พ.อ.นิติ ติณสูลานนท์... "เหลนป๋า"กับภารกิจสางปมขัดแย้ง 2 ศาสนาที่ปะนาเระ
ตลอดเทศกาลสงกรานต์ที่ชายแดนใต้ แม้จะไม่มีเหตุรุนแรงขนาดใหญ่เหมือน "คาร์บอมบ์" ที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา และ อ.เมือง จ.ยะลา เมื่อวันที่ 31 มี.ค.2555 แต่ก็เกิดเหตุการณ์ลอบสังหารหมู่สลับกันไปมาจนเป็นที่น่าจับตา โดยมีเหยื่อเป็นชาวบ้านทั้งไทยพุทธและมุสลิมที่ อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี
เหตุร้ายดังกล่าวเริ่มขึ้นเมื่อวันพุธที่ 11 เม.ย.เวลา 19.30 น.คนร้ายไม่ทราบจำนวนใช้อาวุธปืนอาก้าซุ่มยิงชาวบ้านเสียชีวิต 2 ราย และได้รับบาดเจ็บ 1 ราย บริเวณใกล้บาราเซาะ (มัสยิดขนาดเล็กสำหรับประกอบพิธีละหมาด) มูศ็อลลาซาลีลุค็อยร์ ท้องที่บ้านนาพร้าว หมู่ 2 ต.ปะนาเระ อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี โดยผู้เสียชีวิตคือ นายรอมือลี หะยีดอเล็ง อายุ 49 ปี อาชีพรับจ้างเฝ้าสวน, นายยาลี ตาเฮ อายุ 50 ปี เป็นลูกจ้างโครงการพระราชดำริฯ ส่วนผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัสคือ นางเจะสปีเยาะ โวะ อายุ 43 ปี ภรรยาของนายรอมือลี
ถัดจากนั้นเพียง 2 วัน คือวันศุกร์ที่ 13 เม.ย.ได้เกิดเหตุดักยิงชาวบ้านไทยพุทธจาก อ.ปะนาเระ บ้าง โดยเมื่อเวลา 09.30 น. คนร้ายจำนวน 4 คนมีรถจักรยานยนต์ 2 คันเป็นพาหนะ ใช้อาวุธปืนเอ็ม 16 ยิงใส่รถบัส หมายเลขทะเบียน 10-0080 ปัตตานี ของบริษัทพิธานทัวร์ ซึ่งเป็นรถโดยสารประจำทางสายปัตตานี-ยะลา ที่ชาวบ้าน ต.คอกกระบือ อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี จำนวน 45 คนได้เช่าเหมาคันเดินทางไปร่วมงานฌาปนกิจศพที่ ต.โคกเคียน อ.เมือง จ.นราธิวาส
เหตุเกิดขณะที่รถแล่นอยู่บนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 42 (ปัตตานี-นราธิวาส) ท้องที่บ้านบาโงมูลง หมู่ 6 ต.เตราะบอน อ.สายบุรี จ.ปัตตานี คนร้ายได้กราดกระสุนใส่รถ ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บจากกระสุนปืนและกระจกรถบาดจำนวน 8 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุกับเด็ก
หลังจากนั้นอีก 2 วัน คือเมื่อวันที่ 15 เม.ย.เวลา 17.30 น. คนร้าย 2 คนแต่งกายคล้ายผู้หญิง มีรถจักรยานยนต์เป็นพาหนะ ใช้อาวุธปืนพกไม่ทราบขนาดยิงชาวบ้านได้รับบาดเจ็บ 3 รายในท้องที่ อ.มายอ จ.ปัตตานี โดยทั้งหมดเป็นหญิงชรา ประกอบด้วย นางพุม แก้วยุด อายุ 79 ปี นางพร้อย เทพสุวรรณ์ อายุ 87 ปี และ นางธนพร แซ่เต็ง อายุ 59 ปี
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีสื่อบางแขนงนำไปขยายความ และระบุทำนองว่าเหตุการณ์ลอบสังหารชาวบ้านมุสลิมใกล้กับบาราเซาะอาจเป็นฝีมือของเจ้าหน้าที่ทหาร จนเกิดการล้างแค้นตอบโต้ตามมา...
