เปิดคำพิพากษา บิ๊ก ธ.ออมสิน ย้ายกลั่นแกล้งลูกน้อง ไม่รับคำสั่งให้ทำงานถึงหกโมงเย็น
บทเรียนการใช้อำนาจ!เปิดคำพิพากษาคดีนิติกรแบงก์ออมสินฟ้อง ผอ.เขต-ใหญ่ ถูกแกล้งโยกย้ายไม่เป็นธรรม ปมถูกสั่งด้วยวาจาให้พนักงานทุกคนทำงานจนถึงหกโมงเย็น ไม่จ่ายค่าตอบแทน ขอไม่ปฏิบัติตามเหตุจำเป็นต้องดูแลแม่ ระบุชัดผิด กม.แรงงานฯ ก่อนฟ้องอาญาคดีทุจริตฯเอาผิดผู้บริหาร-เกี่ยวข้อง 13 ราย
คดีพิพาทระหว่างผู้บริหาร ธนาคารออมสิน กับ พนักงาน กรณี น.ส.นคินทร ปันทวังกูร นิติกร 7 ธนาคารออมสิน เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 4 กล่าวโทษ นางพัชลีพร วรวิบูลย์สวัสดิ์ ผู้อำนวยการธนาคารออมสินภาค 11 นายพิเชษ ธรรมวิภาค ผู้ช่วยผู้อำนวยการฯ นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการ ธนาคารออมสิน กับพวก 13 คน ร่วมกันเป็นจำเลยที่ 1-13 ข้อหาหรือฐานความผิด เป็นเจ้าพนักงานของรัฐร่วมกันปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ อันเนื่องมาจากโยกย้ายโจทก์ไม่เป็นธรรม ลดตำแหน่งและเป็นการผิดสภาพการจ้าง โดยมีชนวนเหตุมาจากสั่งการด้วยวาจาให้พนักงานของธนาคารทำงานหลังเลิกงานจนถึงเวลา 18.00 น. แต่โจทก์ไม่สามารถปฏิบัติตามคำสั่งได้ เนื่องจากต้องดูแลมารดาที่ป่วย สร้างความไม่พอใจให้แก่จำเลยที่ 1 และเป็นเหตุแห่งการโยกย้าย ออกจากตำแหน่งเดิมคือ นิติกร 7 สังกัดหน่วยธุรกิจ ธนาคารออมสิน ภาค 11 ไปอยู่ในตำแหน่ง นิติกร 7 สังกัด หน่วยบริหารคดี ธนาคารออมสินเขต ขอนแก่น 1 อันเป็นการ ลดตำแหน่งลงจากเดิม และลักษณะงานที่ด้อยลงกว่าตำแหน่งเดิม
กรณีดังกล่าวก่อนหน้านี้ น.ส.นคินทร ยื่นฟ้อง นางพัชลีพร วรวิบูลย์สวัสดิ์ ผู้อำนวยการธนาคารออมสินภาค ธนาคารออมสิน และ นายชาติชาย พยุหนาวีชัย เป็นจำเลยที่ 1- 3 ต่อศาลแรงงานภาค 4 และมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 19 ธ.ค.2559 ให้โจทก์ชนะคดี ยกเว้นประเด็นข้อเรียกร้องค่าเสียหาย 300,000 บาท ที่ศาลแรงงานภาค 4 ให้ยก เห็นว่าโจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่ามีความเสียหายจริง
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org เรียงสาระสำคัญที่ปรากฎในคำพิพากษาศาลแรงงาน มาเสนอ
คำฟ้องของโจทก์: ซัดย้ายเพราะไม่ทำตามคำสั่งด้วยวาจา ให้ทำงานถึงหกโมงเย็น
จำเลยที่ 1 เป็นพนักงานของจำเลยที่ 2 ตำแหน่งผู้อำนวยการธนาคารออมสินภาค 11 จำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติธนาคารออมสิน พ.