ความอ่อนเปลี้ยของภาครัฐ : กรณีคุณป้าทุบรถ เทียบเคียงกรณีของผู้เขียน
ข่าวดังที่ถูกนำเสนอตามสื่อต่างๆอย่างครึกโครมเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา คงไม่พ้นข่าวเรื่อง หญิงสูงวัย ใช้ขวานทุบรถยนต์ที่จอดอยู่หน้าประตูบ้านแทบไม่ยั้งมือ ซึ่งน่าจะสร้างความเสียหายให้กับรถคันนั้นพอสมควร ตามข่าวกล่าวว่าเป็นเพราะรถคันนั้นจอดขวางหน้าประตูบ้านทำให้หญิงสูงวัยซึ่งเป็นเจ้าของบ้านนำรถออกไปจากบ้านไม่ได้
หากดูจากภาพการทุบรถอย่างผิวเผินใครต่อใครคงจะก่นด่าหญิงสูงวัยที่น่าจะกระทำเกินกว่าเหตุ แต่เมื่อดูมูลเหตุจากการแถลงข่าวที่ทำให้หญิงสูงวัยถึงกับฟิวส์ขาดจนกระทั่งต้องทุบรถจนกลายเป็นข่าวใหญ่นั้นผู้เขียนจึงเข้าใจและเห็นใจต่อคุณป้าซึ่ง ณ วินาที่นั้นความอดทน อดกลั้นคงสิ้นสุดลงแล้ว เป็นภาวะที่อาจจะเรียกว่า “เหลืออด” ก็ว่าได้ ยิ่งเมื่อดูรายละเอียดของข่าวตามที่คุณป้าแถลงมีความเกี่ยวพันไปถึงการฟ้องร้องขึ้นโรงขึ้นศาลกับคู่กรณีที่เป็นเจ้าพนักงานของรัฐแล้วยิ่งทำให้ผู้เขียนเข้าใจถึงหัวอกของผู้เดือดร้อนนั้นเป็นอย่างยิ่งเพราะตัวเองก็ตกที่นั่งคล้ายๆกันเพียงแต่คุณป้ามีการต่อสู้ที่ยาวนานกว่า กับคนกลุ่มใหญ่กว่าและมีคดีถึงศาลแล้ว แต่กรณีของผู้เขียนนั้นยังมีความหวังจากการแก้ไขปัญหาจากภาครัฐผ่านช่องทางการร้องเรียนอยู่บ้างและยังไม่ได้กระทำการใดๆที่จะทำให้เกิดเป็นข่าวดัง
ผู้เขียนเองมีความเกรงใจสำนักข่าวอิศราและแฟนคอลัมน์เวทีทัศน์เป็นอย่างยิ่งที่ต้องนำเรื่องที่เป็นเสมือนความเดือดร้อนส่วนตัวมานำเสนอ แต่ในอีกแง่มุมหนึ่งผู้เขียนเห็นว่าน่าจะเป็นกรณีตัวอย่างที่สะท้อนถึงความหย่อนยานซึ่งประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนในการใช้ชีวิตประจำวันให้กับประชาชนและแสดงให้เห็นถึงคุณภาพของคนไทยบางกลุ่มบางพวกที่ดื้อแพ่งต่อการปฏิบัติตามกฎหมายเพราะถือว่าการกระทำดังกล่าวเป็นคดีลหุโทษรวมทั้งน่าจะ เป็นบทเรียนหากเจ้าหน้าที่รัฐจะได้นำไปไตร่ตรองและหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาเรื่องอื่นๆที่คล้ายคลึงกันให้ยั่งยืนเพื่อปัดเป่าความทุกข์ขั้นพื้นฐานให้กับคนในชาติซึ่งลำพังหากินเพื่อปากท้องก็ลำบากพออยู่แล้ว แต่ยังต้องมาเดือดร้อนรำคาญจากปัญหารอบตัวซ้ำเติมเข้าไปอีก
เพื่อให้เป็นกรณีตัวอย่างในภาพรวม ผู้เขียนจึงขออนุญาตเอ่ยถึง สถานที่และ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างกว้างๆโดยไม่ลงรายละเอียด
ผู้เขียนมีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพฯ ได้รับความเดือดร้อนจากการจุดพลุตลอดทั้งวันและทุกวัน ตั้งแต่เช้าถึงเย็น บางฤดูเริ่มจุดตั้งแต่ 05.40 น. ไปจนถึง 18.00 น.ตลอดหลายปีที่ผ่านมา สร้างความเดือดร้อนรำคาญต่อผู้เขียนและผู้อยู่อาศัยใกล้เคียงเป็นอย่างยิ่ง จากการบอกเล่าของเจ้าหน้าที่ กทม.และ รปภ. ประจำหมู่บ้านรับทราบว่าเป็นการจุดพลุไล่นกที่มากินข้าวในนาและกินปลาในบ่อเลี้ยงปลาบริเวณใกล้เคียง
ผู้เขียนได้ร้องทุกข์โดยใช้ช่องทางในการร้องทุกข์จากภาครัฐและสื่อสำนักต่างๆ เท่าที่เห็นว่าพอจะแก้ปัญหาให้ได้ ดังนี้
