เหตุเกิดที่ศาลปกครอง(อีกแล้ว)
การยกเลิกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกบุคคลที่เหมาะสมจะดำรงตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง ซึ่งเป็นผลพวงมาจากความขัดแย้งในการแต่งตั้งเลขาธิการศาลปกครองคนใหม่แทนนายไกรรัช เงยวิจิตร จึงไม่ควรนิ่งดูดายเป็นอย่างยิ่ง
การที่นายปิยะ ปะตังทา ประธานศาลปกครองสูงสุด ลงนามในคำสั่งเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2561 ยกเลิกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกบุคคลที่เหมาะสมจะดำรงตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง ถ้าดูเผินๆแล้วเหมือนจะเป็นปัญหาภายในของศาลปกครองที่ไม่มีผลกระทบใดๆต่อประชาชน แต่ถ้าไตร่ตรองอย่างละเอียดแล้ว หากปัญหาดังกล่าวไม่อาจแก้ไขให้ยุติลงโดยเร็วและกลายเป็นความขัดแย้งของผู้บริหารระดับสูงย่อมจนกระทบต่อการบริหารงาน และลุกลามจนในที่สุดส่งผลต่อภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือของศาลปกครอง
เมื่อ 3-4 ปีก่อนได้เกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงในศาลปกครอง โดยเริ่มจากการบริหารงานภายในของผู้บริหารระดับสูงบางคน มีการทำจดหมายหมายน้อยเพื่อฝากฝังข้าราชการตำรวจโดยอ้างชื่อประธานศาลปกครองสูงสุด ทำให้เรื่องลุกลามบานปลายใหญ่โต เกิดการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย มีการร้องเรียนถึงพฤติกรรมของผู้บริหารระดับสูงของศาล จนมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวน กระทั่งมีการลงโทษทางวินัยไล่ออกจากราชการ ศาลปกครองต้องใช้ระยะเวลาหนึ่งในการแก้ไขปัญหาฟื้นฟูเยียวยา
ดังนั้น การยกเลิกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกบุคคลที่เหมาะสมจะดำรงตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานศาลปกครองซึ่งเป็นผลพวงมาจากความขัดแย้งในการแต่งตั้งเลขาธิการศาลปกครองคนใหม่แทนนายไกรรัช เงยวิจิตร จึงไม่ควรนิ่งดูดายเป็นอย่างยิ่ง
สาเหตุที่ ประธานศาลปกครองสูงสุด ยกเลิกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการฯชุดดังกล่าวเพราะได้รับหนังสือร้องเรียนจาก นายเกียรติภูมิ แสงศศิธร ตุลาการหัวหน้าคณะในศาลปกครองชั้นต้น หนึ่งในผู้สมัครเข้ารับการคัดเลือก โดยอ้างว่า นายนพดล เฮงเจริญ รองประธานศาลปกครองสูงสุด ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือก ได้พูดจาโน้มน้าวต่อที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกฯ โดยอ้างความเห็นบุคคลระดับสูงในศาลปกครองว่า ข้าราชการฝ่ายสำนักงานศาลปกครองแสดงความไม่เห็นด้วยกับการที่จะให้ตุลาการศาลปกครองดำรงตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง เพราะจะเป็นอุปสรรคต่อความเจริญก้าวหน้าของข้าราชการฝ่ายสำนักงานฯ และอาจไม่ได้รับความร่วมมือหรือสนับสนุนในการทำงานสำนักงานศาลปกครองเท่าที่ควร
ทั้งนี้ ในการเปิดรับสมัครบุคคลเข้ารับการคัดเลือกเป็นเลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง มีผู้สมัครจำนวน 3 ราย ได้แก่ นายประเวศ รักษพล ตุลาการหัวหน้าคณะในศาลปกครองชั้นต้น นายเกียรติภูมิ แสงศศิธร และนายอติโชค ผลดี รองเลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง (อันดับ1)ซึ่งคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกฯ มีมติ 6 ต่อ1 เสียง เห็นว่า นายอติโชค ผลดี เป็นผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นเลขาธิการสำนักงานศาลปกครองคนใหม่ แต่ในการประชุมคณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง(ก.ศป.)เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2560 ซึ่งตามขั้นตอน นายปิยะ ประธานศาลปกครองสูงสุด จะต้องนำชื่อ นายอติโชค เสนอต่อก.