ศ.2489 และจำเลยที่ 3 เป็นผู้อำนวยการของจำเลยที่ 2 มีหน้าที่บริหารกิจการให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และนโยบายที่จำเลยที่ 2 กำหนด โจทก์เป็นพนักงานของจำเลยที่ 2 ตำแหน่งนิติกร 7 สังกัดหน่วยธุรกิจ ธนาคารออมสินภาค 11 จำเลยที่ 1 ลุแก่อำนาจเสนอโยกย้ายโจทก์ไปดำรงตำแหน่งตำแหน่งนิติกร 7 สังกัดหน่วยบริหารคดี ธนาคารออมสินเขตขอนแก่น 1 แล้วจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 3 คำสั่งโยกย้ายโจทก์ตามเสนอ ซึ่งเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะลดตำแหน่งของโจทก์ลงจากเดิม โดยมีมูลเหตุจากจำเลยที่ 1 ไม่พอใจโจทก์เป็นการส่วนตัว เนื่องจากโจทก์ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1 ซึ่งสั่งด้วยวาจาให้พนักงานทุกคนในธนาคารออมสินภาค 11 ปฏิบัติงานถึงเวลา 18 นาฬิกา คำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งด้วยวาจา แต่มีผลให้พนักงานทุกคนต้องปฏิบัติตามโดยไม่มีใครกล้าโต้แย้ง แต่เนื่องจากโจทก์มีความจำเป็นต้องกลับไปดูแลมารดาซึ่งป่วยและอยู่บ้านคนเดียว โจทก์ขออนุญาตจำเลยที่ 1 แต่กลับสร้างความไม่พอใจให้แก่จำเลยที่ 1 จึงเป็นเหตุแห่งการโยกย้ายโจทก์เพื่อกลั่นแกล้งโจทก์
คำสั่งด้วยวาจาของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวขัดกับคำสั่งธนาคารออมสิน ที่ 104/2543 ซึ่งกำหนดเวลาทำงานตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันศุกร์ ตั้งแต่เวลา 08.30 นาฬิกา ถึง 16.30 นาฬิกา จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ทราบดีมาตลอดแต่กลับไม่ห้ามปราม ปล่อยให้จำเลยที่ 1 กระทำผิดต่อกฎหมาย กลับเห็นเป็นความดีความชอบเลื่อนตำแหน่งจำเลยที่ 1 ให้สูงขึ้นกว่าเดิม การกระทำของจำเลยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียง เกียรติยศ โจทก์ขอคิดค่าเสียหาย เป็นเงิน 300,000 บาท ก่อนฟ้องโจทก์ยื่นคำร้องทุกข์การโยกย้ายที่ไม่ชอบ และอุทธรณ์คำสั่งต่อธนาคารออมสินแล้วจำเลยเพิกเฉย
ขอให้บังคับและเพิกถอนคำสั่งที่โยกย้ายโจทก์ ให้จำเลยทั้งสามมีคำสั่งแต่งตั้งโจทก์ให้ดำรงตำแหน่งนิติกร 7 สังกัดหน่วยธุรกิจ ธนาคารออมสินภาค 11 หรือตำแหน่งสนับสนุนธุรกิจตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2558 เป็นต้นไป ตามเดิมหรือตำแหน่งที่สูงกว่าเดิม เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 1 ที่ให้พนักงานปฏิบัติงานจนถึงเวลา 18 นาฬิกา และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าเสียหาย 300,000 บาท แก่โจทก์
คำให้การของจำเลย: ขอความร่วมมือ ทำโดยชอบ ไม่ลุแก่อำนาจ ไม่เสียหาย
จำเลยทั้งสามให้การทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ 2 มีนโยบายให้นิติกรธนาคารออมสินภาคไปปฏิบัติงานที่ธนาคารออมสินเขต ตามความเหมาะสม และเป็นประโยชน์แก่จำเลยที่ 2 คำสั่งโยกย้ายโจทก์จากตำแหน่งนิติกร 7 สังกัดหน่วยธุรกิจ ธนาคารออมสินภาค 11 ไปดำรงตำแหน่งนิติกร 7 ธนาคารออมสินภาค 11 จำเลยที่ 1 ไม่ได้กระทำโดยลุแก่อำนาจหรือกลั่นแกล้งโจทก์ แต่จำเลยทั้งสามดำเนินการไปตามอำนาจหน้าที่ตามขั้นตอนของกฎหมายและระเบียบโดยชอบทุกประการ
