กลุ่มค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่-เทพาพบยูเอ็น เปรยเตรียมเคลื่อนตัวไปทำเนียบ กดดันรัฐบาล
เครือข่ายปกป้องสองฝั่งทะเล ไม่เอาถ่านหิน ประกาศเตรียมเคลื่อนขบวน หากรัฐบาลไม่ตัดสินใจต่อข้อเรียกร้อง ด้านกรรมการสิทธิฯ ห่วงผู้ชุมนุมอดอาหาร เร่งสองฝ่ายเจรจาตกลง
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่16 ก.พ.61 เครือข่ายปกป้องสองฝั่งทะเลกระบี่-เทพา ยุติโรงไฟฟ้าถ่านหินได้เดินทางเข้าพบกับผู้แทนของสหประชาชาติ(ยูเอ็น) เพื่อให้ข้อมูลด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชน ซึ่งจะเป็นฐานข้อมูลสำหรับการพิจารณาดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งตามดุลยพินิจ
ภายหลังจากการปักหลักชุมนุมที่ประชุมสหประชาชาติ ถนนราชดำเนิน พร้อมประท้วงด้วยการอดอาหารนับตั้งแต่วันที่ 12 ก.พ.เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งสองพื้นที่ โดยมีรายงานว่าระหว่างการอดอาหารประท้วง มีผู้ชุมนุมราว7 คนผุ้ส่งตัวไปโรงพยาบาลเนื่องจากมีอาการเหนื่อยล้าจากสภาพอากาศที่ร้อนและพักผ่อนไม่เพียงพอ
ทางตัวแทนเครือข่าย เปิดเผยหลังการเข้าพบว่า หากรัฐบาลยังไม่ตัดสินใจต่อข้อเรียกร้องเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมของเครือข่าย วันอังคารที่ 20 ก.พ.เราจะเคลื่อนขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาลเพื่อไปฟังผลการประชุมมติคณะรัฐมนตรี และจะเพิ่มจำนวนคนอารยะขัดขืน จากภาคีเครือข่ายเพิ่มขึ้น เพื่อทำกิจกรรมหน้าสำนักงานสหประชาชาติ
ล่าสุด เมื่อเวลา 14.30 มีหมายศาลนัดไต่สวน ระหว่างพนักงานสอบสวนเทศบาลนครบาลนางเลิ้ง พ.ต.ต.อรรถวิษ เรืองโภควิทย์ ผู้ร้อง ต่อนายสมยศ โต๊ะหลัง และ นางสาวจินดารัตน์ เพิ่มลาภวิรุฬห์กับพวก เครือข่ายประชาชนที่ชุมนุมประท้วง เพื่อไต่สวนคำร้อง ขอยกเลิกการชุมนุมตามพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ตามที่นครบาลนางเลิ้งได้ร้องของ โดยศาลตามกำหนดเวลาไต่สวนเป็นวันที่ 20 ก.พ.61 เวลา9.00น.
ก่อนหน้าได้เคยมีคำสั่งห้ามไม่ให้ชุมนุมในพื้นที่บริเวรณน้าที่ประชุมสหประชาชาติ แต่ทางเครือข่ายได้มียื่นการอุทธรณ์พร้อมยืนยันจะชุมนุมต่อไป
ขณะที่ทางด้านนางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะดูแลด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง กล่าวกรณีนี้ว่า มีความเชื่อมั่นว่ากลุ่มเครือข่ายปกป้องสองฝั่งเล กระบี่ – เทพา ได้ใช้สิทธิและเสรีภาพ ในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู หรือส่งเสริมภูมิปัญญา ศิลปะ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม และจารีตประเพณี รวมถึงการจัดการ บํารุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม อย่างสมดุลและยั่งยืนของประชาชนแล้ว ตลอดจนเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ แต่อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความเป็นห่วงต่อสวัสดิภาพและสุขภาพของประชาชนและการรับมือต่อสถานการณ์ดังกล่าวของรัฐบาล เนื่องจากการใช้วิธีอดอาหาร แม้จะเป็นการดำเนินการอย่างสันติวิธี อาจไม่ใช่วิถีที่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้อย่างแท้จริงและยั่งยืน ประกอบกับรัฐบาลได้ให้คำมั่นต่อประชาชนแล้วว่าจะชะลอการดำเนินโครงการดังกล่าวแล้ว เพื่อให้เกิดการสร้างความเข้าใจ และร่วมกันหาแนวทางในการยุติปัญหาที่ยั่งยืน จึงขอเสนอให้รัฐบาลและผู้แทนกลุ่มเครือข่ายปกป้องสองฝั่งเล กระบี่ – เทพา ได้มีการประชุมรับฟังข้อมูลที่รอบด้านและรอบคอบต่อไป
ด้านนางเตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า กรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาและโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ปัจจุบันอยู่ในกระบวนการตรวจสอบข้อร้องเรียนของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในเบื้องต้นมีประเด็นข้อห่วงใยจากนักวิชาการว่า รายงานการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ของโรงไฟฟ้าที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการ มีความคลาดเคลื่อนทางวิชาการ ซึ่งจะได้มีการรวบรวมความเห็นทางวิชาการและจัดทำเป็นรายงานการตรวจสอบของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
อย่างไรก็ตามในเบื้องต้น ขอเรียกร้องให้รัฐบาลปฏิบัติต่อผู้ชุมนุมอดอาหารของเครือข่ายปกป้องสองฝั่งทะเล กระบี่-เทพา ยุติโรงไฟฟ้าถ่านหินบนพื้นฐานของการเคารพสิทธิมนุษยชน โดยควรมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดหน่วยแพทย์ดูแลสุขภาพกลุ่มผู้อดอาหาร ดูแลสภาพความเป็นอยู่และอำนวยความสะดวกในการชุมนุม ทั้งนี้ ควรจัดให้มีการประชุมหารือระหว่างตัวแทนของรัฐบาลกับผู้ชุมนุมเพื่อร่วมกันพิจารณาข้อมูลที่ยังมีความแตกต่างกัน รวมถึงการพิจารณาทางเลือกของการพัฒนาพลังงานไฟฟ้า เช่น การพัฒนาพลังงานทดแทน โดยยึดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนและกรอบปฏิญญาว่าด้วยสิทธิการพัฒนาแห่งของสหประชาชาติ ซึ่งรับรองให้ประชาชนมีสิทธิในการกำหนดเจตจำนงในการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของตน ตลอดจนการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมายและการได้รับผลประโยชน์จากการพัฒนา