1.เจ้าหน้าที่ตำรวจ : หน่วยงานที่ผู้เขียนต้องนึกถึงเป็นหน่วยงานแรกคือ เจ้าหน้าที่ตำรวจ เพราะเห็นว่าน่าจะเป็นที่พึ่งที่ดีที่สุดในขณะเกิดเหตุ ผู้เขียนได้ใช้ช่องทางทางโทรศัพท์ร้องเรียนสถานีตำรวจท้องที่ 3 ครั้ง เดินทางไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าหน้าที่ที่สถานี 1 ครั้ง และทำจดหมายถึงผู้กำกับการของสถานีตำรวจพื้นที่นั้นเพื่อขอความอนุเคราะห์ช่วยเหลือและเร่งรัดการแก้ไขปัญหา 1 ฉบับ แต่ไม่ได้รับการตอบรับ เบ็ดเสร็จผู้เขียนได้ติดต่อกับเจ้าหน้าที่ตำรวจจำนวน 5 ครั้ง
ผลการดำเนินการแก้ไขปัญหาจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ : ไม่คืบหน้า
2.สื่อโทรทัศน์ : เมื่อไม่สามารถพึ่งพาเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ ผู้เขียนจึงได้ส่งคำร้องเรียนในเรื่องเดียวกันไปยังสื่อโทรทัศน์โดยคาดหวังว่าสื่อโทรทัศน์จะช่วยได้บ้าง ผู้เขียนได้ติดต่อไปยังสถานีโทรทัศน์ที่มีช่องทางร้องทุกข์ตามรายการต่างๆที่เห็นว่าน่าจะเป็นที่พึ่งได้ จำนวน 4 ช่อง ช่อง A ส่งคำร้องเรียน ทางจดหมาย ช่อง B ส่งคำร้องเรียนทาง e-mail ช่อง C และ D ส่งคำร้องเรียนทางทางอินเทอร์เน็ต การส่งคำร้องเรียนไปทั้งหมด เป็นการสื่อสารแบบทางเดียวเพราะไม่มีสถานีใดที่มีการตอบรับว่าได้รับเรื่องร้องเรียนหรือได้นำเสนอเรื่องร้องเรียนไปแล้ว
ผลการดำเนินการร้องเรียนผ่านสื่อโทรทัศน์ : ไม่คืบหน้า
3.สายตรง กทม. 1555 : เมื่อร้องเรียนผ่านตำรวจและสื่อโทรทัศน์ไม่คืบหน้า ผู้เขียนจึงได้ร้องเรียน สายตรง กทม. 1555 จำนวน 5 ครั้ง ผ่านช่องทางอินเทอร์เน็ต ตั้งแต่ปีที่ผ่านมาจนล่วงเข้าปีนี้ มีการตอบรับรับจากทาง กทม. ผ่านการส่งข้อความทางโทรศัพท์และมีการติดต่อพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ และเจ้าหน้าที่ได้ลงไปแก้ไขปัญหาโดยการเจรจากับผู้กระทำผิดกฎหมายเหล่านั้นแต่มาตรการเจรจาไม่ได้ผล ท้ายที่สุดเจ้าหน้าที่จาก กทม.จึงต้องประสานงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ให้ดำเนินการตามกฎหมาย โดยแจ้งว่างานดังกล่าวเป็นหน้าที่ของตำรวจ
ผลการดำเนินการร้องเรียนทางสายตรง กทม. 1555: ไม่ได้ผล เนื่องจากท้ายที่สุดต้องประสานให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการ
4.สายตรงสำนักนายกรัฐมนตรี 1111: ในขณะที่การแก้ปัญหาจาก กทม. ยังไม่บรรลุผล ผู้เขียนจึงได้ร้องเรียนไปยังสายตรง 1111 ของสำนักนายกรัฐมนตรีควบคู่กันไป ผ่านช่องทางอินเทอร์เน็ต จำนวน 3 ครั้ง โดยคาดหวังว่าจะได้รับการแก้ไขปัญหาอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพเพราะเป็นหน่วยงานระดับสูงที่เคยคุยนักหนาว่าสามารถแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ หลังส่งข้อความร้องเรียน มีการติดต่อจากเจ้าหน้าที่ทางโทรศัพท์ มีการสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและมีช่องทางให้การตรวจสอบสถานะ ประมาณ 120 วันผ่านไปเมื่อผู้เขียนเข้าไปตรวจสอบสถานะล่าสุดพบว่าได้มีการส่งเรื่องไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งอยู่ในสถานะ “รอการรับทราบ” ปัจจุบันยังไม่ทราบผลการแก้ไขปัญหาจากสายตรง 1111 และปัญหายังคงค้างคาอยู่
