“ประธานสภาเกษตรฯคนแรก”ชี้แผนประเทศต้องถ่วงดุลเกษตร-อุตสาหกรรม
จากอดีตรัฐมนตรีผันตัวเองไปเป็นเกษตรกร หายหน้าจากเส้นทางการเมืองไปนานพอควร วันนี้กลับมาในบทบาทประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ แนวคิดไอ้ก้านยาว“ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์”เปลี่ยนไปหรือไม่ แนวทางทำงานเป็นอย่างไร ติดตามได้.......
ไม่เพียงแต่คนเดือนตุลา นักกิจกรรม นักศึกษา สื่อมวลชน แต่ประชาชนทั่วไปที่ติดตามข่าวสารบ้านเมือง ภาพจารึกประวัติศาสตร์การเมืองเมื่อวันที่ 14 ต.ค.16หลายคนคงจดจำภาพภาพอดีตนักศึกษา มหาวิทยาเกษตรศาสตร์ปี 3ชูท่อนไม้ประจันหน้าทหารเพื่อป้องกันการเข้าเคลียร์พื้นที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ (รอยัลโฮเต็ล)เยื้องสนามหลวง กระทั่งตนเองถูกยิงได้รับบาดเจ็บ กลายเป็นที่มาสมญานาม "ไอ้ก้านยาว" ตราบเท่าทุกวันนี้
“ไอ้ก้านยาว” หรือ “ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์” เคยทำงานรับจ้างปลูกป่า เคยเป็นลูกจ้างองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.) เคยดำรงตำแหน่งรมช.กระทรวงเกษตรฯ รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯคนแรก โลดแล่นบนถนนการเมืองก่อนจะผันตัวเองไปเป็นเกษตรกรที่จังหวัดลำปาง ยึดอาชีพทำเกษตรผสมผสานปลูกพืชผลทุกอย่าง ปลูกไม้ยืนต้น ทำปศุสัตว์ เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่พื้นเมือง เลี้ยงปลา ดูแลครอบครัวด้วยการทำเกษตร กระทั่งวันนี้เขากลับมาอีกครั้งและได้รับเลือกเป็น"ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ"
“ศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศรา” พาไปทำความรู้จักและรับรู้ถึงแนวทางการทำงาน นับจากนี้องค์กรตัวแทนเกษตรกรภายใต้การนำของเขาจะก้าวไปทิศทางใด
ทำไมถึงต้องมีสภาเกษตรกรแห่งชาติ
สภาเกษตรกรแห่งชาติตั้งขึ้นตามพ.ร.บ. สภาเกษตรกรแห่งชาติปี 2553 มีความสมบูรณ์ตามองค์ประกอบสมาชิก ได้แก่ 1.ตัวแทนเกษตรกร 77 จังหวัด 2.ตัวแทนองค์กรเกษตรกร จาก 4 ด้าน ด้านละ 4 คน ได้แก่ ด้านพืช ปศุสัตว์ ประมง และเกษตรกรรมอื่น ๆ อาทิ เกษตรอินทรีย์ เกษตรชีวภาพ 3.ผู้ทรงคุณวุฒิเป็นผู้มีประสบการณ์และช่ำชองด้านการเกษตรการมีสภาเกษตรกรแห่งชาติ เพื่อถ่วงดุลแผนพัฒนาเศรษฐกิจสังคม เนื่องจากการพัฒนาประเทศให้น้ำหนักภาคอุตสาหกรรม พาณิชย์ พาณิชยกรรม การเงินการธนาคารมากเกินไป ประเทศไทยมีประธานหอการค้า ประธานอุตสาหกรรม ประธานองค์กรเศรษฐกิจอื่นๆ แต่ไม่มีองค์กรเกษตรกร สังคมไทยทอดทิ้งภาคการเกษตร ทุกภาคส่วนยอมรับและพิสูจน์แล้ว เกษตรกรรายย่อยทั่วประเทศกำลังล่มสลายในเชิงยุทธศาสตร์เชิงโครงสร้าง แทบทุกครัวเรือนมีหนี้สิน ที่ดินการเกษตรไปอยู่ในมือนายทุน
