ม.เกษตรฯ ค้านปลุกผี ‘ทางด่วนขั้นที่ 3’ สายเหนือ ก่อมลภาวะ-หนุนสร้าง ‘รถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล’ แทน
มก.ค้านรัฐสร้างทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ก่อมลภาวะ ชุมชน-สิ่งแวดล้อม หนุนสร้าง ‘รถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล’ แทน ด้านรักษาการอธิการบดี ขอให้รัฐบาลคิดใหม่ เลือกพัฒนา กทม.ทิศเหนือ เป็นพื้นที่สีเขียว ส่งเสริมขนส่งทางราง
วันที่ 21 ก.พ. 2561 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) แถลงข่าวคัดค้านโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ณ ห้องประชุมกำพล อดุลวิทย์ อาคารสารนิเทศ 50 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน
ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ รักษาการแทนอธิการบดี มก. เปิดเผยว่า มก.ยังสนับสนุนนโยบายโครงการพัฒนาทางเศรษฐกิจของรัฐบาล หากโครงการเหล่านั้นเป็นประโยชน์ต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างแท้จริง โดยไม่มีข้อกังขา และยืนหยัดที่จะสนับสนุนต่อไป แม้จะมีความเห็นเชิงวิชาการแตกต่างไปบ้าง แต่ทั้งหมดเกิดขึ้นจากความหวังดี เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ ทางด่วนอาจมีความจำเป็นในอดีต แต่ปัจจุบันเห็นว่า เมื่อประเทศไทยประกาศนโยบายไทยแลนด์ 4.0 เป็นไปได้หรือไม่ที่จะสร้างแนวทางรูปแบบใหม่ โดยสร้างแรงจูงใจให้คนลดการใช้รถ และหันมาใช้บริการขนส่งสาธารณะ ด้วยรถไฟฟ้าแทน
รักษาการแทนอธิการบดี มก. กล่าวยืนยันว่า มก.และประชาชนที่มีส่วนได้ส่วนเสีย สนับสนุนให้มีรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล และไม่สนับสนุนระบบทางด่วน ไม่ว่าทางด่วนเส้นไหนที่ตัดผ่านเข้ามาในเมืองอีกแล้ว เพราะหมดยุคทางด่วนแล้ว แต่ควรสนับสนุนทางด่วนนอกเมือง และการพัฒนาวงแหวนรอบนอก เพื่อกระจายการจราจรและความเจริญสู่พื้นที่อื่น ๆ
นอกจากนี้ยังควรส่งเสริมกรุงเทพฯ ฝั่งทิศเหนือ พัฒนาเป็นพื้นที่สีเขียวที่มีความร่มรื่นและร่มเย็น ส่วนการขนส่งสินค้า ควรเปลี่ยนเป็นระบบรางแทนรถยนต์ เพื่อให้ประเทศไทยน่าอยู่มากขึ้น และปราศจากมลภาวะ ดังนั้น มก.ขอให้รัฐบาลคิดใหม่ เพื่อประชาชนจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ดร.ดำรงค์ ศรีพระราม รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายบริหารกิจการภายใน กล่าวถึงการเข้าร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 เรื่อง การศึกษาความเหมาะสมโครงการรถไฟฟ้าสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี (บึงกุ่ม) เมื่อวันที่ 19 ก.พ. 2561 บริษัทที่ปรึกษา ได้นำเสนอรูปแบบทางเลือกในการพัฒนาโครงการ 4 รูปแบบ คือ
รูปแบบที่ 1 การพัฒนาระบบขนส่งมวลชน (รถไฟฟ้าสีน้ำตาล)
รูปแบบที่ 2 การพัฒนาด้วยโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 และ E-W Corridor (โครงการเชื่อมต่อจากตอน N2 กับทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9)
รูปแบบที่ 3 การพัฒนาด้วยโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 และส่วนต่อขยายกับแนวโครงข่ายทดแทน N1 แนวคลองบางบัวและคลองบางเขน
รูปแบบที่ 4 การพัฒนาทั้งสองระบบ คือ ระบบขนส่งมวลชน (รถไฟฟ้าสีน้ำตาล และทางด่วนบนแนวสายทางเดียวกัน)
รักษาการแทนรองอธิการบดีฯ กล่าวว่า ขณะนี้มีการนำเสนอข้อมูลออกไปว่า มีการตัดสินใจเลือกใช้รูปแบบที่ 4 การพัฒนาทั้งสองระบบ ทั้งที่ความจริง มก.และชุมชนโดยรอบ ไม่เห็นด้วย โดยสนับสนุนให้เลือกรูปแบบที่ 1 รถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล แทน
“รถยนต์ในกรุงเทพฯ จับมาเรียงกัน ต้องใช้พื้นที่ถนนสองรอบกรุงเทพฯ เพราะฉะนั้นการทำถนนและทางด่วน เพื่อรองรับจำนวนรถที่เพิ่มมากขึ้น ยืนยันไม่เพียงพอ ดังนั้นขอให้หยุดสร้าง แต่หันมาเปลี่ยนคนในกรุงเทพฯ ให้มีทัศนคติใหม่ เลิกใช้รถ และหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะแทน เช่นเดียวกับหลายประเทศ เช่น กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น” ดร.ดำรงค์ กล่าว .