เปิด 2 มุมมอง ต่อคดี "พ่ออุ้มบุญชาวญี่ปุ่น"
แม้ตามกฎหมายบิดาอุ้มบุญจะเป็นผู้ปกครองเด็ก แต่การส่งมอบเด็ก เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจคุ้มครองเด็ก ก็ยังไม่ต้องส่งไป แต่ให้บิดาชาวญี่ปุ่นมาพิสูจน์ให้เห็นว่า ได้ปฏิบัติเลี้ยงดู เหมือนคนในครอบครัว เหมือนเด็กปกติ ตามมาตรา 23 ตามพ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก 2546 หากทำไม่ได้ เราต้องส่งให้รัฐบาลญี่ปุ่น
ภายหลังจากที่ ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง มีคำสั่งคดีอุ้มบุญบิดาชาวญี่ปุ่นให้เป็นปกครองผู้เยาว์ทั้งสิบสามคนแต่เพียงฝ่ายเดียว (อ่านประกอบ:คดีพ่ออุ้มบุญชาวญี่ปุ่น ศาลเยาวชนฯ ชี้ผู้เยาว์ทั้ง 13 คนเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย ) นั้น
นายวันชัย รุจนวงศ์ ผู้แทนไทยในคณะกรรมาธิการอาเซียนว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิสตรีและสิทธิเด็ก อดีตอธิบดีอัยการฝ่ายต่างประเทศ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญเรื่องการค้ามนุษย์ ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ถึงประเด็นดังกล่าว ว่า กรณีพ่ออุ้มบุญชาวญี่ปุ่นเกิดก่อนที่ประเทศไทยจะมีพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยี ช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. 2558 ฉะนั้นไม่มีกฎหมายบังคับ ต้องไปว่ากันในเรื่องของกฎหมายครอบครัว ซึ่งจากข้อมูลพ่อชาวญี่ปุ่นคนนี้มาจ้างหญิงไทยอุ้มบุญถึง 13 คน แล้วยังมีที่กัมพูชา และอีกหลายประเทศ ประเด็นคือว่า ลักษณะแบบนี้ผิดปกติ ไม่ได้คือคนที่อยากมีบุตร
"ส่วนเจตนาจะเอาเด็กไปทำอะไร น่าสงสัยและเป็นไปได้อย่างมากว่าจะใช้เด็กไปเพื่อเป็นอะไหล่มนุษย์ในอนาคต เพราะการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะจากคนที่มี DNA ครึ่งหนึ่งเป็นของตัวเองจะง่ายกว่า และหลายคนอาจมีกรุ๊ปเลือดเดียวกัน หรือเอาเซลไปสร้างสเต็มเซล เพื่อประโยชน์ของคนญี่ปุ่นคนนี้ แต่อย่างไรก็ตาม กรณีนี้อาจเป็นการค้าเด็ก เหมือนการพาผู้หญิงไปค้ามนุษย์ด้วยการค้าประเวณี หากอยู่ระหว่างการเดินทาง ยังไม่ถูกบังคับให้ค้าประเวณีก็เอาผิดได้ยาก กรณีเด็กก็เช่นเดียวกัน หากเหตุยังไม่เกิด ก็พิสูจน์เจตนาได้ยาก แต่รายพ่ออุ้มบุญชาวญี่ปุ่นนั้น พบว่า พฤติกรรมขัดกับธรรมชาติของมนุษย์ มีเหตุสงสัยตามสมควรว่าจะเอาไปทำอะไหล่มนุษย์"
นายวันชัย กล่าวอีกว่า คนปกติหากอยากได้ทายาท ก็จะมีกันแค่ 1-2 คน กรณีพ่ออุ้มบุญชาวญี่ปุ่น จึงไม่ปกติ และแม้คดีนี้จะเกิดก่อนประเทศไทยมีกฎหมายอุ้มบุญ แต่เราก็ควรมีข้อสังสัย และห่วงใยเด็กที่เกิดมาจากกรณีอุ้มบุญ เพราะอนาคตเด็กทั้ง 13 คนจะกลายเป็นมนุษย์อะไร สิ่งนี้เราต้องพิจารณาด้วย
