หลากหลายความเห็น ต่อประเด็นผลคะแนน CPI ประเทศไทย
ภาคธุรกิจเอกชนก็มีบทบาทสำคัญ ที่ต้องดำเนินธุรกิจภายใต้หลักของการกำกับดูแลกิจการที่ดี และต้องช่วยเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหา โดยบริษัทแต่ละแห่งควรมีการกำหนดนโยบาย และระบบควบคุมภายในเพื่อป้องกันการทุจริตคอร์รัปชัน ไม่รับไม่จ่ายสินบน อันนี้สำคัญมาก
ทันทีที่ องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) ได้ประกาศค่าคะแนนดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชัน Corruption Perceptions Index (CPI) ประจำปี 2560 โดยประเทศไทยได้คะแนน 37 จาก 100 คะแนน จัดอยู่ในอันดับที่ 96 จาก 180 ประเทศ
มีหลากหลายความเห็นต่อประเด็นผลคะแนน CPI ประเทศไทย
@ ดร. บัณฑิต นิจถาวร เลขาธิการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (CAC) ระบุว่า การที่คะแนนและอันดับของไทยดีขยับสูงขึ้นเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น แต่ก็เป็นเรื่องที่ยังต้องทำต่ออีกมาก เพราะปัญหาคอร์รัปชันในบ้านเรามีมาก ดังนั้น ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม ควรต้องพยายามให้มากขึ้นเพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันอย่างจริงจัง ซึ่งถ้าทำได้ก็จะผลักดันให้คะแนนของเราสูงขึ้นเรื่อยๆต่อไป
“ภาคธุรกิจเอกชนก็มีบทบาทสำคัญ ที่ต้องดำเนินธุรกิจภายใต้หลักของการกำกับดูแลกิจการที่ดี และต้องช่วยเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหา โดยบริษัทแต่ละแห่งควรมีการกำหนดนโยบาย และระบบควบคุมภายในเพื่อป้องกันการทุจริตคอร์รัปชัน ไม่รับไม่จ่ายสินบน อันนี้สำคัญมาก ขณะเดียวกัน ภาครัฐก็ต้องปรับปรุงระบบงานบริการเพื่อลดขั้นตอน และลดการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นช่องที่เอื้อให้เกิดการเรียกรับ หรือ เสนอจ่ายสินบน รวมถึงเอื้อให้เกิดการทุจริตทางนโยบาย ต้องทำให้การบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพ สามารถนำผู้กระทำผิดมาลงโทษได้จริงจัง ส่วนภาคประชาสังคมก็ต้องช่วยกันปรับทัศนคติของคนในสังคมให้ไม่ยอมรับการโกง และพร้อมที่จะแจ้งเบาะแสแก่หน่วยงานตรวจสอบเมื่อพบเห็นการกระทำที่ส่อว่าจะมีการทุจริต ผมคิดว่าปัญหาของเรามีมากขนาดนี้แล้ว ทุกคนต้องร่วมกันแก้ไขปัญหา”
@ ดร. มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ มองว่า ดัชนีคอร์รัปชันปีนี้ ไทยได้คะแนนและอันดับดีขึ้น ถือเป็นอันดับที่ตามหลัง สิงคโปร์(6) มาเลเซีย(62) เท่ากับ อินโดนีเซีย ขณะที่ฟิลิปปินส์ อันดับร่วงลงไปมาก
ประเด็นที่ไทยต้องเร่งแก้ไข คือ ปัญหาระบบอุปถัมภ์/พวกพ้อง การจ่ายใต้โต๊ะ ขาดธรรมาภิบาลในระบบราชการ และการปิดกั้นข้อมูลข่าวสารสาธารณะทำให้การตรวจสอบจากสื่อและสาธารณชนเป็นไปได้ยาก
สิ่งที่ดีขึ้นมา เช่น การอำนวยความสะดวกเมื่อประชาชนไปติดต่อราชการ การประเมิน Ease of doing business การประเมิน world competivenesd เป็นต้น
สิ่งที่ยังแย่อยู่คือ การบังคับใช้กฎหมาย การเอาคนผิดมาลงโทษ การใช้อำนาจใช้ดุลยพินิจของผู้มีอำนาจ เป็นต้น
ด้านนพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ มองว่า การประกาศดัชนีคอร์รัปชั่นโลกปี 2017 อันดับไทยดีขึ้นจาก101เป็นอันดับ96 คะแนนดีขึ้นจาก35เป็น37 แต่ยังต่ำกว่าปี2015ที่ไทยได้อันดับ76จากคะแนน38 ซึ่งภาพรวมการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นยังต้องใช้เวลาจากกฎหมายที่ออกไป ไม่สามารถเห็นผลรวดเร็วในพริบตาตามที่ต้องการ โดยเฉพาะจากรธน.ฉบับปราบโกง