คพ. แจงสถานการณ์ PM 2.5 เกินมาตรฐาน ยันไม่ได้สูงตลอดเวลา
อธิบดีกรมควบคุมมลพิษโต้กรีนพีช ยันการกำหนดค่าดัชนีคุณภาพอากาศ ของไทยและสหรัฐฯ แตกต่างกัน เอามาเปรียบเทียบกันไม่ได้ ยันฝุ่นที่มีค่าเกินมาตรฐานไม่ได้มีค่าสูงตลอดเวลา พร้อมขอความร่วมมือประชาชน ลดนำรถส่วนบุคคลเข้าในเขตเมือง รณรงค์ใช้รถร่วมกัน "ทางเดียวกันไปด้วยกัน" ใช้รถขนส่งสาธารณะ งดเผาขยะ ใบไม้ กิ่งไม้
วันที่ 15 กุมภาพันธุ์ นางสุณี ปิยะพันธุ์พงศ์ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เปิดเผยว่า จากกรณีที่นายธารา บัวคำศรี ผอ.ประจำประเทศไทย กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โพสต์ข้อความผ่าน เฟซบุ๊ก โดยกล่าวถึงปัญหาเรื่องฝุ่นละอองที่เกิดขึ้นใน กทม. ขณะนี้ว่า ค่าเฉลี่ย PM 2.5 ที่บางนาตั้งแต่เมื่อคืนจนถึงเช้านี้ อยู่ที่ 61.87 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เมื่อนำเอาความเข้มข้นฝุ่นพิษดังกล่าวไปหาดัชนีคุณภาพอากาศ ตามวิธีการของสหรัฐอเมริกาผลคืออยู่ในระดับสีแดง ซึ่งแสดงว่าคุณภาพอากาศมีอันตรายต่อสุขภาพ และเป็นวิกฤตด้านสุขภาพของประชาชน ถ้ารัฐไม่มีประสิทธิภาพ ประชาชนจะลงมือติดตามตรวจสอบและรายงานคุณภาพอากาศกันเอง
ทางกรมควบคุมมลพิษขอชี้แจงว่า การกำหนดค่าดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) ของแต่ละประเทศที่ใช้แถบสีในการรายงาน จะมีความสัมพันธ์กับค่ามาตรฐานคุณภาพอากาศที่แต่ละประเทศกำหนด ซึ่งการกำหนดค่ามาตรฐานจะพิจารณากำหนดจากข้อมูลพื้นฐานการพัฒนาของประเทศ สภาพเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งค่ามาตรฐานระหว่างประเทศไทยและสหรัฐอเมริกายังมีความแตกต่างกัน โดยประเทศไทยกำหนดค่ามาตรฐานฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) เฉลี่ย 24 ชั่วโมง ไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม) ในขณะที่ค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมงของสหรัฐอเมริกาไม่เกิน 35 มคก./ลบ.ม. ประกอบกับระดับการแบ่งช่วงค่าและความหมายของสีที่ใช้ระหว่างดัชนีคุณภาพอากาศของประเทศไทยและของสหรัฐอเมริกามีความแตกต่างกันเช่นกัน ดังนั้นจึงยังไม่สามารถเปรียบเทียบกันได้
นางสุณี กล่าวว่า หลังจากพบว่า PM 2.5 เกินเกณฑ์มาตรฐาน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดย กรมควบคุมมลพิษ ได้มีการประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรุงเทพมหานคร กรมควบคุมโรค กรมอนามัย กรมอุตุนิยมวิทยา กองบังคับการตํารวจจราจร กรมการขนส่งทางบก องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค 6 (นนทบุรี) และ ผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อกำหนดและดำเนินการตามมาตรการเร่งด่วนในแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 และมาตรการป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพ โดยการเฝ้าติดตามตรวจสอบ เฝ้าระวังและแจ้งเตือนสถานการณ์ผ่านช่องทางต่างๆ การให้ความรู้/สร้างความเข้าใจกับสื่อมวลชนและประชาชน ควบคุมและลดมลพิษจากยานพาหนะโดยเพิ่มจุดตรวจจับรถควันดำและบังคับใช้กฎหมาย การเข้มงวดการตรวจสภาพรถโดยสาร/ตรวจสอบตรวจจับ การจัดซื้อรถโดยสารที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง กรุงเทพมหานคร ได้ปฏิบัติตามมาตรการในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่อย่างเข้มข้น โดยมุ่งเน้นการลดมลพิษจากการจราจร การลดฝุ่นละอองจากการก่อสร้าง การลดฝุ่นละอองจากการเผาและกิจการต่างๆ รวมถึงการเพิ่มพื้นที่สีเขียวและเพิ่มความถี่ในการทำความสะอาดถนน และการขอความร่วมมือจากภาคประชาชนดูแลรักษารถยนต์ของตนเองให้อยู่ในสภาพดี ช่วยลดการนำยานพาหนะส่วนบุคคลเข้าในเขตเมือง ให้ใช้รถร่วมกัน "ทางเดียวกันไปด้วยกัน" (Carpool) การใช้รถขนส่งสาธารณะ รวมทั้งการงดการเผาขยะ ใบไม้ กิ่งไม้