ผลการดำเนินการร้องเรียนทางสายตรงสำนักนายก 1111 : ไม่คืบหน้า
6. ร้องทุกข์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ซึ่งเป็นช่องทางร้องทุกข์ของสถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่ง เมื่อร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่างๆที่กล่าวมาแล้วไม่ได้ผล ผู้เขียนจึงลองใช้สื่อสังคมออนไลน์ร้องเรียนไปยังสถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่งที่เปิดช่องทางร้องเรียนทางสื่อสังคมออนไลน์ไว้ให้ร้องทุกข์
ผลการดำเนินการร้องเรียนผ่านสื่อสังคมออนไลน์ของสถานีโทรทัศน์ : ไม่ได้ผล
สรุปและวิเคราะห์
1. กรณีการร้องทุกข์ของผู้เขียนที่ร้องเรียนผ่านช่องทางต่างๆทั้งหน่วยงานรัฐ สถานีโทรทัศน์ รวมทั้งสื่อสังคมออนไลน์ นั้น ใช้เวลานับตั้งแต่เริ่มร้องเรียนครั้งแรก จนถึงวันที่ เขียนบทความ รวมเวลาทั้งสิ้นราว 200 วัน มีหน่วยงานที่เข้าร้องทุกข์ทั้งสิ้น จำนวน 8 หน่วยงาน จำนวนครั้งที่ ติดต่อกับหน่วยงานทั้งหมดมากกว่า 20 ครั้ง การแก้ไขปัญหายังไม่ได้ผลทั้งๆทราบตัวผู้กระทำผิดอย่างชัดแจ้ง มีการเข้าไปเจรจาจากเจ้าหน้าที่ กทม. รวมทั้ง กทม.ได้ประสานงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อให้ดำเนินคดีด้วย แต่การแก้ไขปัญหากลับไม่คืบหน้า
2. จากประสบการณ์ของการร้องเรียน ผ่านหน่วยงานตำรวจ สื่อโทรทัศน์ กทม. สายตรงสำนักนายกรัฐมนตรี และสื่อสังคมออนไลน์ พบว่า หน่วยงานที่มีระบบการรับเรื่องร้องเรียนที่ มีการสื่อสารสองทาง มีระบบการตรวจสอบความคืบหน้า และมีการติดตามผลงาน ได้แก่ หน่วยงานของ กทม. เพียงหน่วยงานเดียวที่ดูเหมือนจะมีความรับผิดชอบต่อหน้าที่และดำเนินการให้อย่างรวดเร็วพอควร อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหายังไม่ได้ผล เพราะ กทม. เองไม่มีอำนาจเบ็ดเสร็จ ต้องพึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นหน่วยงานสุดท้าย
3. การร้องเรียนผ่านสำนักนายกแม้ว่าจะมีระบบการรับเรื่องมีการสอบถามข้อมูลทางโทรศัพท์เพิ่มเติมจากการร้องเรียนผ่านอินเทอร์เน็ต เรื่องร้องเรียนกลับไม่มีความคืบหน้าเพราะไม่มีกำลังอยู่ในมือที่จะดำเนินการเองได้ ต้องพึ่งพาตำรวจซึ่งเป็นมือไม้ของรัฐบาลเป็นผู้ปฏิบัติการแทบทั้งสิ้น จึงดูเหมือนว่าสำนักนายกทำหน้าที่เพียงจัดตั้งระบบร้องเรียนที่ยังไม่มีการบูรณาการข้อมูลกับหน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่น การตั้งศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์ของรัฐ จึงอยู่ในลักษณะต่างคนต่างทำและได้ผลลัพธ์ไม่น่าพึงพอใจ สายตรงสำนักนายกจึงเป็นเพียงแค่ หน่วยรับเรื่องเพื่อส่งต่อไปยังส่วนราชการอื่นๆที่รับผิดชอบโดยแทบจะไม่ได้ให้ความหวังใดๆต่อผู้ร้องเรียนซึ่งคาดหวังอย่างสูงต่อการร้องทุกข์ผ่านช่องทางสำนักนายกเพราะถือว่าเป็นช่องทางการร้องเรียนขั้นสูงกว่าตำรวจและ กทม.