ร้อนถึง พ.อ.นิติ ติณสูลานนท์ ผู้บังคับการกรมทหารพรานที่ 44 (ผบ.ทพ.44) รับผิดชอบพื้นที่ อ.ปะนาเระ กับ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี ต้องออกมาชี้แจงประเด็นอ่อนไหวนี้
"เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่อยากให้มองเป็นกรณีๆ ไป อย่าเหมารวม เพราะแต่ละเหตุการณ์ไม่ใช่เรื่องเดียวกัน ถ้าเราจะโยงให้เป็นเรื่องเดียวกันก็ได้ จะเห็นว่ามีการยิงพี่น้องมุสลิม แล้วก็ไปเกิดเหตุกับพี่น้องไทยพุทธ และหลังจากนั้นก็เกิดเหตุกับพี่น้องไทยพุทธที่ อ.มายอ อีก ก็โยงว่าเป็นการล้างแค้นได้ แต่จริงๆ อยากให้เข้าใจว่า ในพื้นที่ อ.ปะนาเระ มีปัญหาซ้อนทับหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องการเมืองท้องถิ่นค่อนข้างแรง"
พ.อ.นิติ ซึ่งรับราชการในพื้นที่ภาคใต้มาตลอด อธิบายต่อว่า แต่ละอำเภอในจังหวัดชายแดนภาคใต้ล้วนมีปัญหาภายในที่เป็นลักษณะเฉพาะของตัวเอง ปะนาเระก็มีปัญหาของปะนาเระ สายบุรีก็มีปัญหาของสายบุรี ทุกพื้นที่ล้วนมีปัญหา ส่วนเรื่องความหวาดระแวงนั้น ทุกพื้นที่ก็หวาดระแวงกันหมด แต่อยู่ที่ว่าพื้นที่ไหนจะปรากฏเหตุการณ์ก่อนหรือหลังเท่านั้น ถือว่าเป็นเรื่องปกติ เพราะที่ชายแดนใต้พร้อมเกิดเหตุได้ทุกเมื่อ ไม่ว่ากับพี่น้องไทยพุทธหรือมุสลิม
"การแก้ปัญหาก็คือต้องพยายามพูดคุยสร้างความเข้าใจ อย่างที่ผ่านมาผมก็เข้าไปพูดในมัสยิดที่ ต.ปะนาเระ มีพี่น้องมุสลิมกว่า 300 คน ผมถามว่าปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งหมดมีใครอยากซักถามอะไรหรือไม่ ปรากฏว่าไม่มีใครถาม แต่ก็ไม่เป็นไร เพราะถือว่าชาวบ้านเปิดโอกาสให้เราพูดแล้ว และเราก็ได้เปิดโอกาสให้ถามแล้ว ถ้าเราไม่เปิดโอกาสให้พูดสิปัญหาจะยิ่งบานปลาย ส่วนชาวบ้านจะเชื่อหรือไม่เชื่อคำชี้แจงเป็นอีกเรื่องหนึ่ง"
ส่วนข้อสงสัยที่บางสื่อนำไปขยายประเด็นว่าอาจเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐนั้น พ.อ.นิติ ยืนยันหนักแน่นว่า "คนของผมไม่ได้ทำ แต่ก็ไม่สามารถบอกกับชาวบ้านได้เหมือนกันว่าใครทำ"
"อยากให้เข้าใจว่าคนที่เสียชีวิต 2 คนที่เป็นผู้ชาย (กรณียิงชาวบ้านมุสลิมใกล้บาราเซาะ) คนแรกเป็นบิดาของคนในขบวนการก่อความไม่สงบที่กำลังจะออกมามอบตัวกับเจ้าหน้าที่ อีกคนหนึ่งเป็นลูกจ้างของรัฐ ก็อยากให้ดูที่มาที่ไปของปัญหาด้วย การที่คิดว่าเจ้าหน้าที่ทำ จริงๆ แล้วไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำ โดยเฉพาะบริเวณใกล้ๆ มัสยิดหรือสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา" พ.อ.นิติ ระบุ