นางสุวรรณา กล่าวถึงแผนฯระยะที่ 3 ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเรียบร้อยแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบ พิจารณาให้หน่วยงานกลุ่มเป้าหมาย ดำเนินการจัดหาสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเป็นลำดับแรก โดยการออกกฎกระทรวง ให้เป็นพัสดุที่รัฐต้องส่งเสริมหรือสนับสนุนและกำหนดการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุ โดยวิธีคัดเลือกและวิธีเฉพาะเจาะจง การออกมาตรการสนับสนุนให้สิทธิประโยชน์ผ่านมาตรการด้านเศรษฐศาสตร์ การสร้างแรงจูงใจสำหรับผู้ผลิต เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การกำหนดเป็นตัวชี้วัดให้แก่หน่วยงานกลุ่มเป้าหมายในการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างฯ ให้เป็นไปตามเป้าหมาย
นางสุวรรณา กล่าวว่า รายการสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มี 29 ประเภท แบ่งเป็นสินค้า 23 ประเภท และบริการ 6 ประเภท โดยตัวอย่างสินค้าที่เป็นมิตรกับกับสิ่งแวดล้อม เช่น กระดาษถ่ายเอกสารและงานพิมพ์ทั่วไป จะต้องทำจากเยื่อเวียนทำใหม่ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของน้ำหนักเยื่อ ต้องไม่มีโลหะหนัก หรือสารประกอบโลหะหนัก มีการคำนวณปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่ใช้ในการผลิตเยื่อและกระดาษ สินค้าประเภทการดาษชำระ จะต้องทำจากเยื่อเวียนทำใหม่ไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ของน้ำหนักเยื่อ สีที่ใช้ต้องไม่มีโลหะหนัก หรือสารประกอบโลหะหนัก ต้องไม่ใช้สารฟอกขาวที่มีคลอรีนเป็นสารประกอบในการฟอกเยื่อ ซึ่งจะเห็นได้ว่าคุณสมบัติของสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมนั้น สามารถลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ขั้นตอนการจัดหาวัสดุ การผลิต การขนส่ง การใช้งานและการกำจัดซากหลังการใช้งาน เมื่อเปรียบเทียบกับสินค้าทั่วไปประเภทเดียวกัน
นางสุณี กล่าวด้วยว่า ด้านมาตรการดูแลสุขภาพ ให้ประชาชนหลีกการสัมผัสฝุ่นละอองโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ปิดประตูหน้าต่างให้มิดชิด ใช้หน้ากากป้องกันฝุ่นหรือใช้ผ้าชุบน้ำ เลี่ยงการออกกำลังกายหรือทำงานกลางแจ้งเป็นเวลานาน ลดการใช้รถยนต์และการเผาขยะ ซึ่งให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขเฝ้าระวังและรายงาน 4 โรคสำคัญ ได้แก่โรคระบบทางเดินหายใจ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเยื่อบุตาอักเสบ และโรคผิวหนัง ที่อาจเกิดจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก และให้เจ้าหน้าที่ติดตามเยี่ยมบ้านผู้ป่วยติดบ้าน ติดเตียงในวันที่มีค่าฝุ่นสูง พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนกและสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติ เนื่องจากปริมาณฝุ่นละอองในพื้นที่ที่มีค่าเกินมาตรฐานไม่ได้มีค่าสูงตลอดเวลา และขอให้ประชาชนติดตามข่าวสารและข้อมูลจากทางราชการอย่างใกล้ชิด จากการเผยแพร่ เว็บไซต์กรมควบคุมมลพิษ แฟนเพจเฟสบุ๊กกรมควบคุมมลพิษ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
:แย่จริงอากาศกรุงเทพฯ แล้วฝุ่นขนาดเล็ก PM2.5 มาจากไหน?