โจทก์ไม่ได้รับความเสียหายเพราะตำแหน่งเดิมกับตำแหน่งใหม่ไม่ได้ลดตำแหน่งหรือเงินเดือน สถานที่ทำงานตำแหน่งใหม่ ไม่ได้ห่างอยู่ห่างจากเดิมไม่ได้ทำให้โจทก์ได้รับความเดือดร้อนในการดำรงชีวิตปกติ ไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์จึงไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์
จำเลยที่ 1 เคยพูดว่าจะให้พนักงานเลิกงานและกลับบ้านเวลา 18 นาฬิกา เป็นเพียงการหารือในที่ประชุม และหาแนวทางการกำหนดนโยบายเกี่ยวกับเวลาในการทำงาน เป็นการขอความร่วมมือ ไม่ใช่คำสั่ง ไม่เคยออกคำสั่งเกี่ยวกับเวลาทำงานและเวลาเลิกงาน
คำสั่งธนาคารออมสินที่ 104/2543 เรื่อง การกำหนดวันและเวลาทำงานของธนาคารออมสิน ลงวันที่ 21 พ.ย.2543 เป็นคำสั่งเปิดทำงานของธนาคาร ไม่ใช่คำสั่งกำหนดเวลาทำงานของพนักงานและคำสั่งดังกล่าวก็ไม่ใช่กฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
คำวินิจฉัยของศาล:
ศาลตั้งประเด็นวินิจฉัย 3 ประเด็น
1.มีเหตุเพิกถอนคำสั่งจำเลยที่ 1 ให้พนักงานปฏิงานจนถึง 18.00 น.หรือไม่
โจทก์มีพยานมาเบิกความว่าจำเลยที่ 1 มีคำสั่งด้วยวาจาให้พนักงานในภาค 11 กลับบ้านในเวลา 18 นาฬิกา คำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งด้วยวาจาแต่มีผลให้พนักงานทุกคนต้องปฏิบัติตาม โดยไม่มีผู้ใดกล้าโต้แย้ง
พยานคนที่ 1 ของโจทก์ให้การว่า จำเลยที่ 1 เรียกประชุมหน่วยงานในสังกัด โดยให้เข้าไปพและขอความร่วมมือให้เลิกงานเวลา 17.30 น.แต่ไม่มีการจ่ายค่าล่วงเวลาให้ เนื่องจากเป็นการขอความร่วมมือเท่านั้น
พยานคนที่ 2 เบิกความว่า จำเลยที่ 1 ได้เรียกประชุมหน่วยงานโดยเรียกทีละหน่วยเข้าไปพบเพื่อมอบนโยบายขอความร่วมมือให้ทำงานเกินเวลา 16.30 น.ของเวลาทำงานปกติ เนื่องจากสาขาของธนาคารออมสินภาค 11 เลิกงานคำอยู่แล้ว จะต้องทำเป็นแบบอย่าง หากผู้ใดมีธุระจำเป็นสามารถขออนุญาตหัวหน้าหน่วยออกไปจากที่ทำงานได้ แต่จำเลยที่ 2 ไม่ได้จ่ายค่าล่วงเวลาให้แก่พนักงานเพราะไม่ใช่เป็นการทำงานล่วงเวลา
การที่จำเลยที่ 1 ให้การรับว่า ได้เคยพูดว่าจะให้พนักงานเลิกงานและกลับบ้านเวลา 18.00 น.นั้นเป็นเพียงการหารือในที่ประชุมและหาแนวทางการกำหนดนโยบายเกี่ยวกับเวลาในการทำงาน ไม่ใช่คำสั่ง
เห็นว่า คำเบิกความของจำเลยที่ 1 สอดคล้องกับคำเบิกความของโจทก์และพยานโจทก์ ว่าจำเลยที่ 1 ได้ขอให้พนักงานทำงานหลังเวลา 16.30 น.จริง ประกอบกับ โจทก์ขอออกหมายเรียกบัญชีชื่อของพนักงานและลูกจ้าง ธนาคารออมสินภาค 11 ลงชื่อกลับหลังเวลา 16.30 น.