“การมีสภาเกษตรกรฯ สมมติฐานแรกก็คือต้องการให้เข้ามามีส่วนร่วมในการนำเสนอนโยบายภาคการเกษตรและท้วงติงคัดค้านนโยบายไม่เหมาะสม ในอดีตไม่เคยมีโครงสร้างองค์กรนี้จึงทำให้เกษตรกรขาดโอกาสทางสังคม สภาเกษตรกรแห่งชาติจะเข้ามาทำหน้าที่นี้เพื่อเกษตรกรทั้งประเทศ”
แนวทางการทำงานต่อจากนี้จะทำอะไรบ้าง
แนวทางคือส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกลุ่ม สร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรและองค์กรเกษตรกรในทุกรูปแบบ เพื่อให้เกษตรกรเป็นเอกภาพมากขึ้น เพื่อสร้างอำนาจต่อรองกับภาคส่วนอื่นๆทางสังคมให้มากขึ้นด้วย ส่วนงานที่จะทำในเบื้องต้น ระยะเร่งด่วนเฉพาะหน้าจะเข้าไปดูเกี่ยวกับเรื่องนโยบายของรัฐที่กำลังทำอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจำนำพืชผลในหลายโครงการ เช่น ข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพด ต้องยอมรับว่ายังมีจุดอ่อนอยู่บ้าง ไม่ตรงตามความต้องการของเกษตรกร รวมทั้งเรื่องบริหารแก้มลิงการบริหารจัดการน้ำซึ่งต้องยอมรับที่ผ่านมาภาครัฐดำเนินการโดยขาดการมีส่วนร่วมของเกษตรกร
“โครงการรับจำนำข้าวต้องยอมรับยังมีจุดอ่อนอยู่บ้าง ทั้งนี้ทั้งนั้นคงไม่ได้เป็นความผิดของใคร แต่ว่าขาดการมีส่วนร่วมของเกษตรกรโดยเฉพาะชาวนา เช่น กรณีการตรวจคุณภาพข้าวตามโรงสีต่างๆ ชาวนาแทบจะไม่มีโอกาสได้เข้าไปรับรู้ในส่วนนั้น ไม่ว่าความชื้น สิ่งเจือปนทั้งหลาย นี่คือสิ่งที่สภาเกษตรกรจะเข้าไปเติมเต็มให้ รวมทั้งพืชผลอีกหลายตัว เช่น มันสำปะหลัง การตรวจเชื้อแป้ง ตรวจสิ่งเจือปน หากให้เกษตรกรเข้าไปมีส่วนร่วมก็จะเกิดความสบายใจและความโปร่งใสมากขึ้น ไม่ตกเป็นเบี้ยล่างพ่อค่าคนกลางมากเกินไป”
นอกจากนี้สิ่งที่สภาเกษตรชุดนี้อยากให้รัฐบาลหยิบขึ้นมาพิจารณาก็คือให้ดำเนินนโยบายการประกันรายได้พร้อมๆกับการจำนำควบคู่กันไป ซึ่งการประกันรายได้ที่รัฐบาลชุดที่ผ่านมาทำไว้ ถึงแม้ว่าชาวนาบางส่วนอาจจะได้รับผลน้อย แต่ชาวนารายใหญ่ได้ประโยชน์มากกว่า แต่ชาวนารายเล็กรายน้อยที่ปลูกข้าวไว้บริโภค ไม่มีข้าวเหลือเข้าจำนำ ตรงนี้ชาวนาจะไม่ได้ประโยชน์เลย ส่วนการจำนำจะมีประโยชน์เฉพาะกับชาวนารายกลาง รายใหญ่ ในอนาคตสภาเกษตรฯจะเข้าไปนำเสนอรัฐบาลพิจารณาให้เกิดประโยชน์กับชาวนาทุกระดับ ส่วนรายละเอียดการดำเนินการจะมีการเรียกประชุมสมาชิกฯพร้อมกับการประสานความร่วมมือกับองค์กรท้องถิ่น แต่ทั้งนี้จะมีการทำแผน จะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมพิจารณา เพื่อให้เกิดความรอบด้านมากขึ้นโดยสภาเกษตรฯจะเป็นเจ้าภาพ