พ.อ.นิติ ยังกล่าวถึงการนำเสนอข่าวของสื่อว่า ควรพิจารณาให้ถูกต้องตรงกับความเป็นจริง ไม่ใช่นึกจะเขียนอะไรก็เขียน นึกจะรายงานอะไรก็รายงาน เพราะการเข้าไปกราดยิงชาวบ้านไม่ใช่เรื่องง่าย และเป็นไปไม่ได้ด้วย
สำหรับ พ.อ.นิติ นั้น เป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่น 26 (ตท.26) โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า (จปร.) รุ่น 37 เขามีนามสกุลเดียวกับ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ เนื่องจากมีศักดิ์เป็นเหลนของ พล.อ.เปรม โดยปู่ของเขาเป็นพี่ชายแท้ๆ ของ พล.อ.เปรม อย่างไรก็ดี พ.อ.นิติ ยืนยันว่าการมีนามสกุลเดียวกับผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองไม่ได้ทำให้เขามีสิทธิพิเศษใดๆ หนำซ้ำยังต้องแบกรับความกดดันอย่างสูงอีกด้วย
"เวลาเราทำอะไรก็ต้องระมัดระวังมากกว่าคนอื่น เพราะเรานามสกุลเดียวกับท่าน หากทำอะไรไม่ดี ท่านก็จะพลอยเสียหายไปด้วย” พ.อ.นิติ กล่าว และว่าแทบทุกครั้งที่ได้มีโอกาสลาพักและกลับบ้านที่กรุงเทพฯ ก็จะเข้าไปกราบขอพร พล.อ.เปรม ที่บ้านสี่เสาเทเวศร์ เพื่อเป็นขวัญกำลังใจในการทำงาน
พ.อ.นิติ ซึ่งเคยเป็นนายทหารคนสนิท (ทส.) ของ พล.ท.พงษ์ศักดิ์ เอกบรรณสิงห์ สมัยที่ดำรงตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 4 ช่วงเริ่มเกิดเหตุการณ์ปล้นปืนและสถานการณ์ร้ายรายวัน บอกด้วยว่า เขาอยู่ในพื้นที่มานาน และเห็นว่ามีปัญหาทับซ้อนกันหลายปัญหา ทั้งการก่อความไม่สงบ ค้ายาเสพติด สินค้าเถื่อน น้ำมันเถื่อน บ่อนการพนัน และค้ามนุษย์ มีการเอื้อประโยชน์กันในหลายระดับ การมองและวางแนวทางแก้ไขปัญหาจึงต้องรอบคอบ ไม่ด่วนสรุปในแต่ละเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ต้องพิจารณาปัญหาในภาพใหญ่ด้วย
"แต่แน่นอนว่าหลายๆ ครั้งที่คนร้ายก่อเหตุ ส่งผลให้เกิดความหวาดระแวงระหว่างผู้คนสองศาสนาในพื้นที่ ซึ่งก็ต้องพยายามแก้ไขปัญหากันต่อไป โดยผมเน้นการสร้างความเข้าใจ และเปิดพื้นที่การพูดคุย"
ส่วนภาพพจน์ของทหารพรานที่ค่อนข้างติดลบจากหลายๆ เหตุการณ์ที่ผ่านมานั้น พ.อ.นิติ ในฐานะผู้บังคับการกรมทหารพรานที่ 44 บอกว่า สาเหตุประการหนึ่งเป็นเพราะทหารพรานทำงานในเชิงรุกมาก โดยเป็นหน่วยนำเข้าไปปิดล้อม ตรวจค้น จับกุม จึงทำให้เกิดความผิดพลาดได้ง่าย ฉะนั้นในพื้นที่ที่เขารับผิดชอบจะเน้นงานเชิงรับ เน้นการรักษาพื้นที่ให้ปลอดภัย พร้อมๆ กับทำงานมวลชนด้วยการเดินเข้าไปพูดคุยทำความเข้าใจแทน
และนั่นคือภารกิจของ "เหลนป๋า" พ.อ.นิติ ติณสูลานนท์ ผู้บังคับการกรมทหารพรานที่ 44 แห่ง อ.ปะนาเระ-สายบุรี!