การที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าขอความร่วมมือหรือมีนโยบายให้พนักงานเกินเวลาโดยไม่มีการจ่ายค่าล่วงเวลา ย่อมขัดหรือแย้งกับคำสั่งของธนาคารออมสินจำเลยที่ 2 และไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 และประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้าง ในรัฐวิสาหกิจ ข้อ 13 ข้อ 14 ข้อ 19 ซึ่งต้องได้รับความยินยอมจากพนักงานคือโจทก์ก่อน ซึ่งโจทก์ก็เบิกความรับว่าโจทก์โต้แย้ง และไม่ปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวของจำเลยที่ 1 และปัจจุบัน จำเลยที่ 1 ก็ไม่ได้ทำงานในตำแหน่งผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ภาค 11 แล้ว คำสั่งของจำเลยที่ 1 จึงไม่มีสภาพบังคับต่อโจทก์ซึ่งไม่ปฏิบัติตาม ศาลไม่จำเป็นต้องมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งดังกล่าวของจำเลยที่ 1 ตามที่จำเลยกล่าวอ้างอีก
2.มีเหตุเพิกถอนคำสั่งโยกย้ายโจทก์ โดยให้จำเลยทั้งสามแต่งตั้งโจทก์ให้ดำรงตำแหน่งนิติกร 7 สังกัดหน่วยธุรกิจ ธนาคารออมสินภาค 11 หรือหน่วยสนับสนุนธุรกิจ ตามตำแหน่งเดิมหรือในตำแหน่งที่สูงขึ้นกว่าเดิมหรือไม่
ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าตำแหน่งของโจทก์ ไม่ใช่อัตรากลางภาคตามที่จำเลยที่ 1 กล่าวอ้าง และการเสนอย้ายโจทก์ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของจำเลยที่ 2 เป็นการลดตำแหน่งหน้าที่ของโจทก์ลงโดยไม่ได้รับการยินยอมหรือโจทก์ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งเดิมไม่บกพร่องหรือไม่ ปรากฏว่าหากโจทก์อยู่ในตำแหน่งเดิมจะทำความเสียหายแก่จำเลยที่ 2 แม้จำเลยที่ 1 จะเป็นผู้บังคับบัญชาในสายงานและเป็นคณะกรรมการสรรหาแต่งตั้งโยกย้ายพนักงานในระดับสายงานที่มีอำนาจหน้าที่เสนอให้โยกย้ายโจทก์ได้
แต่มูลเหตุแห่งการโยกย้ายข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าเกิดจากโจทก์โต้แย้งคำสั่งของจำเลยที่ 1 ที่ให้เลิกงาน โดยกำหนดเวลาที่ขัดต่อกฎหมายและระเบียบข้อบังคับ คำสั่งของจำเลยที่ 2 โดยไม่มีการจ่ายค่าล่วงเวลา แม้จำเลยที่ 3 ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ในฐานะผู้จัดการธนาคารออมสินมีอำนาจหน้าที่ดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายและข้อบังคับของธนาคารออมสิน และมีอำนาจบรรจุ แต่งตั้ง ลงโทษ ทางวินัย หรือถอดถอนพนักงานออกจากตำแหน่ง ตามพระราชบัญญัติธนาคารออมสิน พ.ศ. 2489 ก็ตาม แต่สถานะของจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 1 ก็มีสถานะเป็นพนักงานของจำเลยที่ 2 ย่อมมีอำนาจและหน้าที่ตามกฎหมายและระเบียบธนาคารออมสิน ฉบับที่ 429 หมวด 5 ข้อ 30 ให้ไว้เท่านั้น และโจทก์เป็นพนักงานของจำเลยที่ 2 ย่อมได้รับการคุ้มครองในการทำงานและการโยกย้ายอย่างเป็นธรรมเช่นเดียวกัน