ตั้งกรรมการสภาฯเตรียมพร้อมภาคเกษตรสู่อาเซียน
สำหรับแผนงานในระยะกลางและระยะยาว คือการเตรียมความพร้อมเข้าร่วม AEC ซึ่งมีผลกระทบกับภาคการเกษตร โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อยทั้งประเทศในหลายพืชผลการผลิต ตรงนี้เกษตรกรไม่เคยรับรู้เรื่องข้อมูลข่าวสารและขาดกระบวนการเตรียมความพร้อมจนนำไปสู่การแข่งขันได้ ผลกระทบก็คือจะทำให้เกษตรกรประเทศนี้ล้มละลายในบางส่วน เพราะฉะนั้นจะมีการตั้งคณะกรรมการชุดการค้าระหว่างประเทศขึ้นมาเพื่อพิจารณาปัญหาเหล่านี้ เพื่อลดผลกระทบและให้เกิดกระบวนการเตรียมความพร้อมอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
“แผนการจัดการที่ดิน การเกษตร แผนการจัดการน้ำ และแผนการจัดการพืชผลการเกษตร ไม่ว่าข้าว อ้อย มันสำปะหลัง ยางพารา ข้าวโพด ปาล์มน้ำมัน และปศุสัตว์ที่จะนำไปแข่งขันกับประเทศอาเซียน จำเป็นอย่างยิ่งที่จะมีการทำแผนแม่บท นำเสนอต่อรัฐบาล เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกร มีอำนาจต่อรอง มีชีวิตที่ดีขึ้น”
เกษตรกรคาดหวังกับสภาเกษตรฯมากน้อยแค่ไหน
สมาชิกสภาเกษตรกรลงทะเบียนไว้ประมาณ 20 ล้านคน เลือกคะแนนเสียงตั้งประมาณ 12 ล้านคนเกษตรกรทุกคนมีความคาดหวังกับสภาเกษตรกรแห่งชาติมากแต่เนื่องจากกฎหมายฉบับนี้ค่อนข้างจะขลุกขลักและออกมาบังคับใช้ช้าเกินไป ชาวนาบางส่วนอาจจะเสียความคาดหวังอยู่บ้าง หลายคน เสียความตั้งใจ จึงขอให้เกษตรได้เข้าใจในประเด็นนี้
“สภาฯจะร่วมกันทำงานโดยรีบด่วนเพื่อเกษตรกรได้ประโยชน์สูงสุด เพราะเข้าใจความเดือดร้อนเกษตรกร หลายเรื่องมีความซับซ้อน คงจะให้แล้วเสร็จโดยเร็วไม่ได้แต่ทั้งนี้การทำงานจะเป็นการคานน้ำหนักการพัฒนาไม่ให้โน้มเอียงไปที่ภาคอุตสาหกรรมมากจนเกินไป สภาเกษตรแห่งชาติไม่ได้ตั้งขึ้นมาเพื่อสร้างปัญหาให้รัฐบาลหรือสังคม สภาฯจะเป็นองค์กรที่ไม่ก้าวร้าวแต่จะช่วยและเสริมให้รัฐบาลทำนโยบายเพื่อความเป็นอยู่ประชาชนดีขึ้น”
นั่นคือคำยืนยันจากปากประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ เจ้าตัวบอกว่าแนวทางและการทำงานเป็นเพียงบางส่วน ในอนาคตจะมีการติดตามนโยบายรัฐบาลอีกหลายเรื่องสำเร็จตามเป้าประสงค์ที่วางไว้หรือไม่ เกษตรกรยังคงต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิด.
....................................................................
