นักวิจัย เสนอยกเลิกลดหย่อนภาษี LTF รัฐประหยัดได้เกือบ 9,000 ล้านบาท
ดร.ดวงมณี เผยงานวิจัยการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของไทย พบยังไม่ครอบคลุมฐานภาษีทั้งหมด ขณะที่มาตรการลดหย่อนจากกองทุน LTF เอื้อเฉพาะคนรายได้สูง ไม่เป็นธรรม เสนอให้ตัดมาตรการนี้ ช่วยรัฐประหยัดรายจ่ายได้ 9,000 ล้าน โดยคงไว้ในกองทุน RMF เหตุเพราะเป็นการออมเพื่ออนาคต
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า ในงานเสวนาการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของประเทศไทย:เป็นธรรมหรือไม่ ที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 20 ก.พ.61 ที่ผ่านมา ผศ.ดร.ดวงมณี เลาวกุล อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มธ. ในฐานะหนึ่งในผู้ร่วมวิจัยเรื่องดังกล่าว ได้ระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยยังจัดเก็บภาษีได้ไม่ครอบคลุมฐานภาษีทั้งหมด พบว่า จำนวนผู้ที่อยู่ในระบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามีประมาณหนึ่งในสี่ของจำนวนผู้มีงานทำทั้งหมด โดยมีมูลค่าของเงินได้พึงประเมินที่รายงานในระบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามีเพียงครึ่งหนึ่งของรายได้ปฐมภูมิของครัวเรือนทั้งหมด จึงควรมีการขยายฐานภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้กว้างและครอบคลุมมากขึ้น
ผศ.ดร.ดวงมณี กล่าวถึงรายได้ของผู้ยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามีความแตกต่างกันมาก โดยเฉพาะกลุ่มที่อยู่ในขั้นเงินได้สูงสุด (20 ล้านบาท ขึ้นไป) กับขั้นเงินได้ต่าสุด (0 - 5 แสนบาท) มีรายได้เฉลี่ยต่อแบบแตกต่างกันมากกว่า 100 เท่า โดยที่ผู้ยื่นแบบฯ จำนวนร้อยละ 5 ที่รวยที่สุด มีสัดส่วนของรายได้ถึงร้อยละ 32 ของรายได้ทั้งหมด อีกร้อยละ 95 มีสัดส่วนของรายได้เพียงร้อยละ 68 ของรายได้ทั้งหมด
ขณะเดียวกันงานวิจัยชิ้นนี้ ผศ.ดร.ดวงมณี ยังชี้ว่า มาตรการลดหย่อนภาษีของไทยในภาพรวมเอื้อประโยชน์แก่ผู้ที่มีรายได้น้อย ทำให้ฐานภาษีของผู้ที่มีรายได้น้อยลดลงมากกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่มีรายได้สูง ส่วนการกำหนดอัตราภาษีในลักษณะอัตราก้าวหน้า ทำให้ภาระภาษีตกอยู่กับผู้ที่มีรายได้สูง พบว่าผู้ยื่นแบบจำนวนร้อยละ 5 ที่รวยที่สุด จ่ายภาษีเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 75 ของมูลค่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาทั้งหมดที่จัดเก็บได้ซึ่งเป็นไปตามหลักความสามารถในการจ่าย
