ธปท.ยัน ‘แบงก์กิ้ง เอเยนต์’ ไม่ใช่ ‘ธ.พาณิชย์’ มี 4 ราย รวม ‘เคาน์เตอร์เซอร์วิส’ เซเว่นฯ
ธปท.ยัน ‘แบงก์กิ้ง เอเยนต์’ ไม่ใช่ ‘ธนาคารพาณิชย์’ ใหม่ ปัจจุบันมี 4 ราย ‘บุญเติม-เติมสบาย-เคาน์เตอร์เซอร์วิส-แอร์เพย์’ รับฝาก ชำระเงิน ยังไม่บริการถอน เร่งปรับปรุงหลักเกณฑ์ใหม่ คาดประกาศราชกิจจาฯ มี.ค. 61
วันที่ 19 ก.พ. 2561 ที่ห้องแถลงข่าว อาคาร 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นายสมบูรณ์ จิตเป็นธม ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน และน.ส.เมทินี ศุภสวัสดิ์กุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการกำกับสถาบันการเงิน สายนโยบายสถาบันการเงิน แถลงข่าวกรณีความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับการแต่งตั้งตัวแทนของธนาคารพาณิชย์ (Banking agent)
นายสมบูรณ์ กล่าวว่า ธปท.ได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์เรื่องช่องทางให้บริการของธนาคารพาณิชย์ให้มีความยืดหยุ่นและเท่าทันการเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนได้รับบริการถูกลง ตรงตามความต้องการ และมีทางเลือกที่หลากหลาย ในขณะที่ธนาคารพาณิชย์สามารถให้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับกลยุทธ์
โดยสาระสำคัญของหลักเกณฑ์ฉบับใหม่ คือ การให้ความยืดหยุ่นและคล่องตัวแก่ธนาคารพาณิชย์ในการปรับเปลี่ยนรูปแบบและช่องทางให้บริการ แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ 1.สาขาของธนาคารพาณิชย์ จะมีรูปแบบยืดหยุ่นขึ้น ทั้งเรื่องธุรกรรม วัน เวลา ทำการ และให้บริการผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือโมบาย แบงค์กิ้ง
2.การแต่งตั้งตัวแทนของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งเป็นเรื่องที่อนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์แต่งตั้งได้อยู่แล้ว โดยสามารถแต่งตั้งตัวแทน ไม่ว่าจะเป็น ธนาคารพาณิชย์อื่น สถาบันการเงินเฉพาะกิจ และไปรษณีย์ ซึ่งหลักเกณฑ์ใหม่ได้ขยายให้ครอบคลุมนิติบุคคลอื่นที่มีคุณสมบัติเหมาะสม
ทั้งนี้ ตัวแทนของธนาคารพาณิชย์ สามารถให้บริการ รับฝาก ถอน โอน ชำระเงิน สำหรับลูกค้ารายย่อยได้ ซึ่งตามหลักเกณฑ์ธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งจะเป็นผู้พิจารณาคัดเลือกตัวแทนที่มีคุณสมบัติที่เหมาะสม ให้สอดคล้องกับกลยุทธ์การให้บริการลูกค้าของธนาคารพาณิชย์ แต่จะต้องมาขออนุญาตจาก ธปท. อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันตัวแทนของธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยยังไม่มีการให้บริการรับถอนเงิน
“ตัวแทนของธนาคารพาณิชย์เป็นเพียงผู้ที่ธนาคารพาณิชย์แต่งตั้งให้บริการแทนในธุรกรรมบางประเภท ไม่ใช่การจัดตั้งธนาคารพาณิชย์ใหม่ที่มีใบอนุญาต (Banking license) จาก ธปท. ซึ่งปัจจุบัน ธปท.ยังไม่มีนโยบายในการให้ใบอนุญาตการประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์รายใหม่”
ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ยังกล่าวถึงกรณีมีการแชร์ภาพตู้เอทีเอ็มเซเว่นอีเวฟเว่นในโลกออนไลน์ ระบุว่า เป็นภาพธนาคารในประเทศญี่ปุ่น แต่สำหรับเซเว่นอีเลฟเว่นในประเทศไทยนั้น ปัจจุบันมีธนาคารกสิกรไทยแต่งตั้งเป็นตัวแทน ในรูปแบบเคาน์เตอร์เซอร์วิส ช่วยเบิกเงินสดในพื้นที่ห่างไกล ยกตัวอย่าง สมมติแรงงานในกรุงเทพฯ ต้องการจะโอนเงินไปในตายายในต่างจังหวัด ซึ่งอาจไม่มีบัญชีธนาคาร สามารถโอนเงินผ่านธนาคาร แล้วให้ตายายไปรับเงินที่เซเว่นอีเลฟเว่นได้ เป็นต้น
ทั้งนี้ ประกาศหลักเกณฑ์บังคับใช้มานานแล้ว ขณะที่หลักเกณฑ์ฉบับใหม่ คาดว่าจะประกาศในราชกิจจานุเบกษา มี.ค. 2561
ด้าน น.ส.เมทินี กล่าวเพิ่มเติมถึงสาระสำคัญของหลักเกณฑ์ของตัวแทนธนาคารพาณิชย์ว่า ปัจจุบันธนาคารพาณิชย์ สามารถเลือกแต่งตั้งได้อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเลือกใช้ธนาคารพาณิชย์อื่น สถาบันการเงินเฉพาะกิจ ไปรษณีย์ หรือนิติบุคคล (ห้างร้าน) โดยตัวแทนฯ จะต้องมีคุณสมบัติที่เหมาะสม มีหลักแหล่งที่แน่นอน มีเครื่องมืออุปกรณ์ บริหารจัดการได้ดี ทั้งหมดขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของธนาคารพาณิชย์
สำหรับขอบเขตของประเภทการให้บริการ รับฝาก ถอน ชำระเงิน จ่ายเงินผู้ใช้บริการรายย่อย จำกัดวงเงินไม่เกินครั้งละ 5 พันบาท หรือ 2 หมื่นบาทต่อวัน และจ่ายเงินผู้ใช้บริการรายใหญ่ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในรูปแบบเช็ค อย่างไรก็ตาม ธนาคารพาณิชย์ อาจขออนุญาต ธปท. แต่งตั้งบุคคลธรรมดาเป็นตัวแทนของธนาคารพาณิชย์ได้ เป็นรายกรณี
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ข้อมูลจาก ธปท. ระบุปัจจุบันมีตัวแทนของธนาคารพาณิชย์ ทั้งหมด 4 ราย ได้แก่ บริษัท ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการตู้บุญเติม, บริษัท เวดดิ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้ให้บริการ ตู้เอเจเติมสบาย, บริษัท เคาน์เตอร์เซอร์วิส จำกัด ผู้ให้บริการเคาน์เตอร์เซอร์วิส และ บริษัท แอร์เพย์ ประเทศไทย จำกัด ผู้ให้บริการแอร์เพย์ .