“ฉลอง เทพวิทักษ์กิจ”แนะสภาเกษตรฯเร่งหาคนรุ่นใหม่สืบทอดวิถีเกษตร
ฉลอง เทพวิทักษ์กิจ อดีตเลขาธิการสภาเกษตรกรเเห่งชาติ กล่าวถึงแนวทางการทำงานของสภาเกษตรกรแห่งชาติที่ควรจะเป็นพร้อมให้แง่คิดข้อเสนอแนะต่อบริบทการทำงานของสภาฯทั้งคณะว่า องค์กรถือเป็นส่วนสำคัญที่ต้องสร้างฐานการบริหารที่มีคุณภาพ รวมทั้งจัดหาสถานที่ทำงานของสภาฯให้แล้วเสร็จภายในพฤศจิกายน 2556 เพื่อรอการถ่ายโอนภารกิจทั้งหมดแก่สภาเกษตรกรแห่งชาติ เนื่องจากใช้บทเฉพาะกาลเพียง 2 ปี ส่วนงบประมาณดำเนินการนั้นต้องประสานกับรัฐบาล นอกจากนี้สภาเกษตรกรแห่งชาติต้องรีบหาวิธีสร้างความเชื่อมั่นกับคนรุ่นใหม่หันมาให้ความสำคัญภาคเกษตรมากขึ้น เพราะเกษตรกรรมนับเป็นความมั่นคงด้านอาหาร รัฐบาลจึงต้องดูแลเกษตรกรให้อยู่ดีกินดี จัดสรรราคาผลผลิตให้เป็นธรรม หากภาครัฐแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ ไทยจะเป็นแหล่งอาหารสำคัญที่สุดของโลกที่นานาประเทศต้องอิจฉาในความอุดมสมบูรณ์ของผืนดินไทย
“สังเกตว่าคนภาคใต้ที่เรียนหนังสือจบระดับปริญญาตรียังหันเหประกอบอาชีพกรีดยาง เพราะรายได้ดีและมั่นคง สิ่งสำคัญที่จะทำให้โครงการต่าง ๆ ของรัฐบาลทั้งในอดีตและปัจจุบัน หรืออนาคตที่สภาเกษตรกรแห่งชาติจะเป็นกระบอกเสียงแทนนั้น ภาคเกษตรต้องมีความซื่อสัตย์ในอาชีพ ทุกภาคส่วนต้องทำให้โครงการดำเนินไปตามวัตถุประสงค์ เช่น เกษตรกรควรจำนำข้าวตามความสามารถ อย่านำข้าวจากนอกประเทศเข้ามาหรือมีพ่อค้าคนกลางสวมสิทธิ์แอบอ้างจำนำ ดังนั้นเกษตรกร พ่อค้าคนกลาง ภาครัฐ ต้องซื่อสัตย์ซึ่งกันและกัน เพื่อทุกอย่างจะขับเคลื่อนตามกลไกของโครงการนั้น ๆ”
อย่างไรก็ตาม หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวต่อว่า ควรกำหนดขอบเขตนโยบายต่าง ๆ ระหว่างภาครัฐและเกษตรกรให้เดินในทิศทางเดียวกันโดยเฉพาะการเพิ่มผลผลิต การตลาด และราคาสินค้า และการรับมือภัยพิบัติ ซึ่งควรกำหนดไว้ในแผนแม่บทการพัฒนาเกษตรกรแห่งชาติ เพื่อเสนอให้รัฐบาลดำเนินการ นอกจากนี้ต้องทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานภาครัฐเชิงเกษตรกรรม สะท้อนปัญหาระดับฐานรากมาสู่ภาครัฐ สร้างกลไกการขับเคลื่อนอย่างใกล้ชิดในการแก้ปัญหา
"ขณะที่บทบาทของภาครัฐที่จะนำภาคเกษตรเข้าแข็งขันในประชาคมอาเซียน รัฐบาลต้องสร้างความมั่นใจเรื่องการป้องกันภาคเกษตรจากภัยธรรมชาติ เพราะคงไม่ดีแน่หากไทยเป็นผู้นำเออีซีท่ามกลางภัยพิบัติทางธรรมชาติในประเทศ โดยเฉพาะข้าวไทย ดังนั้นจึงต้องร่วมมือกับสภาเกษตรกรแห่งชาติกำหนดพื้นที่รับน้ำนอง ฟลัดเวย์พร้อมประกาศระยะเวลาเพาะปลูกให้สอดคล้องกับสภาพอากาศ"
.......................