ในส่วนมาตรการลดหย่อนภาษีเพื่อการลงทุน (LTF) นั้น ผศ.ดร.ดวงมณี กล่าวว่า เป็นการมุ่งเน้นเป้าหมายในการส่งเสริมตลาดทุนมากกว่าการสร้างความเป็นธรรม ดังนั้นกลุ่มคนที่มีรายได้สูงจึงได้รับประโยชน์จากมาตรการนี้มากกว่ากลุ่มคนที่มีรายได้น้อย ข้อเสนอในระยะสั้นคือยกเลิกการลดหย่อนภาษีสำหรับการซื้อ LTF นอกจากจะทำให้ระบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามีความเป็นธรรมมากขึ้นแล้ว ยังไม่ส่งผลกระทบต่อตลาดทุนอย่างมีนัยสาคัญอีกด้วย
“หากมีการยกเลิกการลดหย่อนภาษีเพื่อการลงทุน (LTF) จะทำให้รัฐบาลประหยัดรายจ่ายภาษีอันเกิดจากมาตรการลดหย่อนLTF ได้เกือบ 9,000 ล้านบาท ซึ่งรัฐบาลสามารถนำรายได้จำนวนนี้ไปจัดบริการสาธารณะที่เป็นประโยชน์ต่อคนที่ด้อยโอกาส และ ยากจนได้อีกเป็นจำนวนมาก” ผศ.ดร.ดวงมณี กล่าว และว่า การลดหย่อนภาษีการซื้อกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) แม้ว่ากลุ่มที่ประโยชน์จะเป็นกลุ่มรายได้สูงมากกว่ากลุ่มรายได้น้อย แต่นับได้ว่าเป็นการออมในระยะยาว เพื่อการสร้างโครงข่ายความคุ้มครองทางสังคมในอนาคต ประกอบกับหากยกเลิกการลดหย่อนตามมาตรการน้ี รัฐบาลประหยัดรายจ่ายภาษีได้ไม่มากนัก (ประมาณ 4,000 ล้านบาท) ดังนั้นรัฐบาลยังสามารถคงมาตรการลดหย่อนน้ีไว้ได้
ขณะที่มูลค่าเงินบริจาคเพื่อสนับสนุนการศึกษาและการบริจาคทั่วไปนั้น ผศ.ดร.ดวงมณี ระบุว่า มีมากกว่ารายจ่ายภาษีที่รัฐสูญเสียไปจากการลดหย่อนการบริจาค ดังนั้นการให้หักลดหย่อนการบริจาคยังคงเป็นประโยชน์ต่อสังคม ในแง่ที่เงินบริจาคเหล่าน้ีถูกส่งไปยังหน่วยที่ต้องการงบประมาณได้โดยตรง อย่างไรก็ดีควรมีมาตรการตรวจสอบว่า การบริจาคดังกล่าวได้เกิดขึ้นจริง เพื่อมิให้เกิดการทุจริตขึ้น เพราะจะทำให้ไม่เกิดประโยชน์ที่แท้จริงกับสังคม
ทั้งนี้ งานวิจัยดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพฤติกรรมการหักค่าใช้จ่าย หารหักค่าลดหย่อน/บริจาค และภาระภาษีของผู้ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 และ 91 ที่มีระดับรายได้ที่แตกต่างกัน รวมทั้งประมาณการรายจ่ายผ่านมาตรการภาษี(Tax Expenditure) และประเมินผลกระทบต่อผู้เสียภาษี ในกรณีที่มีการยกเลิกมาตรการดังกล่าว
นอกจากนั้นยังศึกษาถึงผลการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่มีต่อการกระจายรายได้ การศึกษาส่วนแรกได้จำแนกผู้ยื่นแบบฯตามขั้นเงินได้พึงประเมิน จำนวน 6 ขั้น เพื่อวิเคราะห์ภาพรวมของการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปี พ.ศ.2549-2555 การศึกษาในส่วนที่2 เป็นการวิเคราะห์ข้อมูลผู้ยื่นแบบจากข้อมูลตัวอย่างร้อยละ 0.3 โดยจำแนกผู้ยื่นแบบฯตามขั้นตอนเงินได้สุทธิจำนวน 5 ขั้น และมีการจำแนกเป็น 10 กลุ่ม(decile) เพื่อให้เห็นภาพของการกระจายรายได้และพฤติกรรมของผู้ยื่นแบบฯที่มีระดับรายได้ที่แตกต่างกัน และใช้เส้น Lorenz ในการวิเคราะห์การกระจายรายได้ก่อนและหลังการเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา