นายก ส.จัดพิมพ์ฯ ชี้ครบ 10 ปี การอ่าน รัฐไร้ผลงาน มุ่งอีเวนต์-ละเลงงบฯ 1.4 พันล. เมืองหนังสือโลก
นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ เผยไทยครบ 10 ปี ‘ทศวรรษแห่งการอ่าน’ ไม่เห็นผลงานรูปธรรม ผลาญงบฯ เมืองหนังสือโลก เฉพาะเปิดตัววันเดียว 80 ล. ได้อนุสรณ์สถาน ‘หอสมุดเมือง’ รีโนเวท 300 ล. ไร้เงินจัดหาหนังสือ ต้องขอรับบริจาค ขณะที่ประธานมูลนิธิวิชาหนังสือ ยกแม่แบบฝรั่งเศส ออกกม. หนุนนักเขียน บังคับร้านจำหน่ายลดราคาได้ไม่เกิน 5%
วันที่ 23 ก.พ. 2561 ภาควิชาบรรณาธิการศึกษา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนาประจำปี เรื่อง ทางรอดหรือทางตายแห่งอนาคตของประเทศและรัฐบาล ที่ไม่มี ‘ระบบหนังสือของชาติ’ ณ อาคารมหาจักรีสิรินธร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นางกนกวลี พจนปกรณ์ กันไทยราษฎร์ นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ‘นักเขียน’ เป็นอาชีพยากจนมากที่สุดในระบบการผลิตหนังสือ เพราะไม่ได้รับการดูแลจากหน่วยงานใดเลย ทำให้หลายคนต้องช่วยเหลือตนเอง ด้วยการเขียนหนังสือ และใช้ชีวิตอย่างสมถะ ไม่ต้องดิ้นรนมาก จากเหตุผลข้างต้น จึงทำให้นักเขียนอาชีพอยู่รอดยาก ดังนั้นนักเขียนจึงถูกยึดเป็นไซด์ไลน์แทน
“นักเขียนอาชีพอยู่ได้ แต่อยู่อย่างลำบาก ไม่ได้สวยงามอย่างที่หลายท่านมอง และเรื่องราวที่บอกเล่าไม่ใช่เรื่องมาฟูมฟาย หรือเรียกร้องความสนใจ เพียงอยากเล่าให้ทราบเป็นกรณีศึกษา”
นายกสมาคมนักเขียนฯ กล่าวถึงความยากลำบากในการใช้ชีวิตของนักเขียนอาชีพต่อว่า ในยุคที่นิตยสารปิดตัวหลายฉบับ ทราบหรือไม่ว่า นิตยสารที่มีกำไรหลักหลายร้อยล้าน จ่ายค่าต้นฉบับให้นักเขียนเพียง 500 บาท/ชิ้น ขณะที่นิตยสารบางฉบับจ่ายค่าต้นฉบับครั้งแรก จนกระทั่งครั้งสุดท้ายที่ปิดตัว เป็นจำนวนเท่าเดิม
รวมถึงเมื่อมีการรวมเล่มแล้ว สำนักพิมพ์บางแห่ง เมื่อทราบว่าเป็นนักเขียนหน้าใหม่ สัญญาจะผูกมัดพ่วงขายรูปเล่ม อีบุ๊ก แปล และหากได้รับการผลิตเป็นละคร จะต้องแบ่งเปอร์เซนต์ให้สำนักพิมพ์ ร้อยละ 50 ด้วย ถามว่า นักเขียนจะใช้ชีวิตอยู่รอดหรือไม่
ในฐานะสมาคมนักเขียนฯ นางกนกวลี ระบุว่า ปกติสมาคมนักเขียนฯ ไม่มีงบประมาณ แต่จะต้องดูแลสวัสดิการให้แก่นักเขียน ในฐานะน้ำใจ แม้จะไม่ใช่เงินหลักหมื่น อีกทั้ง ได้มีความพยายามส่งเสริมสนับสนุนให้นักเขียนมีการพัฒนางานของตนเองเป็นลำดับ ส่วนนักเขียนที่มีชื่อเสียงโด่งดัง จะช่วยสมทบงบประมาณด้วย