4. เนื่องจากสื่อต่างๆเป็นไม่ได้เป็นผู้รับผิดชอบทุกข์สุขของประชาชนโดยตรง การร้องเรียนผ่านสื่อในเรื่องที่ไม่เป็นที่น่าสนใจของสังคมหรือเรื่องที่ไม่มีสีสันจึง ไม่น่าจะคาดหวังอะไรจากสื่อได้มากนัก
จากรณีตัวอย่างของผู้เขียนจะเห็นได้ว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติคือหน่วยงานปลายทางที่ทุกหน่วยงานต้องพึ่งพาอาศัยรวมทั้งยังเป็นหน่วยงานแรกที่ประชาชนต้องนึกถึงเมื่อมีเหตุเดือดร้อน ภาระอันหนักอึ้งจึงตกอยู่กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพราะไม่ว่า การร้องเรียนโดยตรงจากผู้เขียนเอง สายตรง 1555 กทม. และ สายตรง 1111 สำนักนายกฯ ล้วนพุ่งเป้าไปยังหน่วยงานตำรวจทั้งสิ้น แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะทำงานอย่างจริงจังตามข้อร้องเรียนหรือไม่ผู้เขียนไม่ทราบได้เพราะปัญหายังคงไม่ได้รับการแก้ไข จนถึงทุกวันนี้ จะด้วยเหตุผลว่า ตำรวจมีงานมากตามที่ได้รับการบอกเล่าทางโทรศัพท์จากตำรวจ หรือ คดีนี้เป็นคดีเล็กๆไม่น่าสนใจ ไม่เหมือนทำคดีดังๆที่ชอบออกสื่อกันเอิกเกริก หรือจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม จึงทำให้การแก้ไขปัญหาไม่ลุล่วงและไม่ประสบผลสำเร็จ ทั้งๆที่เป็นปัญหาพื้นฐานของชาวบ้านที่น่าจะต้องดำเนินแก้ไขให้โดยไม่ยาก
ผู้เขียนเห็นว่าสิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาทางโครงสร้างของกระบวนการทำงานของภาครัฐทั้งระบบ ที่เป็นปัญหามาทุกยุคทุกสมัย มิใช่เกิดขึ้นแต่เฉพาะรัฐบาลคุณประยุทธ์เท่านั้น แต่รัฐบาลคุณประยุทธ์เป็นผู้สร้างกระแสและจุดประกายความหวังการคืนความสุขให้กับประชาชน รวมทั้งความตั้งใจที่จะปฏิรูปองค์กรตำรวจและปฏิรูปการทำงานของภาครัฐ จึงเป็นที่คาดหวังของคนทั่วไปค่อนข้างมาก
หากใช้กรณีกรณีของผู้เขียนหรือกรณีของคุณป้าทุบรถ เป็นหนึ่งในตัวชี้วัด ภาพสะท้อนที่ออกมาในช่วงการบริหารงานของรัฐบาลคุณประยุทธ์ในเรื่องการคืนความสุขจึงถือว่ายังไม่ประสบความสำเร็จ จนทำให้ผู้เขียนมีความรู้สึกว่า ขนาดเราอยู่ในช่วงคืนความสุข ประชาชนยังไม่มีความหวังใดๆ แล้วเราจะไปคาดหวังอะไรกับสังคมที่อยู่เหนือจากเทศกาลการคืนความสุขได้เล่า