"หลังจากคดีพ่ออุ้มบุญชาวญี่ปุ่น อนาคตหากเกิดเรื่องแบบนี้อีกจะมีกฎหมายอุ้มบุญควบคุมแล้ว ถือเป็นเรื่องผิดกฎหมายหมด ต้องขออนุญาต มีใบอนุญาต มีคณะกรรมการควบคุม" ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการค้ามนุษย์ กล่าว และว่า การพิจารณาแต่เรื่องฐานะทางการเงิน เป็นบุตรผู้ก่อตั้งและประธานบริหารบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ที่มีชื่อเสียงของประเทศญี่ปุ่น เป็นเจ้าของและผู้ถือหุ้นในหลายบริษัท ได้รับเงินปันผลจากบริษัทเดียวปีละกว่าร้อยล้านบาท มีอาชีพการงานมั่นคง มีรายได้มากเพียงพอที่จะเลี้ยงดูบุตรทุกคนได้นั้น อยากเปรียบเทียบกับกรณีคู่รักชาวเกย์ชนะคดีความ ได้สิทธิ์ขาดในการเลี้ยงดูลูกสาวที่เกิดจากการอุ้มบุญโดยหญิงไทย เราเข้าใจได้อยากมีบุตรแค่คนเดียว แต่อุ้มบุญถึง 13 คน นี่ถือว่า ผิดปกติมาก ไม่เคยมีมาก่อน และเสี่ยงมากว่า มีเจตนาไม่บริสุทธิ์
นายวันชัย กล่าวด้วยว่า ทั่วโลกจับตามองคดีนี้ ประเทศไทยจะไปตอบคณะกรรมการสิทธิเด็กของสหประชาชาติอย่างไร เราพิจารณาจากฐานะผู้ปกครองเท่านั้นหรือ อุ้มบุญถึง 13 คนเป็นข้อสงสัยที่มีน้ำหนักมาก
"ผมไม่มีข้อมูลคดีนี้ใครฟ้องใคร ฉะนั้นใครเป็นคู่คดี ฟ้องใคร หรือยื่นคำขอฝ่ายเดียว ฟ้องแม่เด็กหรือไม่ ซึ่งคู่คดีจะมีการอุทธรณ์เพื่อชะตากรรมของเด็กทั้ง 13 คน หรือไม่ ถ้าไม่มีอุทธรณ์ก็จบ ถ้าเราส่งไป ประเทศจะถูกทั้งโลกโจมตี ว่าเราไม่คุ้มครองเด็ก ความเสียหายจะมากมายมหาศาล ที่คิดเป็นตัวเงินไม่ได้เลย"
ชี้ช่องรัฐไทยส่ง 13 เด็กอุ้มบุญให้ Child Guidance Center ของญี่ปุ่น
ด้านนายสรรพสิทธิ์ คุมประพันธ์ อดีตกรรมการสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) เกี่ยวกับคดีอุ้มบุญบิดาชาวญี่ปุ่น คดีนี้คงไม่สามารถยื่นอุทธรณ์ได้เพราะเป็นการยื่นคำร้องฝ่ายเดียว อย่างไรก็ตามพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก 2546 อาจยื่นคำร้องขอคำสั่งศาลเยาวชนและครอบครัวกลางเพื่อขอคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กตามหลักประโยชน์สูงสุดสำหรับเด็กได้ ด้วยเหตุผลในประเด็นต่างๆดังนี้
1.การกระทำของชายญี่ปุ่นแม้จะกระทำก่อนพ.ร.บ.คุ้มครองฯออกใช้บังคับ แต่ก็ถือเป็นความผิดตามประกาศของแพทยสภา ที่มีเนื้อหาเหมือน พ.ร.บ.เพียงแต่ไม่มีโทษทางอาญา ตามประกาศฯ ให้แพทย์ทำให้เฉพาะแต่คู่สมรส กรณีนี้ไม่มีคู่สมรส และต้องไม่จ้างหญิงตั้งครรภ์แทนหรือไม่ให้ทำการค้า
2. ขัดต่อ CRC Optional Protocol on Sale of Children, Child Prostitution and Child Pornography เพราะจ้างผู้หญิงมาอุ้มบุญโดยมีเงื่อนไขว่า ต้องยกเด็กในครรภ์ให้เมื่อคลอด เข้าข่ายSale of Children แม้ไทยจะยังไม่มีบทบัญญัติเพื่อมาลงโทษแต่เราเป็นรัฐภาคีอนุสัญญาเรื่องสิทธิเด็ก ฉะนั้นเราไม่สามารถให้การรับรองการกระทำที่ผิดกฎหมายได้
"โดยเฉพาะชายญี่ปุ่นรับเด็กจากหญิงที่คลอดโดยจ่ายค่าตอบแทนการตั้งครรภ์ ผมมองว่า การเป็นบิดานั้นใช่ แต่การยกให้เด็กไปอยู่ในความปกครองยังทำไม่ได้ เพราะขัดกฎหมายระดับชาติและกฎหมายระหว่างประเทศที่กล่าวมา"