การที่จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้อำนวยการ ของจำเลยที่ 2 ออกคำสั่งธนาคารออมสิน ที่ บค.2(2)-24/2558 เรื่อง ย้ายพนักงาน ให้โจทก์ตำแหน่งนิติกร 7 หน่วยบริหารคดี ธนาคารออมสินภาค 11 สายงานกิจการสาขา 4 ไปดำรงตำแหน่งนิติกร 7 หน่วยบริหารคดี ธนาคารออมสิน ขอนแก่น 1 ธนาคารออมสินภาค 11 สายงานกิจการสาขา 4 ที่คณะกรรมการสรรหาพิจารณาอนุมัติ โดยมีจำเลยที่ 1 เสนอชื่อให้โจทก์ย้ายโดยมิชอบ ย่อมขัดต่อกฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับของจำเลยที่ 2 อันเป็นการไม่ชอบ จึงมีเหตุเพิกถอนคำสั่งย้ายโจทก์ โดยให้จำเลยที่ 2 ละจำเลยที่ 3 แต่งตั้งโจทก์ให้ดำรงตำแหน่งนิติกร 7 สังกัดหน่วยธุรกิจ ธนาคารออมสินภาค 11 หรือตำแหน่งนิติกรภาค 11 หน่วยสนับสนุนธุรกิจ หรือหน่วยธุรกิจ ธนาคารออมสินภาค 11 ตามเดิมหรือในตำแหน่งที่สูงขึ้นกว่าเดิม
3. มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามประเด็นข้อพิพาท ข้อที่ 3 ว่าจำเลยทั้งสามทำละเมิดต่อโจทก์เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จะต้องชดใช้ค่าเสียหาย แก่โจทก์ตามฟ้องหรือไม่ เพียงใด
ในประเด็นข้อนี้โจทก์มีโจทก์เบิกความว่าในการโยกย้ายโจทก์ดังกล่าวโจทก์ได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียง เกียรติยศ ขาดขวัญและกำลังใจในการทำงาน ทำให้พนักงานคนอื่นมองว่าโจทก์มีความผิด โจทก์เกิดความเครียดมีอาการป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูงปรากฏตามใบรับรองแพทย์ โดยโจทก์ขอคิดค่าเสียหายในการโยกย้ายไม่เป็นธรรมเป็นตัวเงินจำนวน 300,000 บาท นั้น
เห็นว่าการที่จำเลยที่ 1 เสนอให้มีการโยกย้ายต่อคณะกรรมการสรรหาอนุมัติและจำเลยที่ 3 ในฐานะผู้อำนวยการจำเลยที่ 2 มีคำสั่งให้โยกย้ายโจทก์โดยไม่ชอบ ข้อเท็จจริงได้ความจากคำเบิกความของจำเลยที่ 1 และนายสุริยะ กาฬบุตร ว่า เดิมโจทก์ปฏิบัติงานที่ธนาคารออมสินภาค 11 ซึ่งตั้งอยู่ที่ถนนหน้าเมือง ตำบลในเมือง อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น ไปปฏิบัติงานที่ธนาคารออมสินเขต ขอนแก่น 1 ซึ่งอยู่ที่เดียวกับธนาคารออมสินภาค 11 