ผู้เขียนเคยสอบถามทีเล่นทีจริงจากเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าหากมีการจุดพลุรบกวนในลักษณะนี้ผู้เขียนจะใช้อาวุธปืนยิงขึ้นฟ้าบ้างเพื่อเป็นการตอบโต้จะได้หรือไม่ ได้รับคำตอบว่า “ไม่ได้เพราะผิดกฎหมาย” สถานะของผู้เขียนวันนี้จึงไม่ต่างผู้ถูกกระทำฝ่ายเดียวโดยผู้รักษากฎหมายไม่ได้เข้าไปดำเนินการอย่างจริงจัง ไม่ต่างจากกรณีคุณป้าทุบรถ ที่ต้องการรักษาสิทธิตามที่ควรจะพึงมีของตนเอง เพียงแต่กรณีของคุณป้านั้นมีตัวเร่งมากกว่าจนกลายเป็นข่าวดังที่ต้องทำให้ผู้บริหาร กทม. ได้เริ่มขยับเนื้อขยับตัวตัวลงมาแก้ไขปัญหาให้ ซึ่งหากไม่เป็นข่าวดังคุณป้าก็คงจะทนทุกข์ทรมานต่อไปอย่างมิรู้จบ
การละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐจนนำมาสู่กรณีการทุบรถของคุณป้าก็ดีหรือกรณีที่อดีตตำรวจระดับสูงสุดขององค์กรตำรวจคนหนึ่งออกมากล่าววาทกรรมว่า ตำรวจคืออาชีพเสริม(Sideline) ของตนเองก็ดี รวมทั้งข่าวตำรวจแต่งเครื่องแบบเข้าแถวไปรับซองช่วงเทศกาลตรุษจีนนั้น จึงเป็นการสั่นคลอนศรัทธาของประชาชนที่มีต่อตำรวจและภาครัฐครั้งใหญ่และยิ่งเป็นการตอกย้ำให้เห็นได้อย่างชัดเจนถึงความด้อยประสิทธิภาพการทำงานในองค์กรภาครัฐเป็นอย่างยิ่ง
ดังนั้นการปฏิรูปเฉพาะตำรวจเพียงองค์กรเดียว จึงอาจไม่ใช่ยาที่ถูกขนานสำหรับการรักษาโรคที่เกิดจากความอ่อนแอของภาครัฐ แต่จะต้องปฏิรูปงานด้านอื่นๆด้วยพร้อมกันไป เพื่อให้ตำรวจกลับมาทำหน้าที่พิทักษ์สันติราษฎร์ด้วยความเต็มใจและเพื่อให้เจ้าหน้าที่รัฐส่วนอื่นๆได้ตระหนักว่างานของตนเองนั้นคืองานบริการที่ต้องรับใช้ประชาชนอย่างเอาใจใส่และจริงจัง มิใช่เป็นแค่การทำชิ้นงานให้สำเร็จเพื่อให้ผ่านตัวชี้วัดแล้วก็จบๆกันไปหรือทำตัวเป็นนายของประชาชนอย่างที่ถูกปลูกฝังกันมายาวนาน
ผู้เขียนเชื่อว่ายังมีความเดือดร้อนพื้นฐานของประชาชนอีกนับหมื่นนับแสนเรื่องที่ร้องเรียนแล้วไม่ได้ผลหรือไม่รู้จะไปร้องเรียนที่ไหนกับใครและมักไม่เป็นที่สนใจจากเจ้าหน้าที่เท่าที่ควรเพราะเห็นว่าเป็นคดีเล็กน้อยหรือให้น้ำหนักกับคดีดังๆ เช่น คดีดาราบ้าง คดีนักการเมืองบ้าง คดีที่ปรากฏเป็นภาพทางสื่อหลักที่จะทำให้หน่วยงานตำรวจเสียหน้าบ้าง จนทำให้ปัญหาพื้นฐานของชาวบ้านถูกปล่อยปละละเลยและค้างคาอยู่อย่างไม่มีอนาคต ซึ่งหมายความว่านโนบายการคืนความสุขให้กับประชาชนนั้นเป็นแค่การป่าวประกาศที่ลงมาไม่ถึงผู้ปฏิบัติดังที่ผู้เขียนยกเป็นกรณีตัวอย่างให้เห็น
ผู้เขียนเห็นว่า หากภาครัฐไม่สามารถแก้ปัญหาความเดือดร้อนพื้นฐานไม่ว่าจะเป็นกรณีคุณป้าทุบรถก็ดีหรือกรณีของผู้เขียนก็ดีด้วยกลไกของรัฐตามปกติโดยไม่ต้องตกเป็นข่าวดัง ก็อย่าคาดหวังว่ารัฐบาลจะสามารถคืนความสุขให้คนในชาติ ตามที่ได้โฆษณาเอาไว้ได้
-------------------------------
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก Kapook.com