“นายกสมาคมนักเขียนฯ บางสมัย มีเงินติดบัญชีตอนเข้ามาเพียง 6,000 บาท ไม่มีทางจะอยู่ได้ เพราะฉะนั้นจำเป็นที่ต้องขอสนับสนุนงบประมาณจากสปอนเซอร์ ซึ่งกว่าครึ่งมาจากภาคเอกชน และนักเขียนด้วยกัน” นายกสมาคมนักเขียน กล่าว
ด้านนางสุชาดา สหัสกุล นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย กล่าวว่า นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ทุกสมัย เมื่อเข้ารับตำแหน่งแล้ว จะเข้าหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลส่งเสริมการอ่าน แต่ทุกครั้งไม่มีคำมั่นสัญญาในการดำเนินนโยบายเกี่ยวกับหนังสือ ทำให้การสนับสนุนให้คนไทยอ่านหนังสือไม่ประสบความสำเร็จ
ทั้งนี้ องค์การยูเนสโก ประกาศให้เป็นปีหนังสือสากล รัฐบาลตีฆ้องร้องป่าว จัดกิจกรรมทศวรรษแห่งการอ่าน (พ.ศ.2552-2561) ซึ่งปี 2561 เป็นปีที่ 10 แต่ขณะนี้ยังไม่เห็นอะไรเลย ถามว่า สมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ทำทุกอย่าง ร่วมมือกับภาคีเครือข่าย แต่เท่าที่สังเกตกลับพบว่า กิจกรรมการส่งเสริมการอ่านของภาครัฐ ทำได้เพียงการจัดอีเวนต์ แบบไฟไหม้ฟาง
“เรามีเรื่องใหญ่ ๆ เกิดขึ้นในอดีต เช่น เมืองหนังสือโลก เท่าที่ทราบได้งบประมาณ 1.4 พันล้าน แต่ใช้ไปในการเปิดตัวงานภายในวันเดียว 80 ล้าน นั่นคือสิ่งที่ได้ และสิ่งที่เห็นอยู่เป็นอนุสรณ์สถาน คือ หอสมุดเมืองกรุงเทพมหานคร ที่ใช้งบประมาณในการปรับปรุงราว 300 ล้านบาท แต่กลับต้องขอรับบริจาคหนังสือ เมื่อสอบถามว่า มีงบประมาณจัดหาหนังสือเท่าไหร่ กลับไม่ได้รับคำตอบ” นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ระบุ
ขณะที่ ดร.ปณิธิ หุ่นแสวง ประธานมูลนิธิวิชาหนังสือ กล่าวเพิ่มเติม โดยยกตัวอย่างระบบหนังสือของประเทศฝรั่งเศส ที่มีการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการกำหนดราคาหนังสือ ร้านจำหน่ายจะต้องขายราคาปลีกตามปกที่สำนักพิมพ์กำหนดเท่านั้น และสามารถลดราคาได้มากที่สุด ร้อยละ 5 เพราะฉะนั้น นักอ่านที่ไปซื้อหนังสือจะไม่ตั้งคำถามว่า ร้านอื่นจะจำหน่ายราคาถูกกว่าหรือไม่ เพราะทุกร้านจะลดราคาเหมือนกัน ยกเว้นเมื่อตีพิมพ์ผ่านไป 2 ปีแล้ว จึงลดราคาขายให้ต่ำลงอีก แต่ยังมีข้อกำหนดหนังสือจะต้องวางสต๊อกที่ร้านไม่น้อยกว่า 6 เดือน ขณะที่ประเทศไทยยังไม่มีระบบหนังสือลักษณะนี้ .