่ประเทศไทยมีเหตุการณ์รัฐประหาร เดือน พ.ค. 2557 ที่คนทั้งโลกจับตา เธออธิบายให้ผู้สื่อข่าวต่างประเทศเข้าใจในช่วงเวลานั้นได้เป็นอย่างดี
สิ้นตำนานคนข่าวทระนง แห่ง VOA เป็นความสูญเสียทรัพยากรบุคคลในแวดวงวิชาชีพสื่อไทยในต่างประเทศ
ใบไม้ร่วงอีกใบ ในป่าทั้งป่าที่กำลังถูกตั้งคำถามถึง‘แก่นแกน’