เพียงแต่อยู่คนละชั้นกันการย้ายสถานที่ปฏิบัติงานไม่ได้เป็นการเพิ่มภาระในการเดินทางปฏิบัติงานแก่โจทก์ และโจทก์ยังได้รับอัตราเงินเดือนและค่าตอบแทน ในการทำงานเท่าเดิม ไม่ปรากฏว่าโจทก์นำสืบถึงความเสียหายที่โจทก์เรียกร้องมาจำนวน 300,000 บาท นั้นเป็นความเสียหายจากการโยกย้ายที่ไม่ชอบอย่างไร และความเสียหายด้านจิตใจอันไม่ใช่ตัวเงินที่ทำให้โจทก์เจ็บป่วย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 446 นั้น ต้องเป็นความเสียหายที่จำเลยทั้งสามอาจคาดหมายได้ ซึ่งขณะที่จำเลยที่ 1 เสนอชื่อโจทก์ให้โยกย้ายต่อคณะกรรมการสรรหาจนกระทั่ง จำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 3 มีคำสั่งโยกย้ายโจทก์นั้น ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสามอาจคาดหมายได้ว่าโจทก์จะเจ็บป่วยและได้รับความเสียหายตามที่โจทก์กล่าวอ้าง ข้อเท็จจริงจึงรับฟังไม่ได้ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายในส่วนนี้อีก
พิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งโยกย้ายโจทก์ ให้จำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 3 ในฐานะผู้อำนวยการธนาคารออมสิน แต่งตั้งโจทก์ให้ดำรงตำแหน่งนิติกร 7 สังกัดหน่วยธุรกิจ ธนาคารออมสินภาค 11 หรือตำแหน่งนิติกร 7 สังกัดหน่วยสนับสนุนธุรกิจ ธนาคารออมสินภาค 11 ตามเดิมหรือตำแหน่งที่สูงกว่าเดิม ตั้งแต่วันที่ 16 กรกฎาคม 2558 เป็นต้นไป คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก./
คดีนี้โจทก์และจำเลยทั้งสาม อุทธรณ์ คัดคัดคำพิพากษา เมื่อวันที่ 10 ต.ค.2560 ศาลอุทธรณ์ คดีชำนัญพิเศษ พิพากษายืน
กรณีนี้จึงเป็นบทเรียนของผู้บริหารในการใช้อำนาจโดยมิชอบ
ปัจจุบัน ธนาคารออมสิน ไม่ดำเนินการย้าย น.ส.นคินทร กลับตำแหน่งเดิม และ เมื่อวันที่ 13 มิ.ย.2560 ธนาคารออมสิน ได้มีคำสั่งย้าย น.ส.นคินทร ไปดำรงตำแหน่งพนักงานสนับสนุนธุรกิจ 7 หน่วยธุรกิจ ธนาคารออมสินภาค 11 สายงานกิจการ สาขา 4 ขึ้นตรงต่อผู้อำนวยการธนาคารออมสิน โดยอ้างว่าเพื่อความเหมาะสม
สำหรับคดีที่ น.ส.นคินทร ยื่นฟ้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 4 กล่าวโทษผู้บริหารธนาคารและผู้เกี่ยวข้อง 13 คนนั้น ศาลฯนัดไต่สวนมูลฟ้องวันที่ 26 เม.ย.นี้
รอดูผลกันต่อไป
อ่านประกอบ:
บิ๊ก ธ.ออมสินแพ้อีกคดี!ปมให้ทำงานจนถึงหกโมงเย็น-ยื่นฟ้องศาลอาญาทุจริตฯ 13 คน
บิ๊ก ธ.ออมสินแพ้คดีย้าย รอง ผอ. 2 ครั้งใน 15 วัน ปมรายงานหนี้ลูกค้า ศาลสั่งชดใช้ 3 แสน