3. การกระทำนี้ไม่ได้มีเจตนาจะอุปการะเลี้ยงดูในฐานะบุตร เพราะทำให้เด็กเกิดในไทย 13 คน ขณะที่ทำให้เด็กเกิดในกัมพูชาและเวียดนามอีกสิบกว่าคน รวมเป็นเด็กจำนวนเกือบ 30 คน พฤติกรรมคล้ายฟาร์มเพาะพันธุ์เด็ก อีกทั้งไม่ได้นำไปเลี้ยงดูในครอบครัวที่ญี่ปุ่น แต่จ้างคนมาเลี้ยงดูในประเทศอื่น จึงไม่เป็นไปตามอนุสัญญาฯที่เด็กมีสิทธิที่จะได้รับการเลี้ยงดูโดยบิดามารดาโดยอยู่ในบรรยากาศของครอบครัวที่มีความรักความเข้าใจและความผาสุก ไม่ใช่โรงเลี้ยงเด็ก
4.ดังนั้นการกระทำนี้จึงเข้าเงื่อนไขของ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก 2546 ตามมาตรา 28 เข้าข่ายต้องคุ้มครองสวัสดิภาพ ไม่อาจคืนเด็กให้ชาวญี่ปุ่นคนนี้ จนกว่าจะสามารถพิสูจน์ได้ว่า สามารถอุปการะเลี้ยงดูเด็กทั้ง 13 คนได้เหมือนครอบครัวปกติ เหมือนเด็กปกติ ไม่ใช่จ้างคนอื่นมาดูแลเด็กเหล่านี้ และเขาต้องแนะแนวทางชีวิตเด็กทั้งหมดได้ การปฏิบัติหน้าที่ของพ่อแม่
"เป็นไปได้ยากที่คนๆ เดียวจะทำหน้าที่พ่อแม่ให้แก่เด็กร่วม30คน ทั้งนี้ต้องกำหนดเงื่อนเวลาให้พิสูจน์ตนเอง หากเกินกำหนด รัฐบาลไทยต้องส่งเด็กให้แก่ Child Guidance Center ของญี่ปุ่น เพื่อรับตัวเด็กไปหาครอบครัวทดแทนให้ต่อไป เพราะเด็กทั้ง 13 คนได้สัญชาติญี่ปุ่นตามบิดา โดยไม่ปรากฏว่ามารดาที่แท้จริงเป็นใคร รัฐบาลญี่ปุ่นมีหน่วยงานคุ้มครองเด็ก จะพิจารณาการคืนเด็กให้บุคคลๆนี้ อาจไม่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดให้กับเด็กเลย เพราะมีจำนวนมาก อาจหาครอบครัวบุญธรรม ตามกระบวนการต้องเป็นแบบนี้"
นายสรรพสิทธิ์ กล่าวด้วยว่า แม้ตามกฎหมายบิดาอุ้มบุญจะเป็นผู้ปกครองเด็ก แต่การส่งมอบเด็กมีอำนาจเมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจคุ้มครองเด็ก ก็ยังไม่ต้องส่งไป ให้บิดาชาวญี่ปุ่นมาพิสูจน์ให้เห็นว่าได้ปฏิบัติตามมาตรา 23 ตามพ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก 2546 หากทำไม่ได้ เราต้องส่งให้รัฐบาลญี่ปุ่น
"เด็กอุ้มบุญทั้ง 13 คน มีสัญชาติญี่ปุ่น เพราะเราไม่รู้ว่า แม่ที่แท้จริง เจ้าของไข่เป็นคนไทยหรือไม่ คนอุ้มบุญอาจไม่ใช่เจ้าของไข่ก็ได้ เมื่อขณะนี้ไม่มีคนแสดงตัวเป็นแม่เลย เลยตกอยู่ฝ่ายพ่อฝ่ายเดียว สืบสายเลือดตามบิดา"
และเมื่อถามว่า กรณีอุ้มบุญแบบนี้จะลดน้อยลงในประเทศไทยใช่หรือไม่ อดีตกรรมการสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ กล่าวว่า เมื่อประเทศไทยมีกฎหมายอุ้มบุญแล้ว กรณีแบบนี้จะไปเกิดในประเทศเพื่อนบ้านแทน เพราะยังไม่มีกฎหมายแบบไทย หรืออาจยังมีการลักลอบทำ ฉะนั้นอนาคตต้องปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก ใหม่ ให้มีหมวดว่า ด้วยเด็กกรณีแบบนี้ ให้คุ้มครองดูแลตั้งแต่แรกเลย
ที่มาภาพ:https://www.nationalreview.com