ศป.เพื่อให้ความเห็นชอบ ปรากฏว่านายปิยะได้นำหนังสือร้องเรียนของนายเกียรติภูมิเสนอให้ที่ประชุม ก.ศป.พิจารณา ซึ่งที่ประชุมทักท้วงโดยเห็นว่า การพิจารณาหนังสือร้องเรียนดังกล่าว เป็นอำนาจหน้าที่ของประธานศาลปครองสูงสุด จึงไม่รับพิจารณา และเห็นว่า เมื่อประธานศาลปกครองสูงสุดแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกฯขึ้นมาแล้วย ต้องพิจารณาว่า เห็นชอบกับมติของคณะกรรมการคัดเลือกหรือไม่เสียก่อน ทำให้เรื่องค้างคาจนข้ามปี
จนกระทั่ง เมื่อวันที่ 7กุมภาพันธ์ 2561 ในการประชุม ก.ศป. นายปิยะ กลับเสนอชื่อ นายจำกัด ชุมพลวงศ์ ตุลาการหัวหน้าคณะศาลในศาลปกครองชั้นต้นและเป็นหนึ่งใน กรรมการ ก.ศป.ด้วย โดยไม่ได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกฯ ให้ ก.ศป. พิจารณาแต่งตั้งเป็น เลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง แต่ที่ประชุมไม่ยอมรับรายชื่อดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่า นายจำกัด ชุมพลวงศ์ ไม่เคยสมัครเข้ารับการคัดเลือกฯ และประธานศาลปกครองสูงสุดยังไม่ได้พิจารณาว่า เห็นชอบกับมติคณะกรรมการคัดเลือกฯหรือไม่
จึงทำให้เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2561 นายปิยะ ได้ลงนามในคำสั่งยกเลิกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกบุคคลที่เหมาะสมจะดำรงตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานศาลปกครองดังกล่าว แต่ประเด็นสำคัญที่ควรพิจารณาคือ การยกเลิกคณะกรรมการคัดเลือกฯเป็นการทำถูกต้องตามขั้นตอนหรือไม่ เพราะคณะกรรมการคัดเลือกฯชุดดังกล่าวได้ทำหน้าที่เสร็จสิ้นไปแล้วโดยมีมติเห็นสมควรเสนอชื่อนายอติโชค ผลดี ด้วยเสียง 6 ต่อ 1 การยกเลิกคณะกรรมการคัดเลือก จึงมิได้ทำให้มติของคณะกรรมการสิ้นผลไปด้วย
แต่นายปิยะควรมีคำสั่งให้ชัดเจนว่า เห็นด้วยกับผลการคัดเลือกของคณะกรรมการคัดเลือกฯหรือไม่ และแจ้งให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทราบ จากนั้นจึงแจ้งต่อที่ประชุม ก.ศป.พร้อมกับเสนอรายชื่อผู้สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นเลขาธิการสำนักงานศาลปกครองต่อที่ประชุมพิจารณาตามอำนาจในมาตรา 78 วรรคสองแห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองต่อไป
หลังจากที่สำนักข่าวอิศรา นำเสนอข่าวดังกล่าว นายประวิตร บุญเทียม ตุลาการหัวหน้าคณะในศาลปกครองสูงสุด ในฐานะโฆษกศาลปกครองได้ชี้แจงข้อเท็จจริงมีสาระสำคัญที่น่าสนใจดังนี้
หนึ่ง กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจของประธานศาลปกครองสูงสุดในการคัดเลือกผู้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง ไม่ใช่อำนาจของ ก.ศป.ที่จะเป็นผู้คัดเลือกเพียงแต่ต้องเสนอ ก.ศป ให้ความเห็นชอบเท่านั้น หาก ก.ศป ไม่เห็นชอบตัวบุคคลที่ประธานเสนอ ประธานก็ต้องคัดเลือกและเสนอชื่อคนใหม่ให้กศป ให้ความเห็นชอบต่อไป
สอง กฎหมายไม่ได้กำหนดวิธีการคัดเลือกเลขาการของประธานศาลปกครองสูงสุด ว่าต้องดำเนินการโดยวิธีใด และไม่ได้กำหนดให้ต้องตั้งคณะกรรมการคัดเลือก ดังนั้นหากมีการตั้งคณะกรรมการคัดเลือกก็เป็นเพียงวิธีการหนึ่งที่ประธานจะนำมาประกอบการพิจารณา โดยประธานไม่จำต้องคัดเลือกตามข้อเสนอของคณะกรรมการ
สาม สำหรับการคัดเลือกเลขาธิการสำนักงานศาลปกครองในครั้งนี้คณะกรรมการคัดเลือก ได้เสนอผลการคัดเลือกตามความเห็นของเสียงข้างมาก แต่มีข้อร้องเรียนเกี่ยวกับวิธีการคัดเลือกและความเหมาะสมของผู้ที่คณะกรรมการคัดเลือกเสนอ รวมทั้งมีข้อเรียกร้องให้การแต่งตั้งเลขาธิการในครั้งแรกหลังจากมีการแก้กฎหมาย ควรแต่งตั้งจากตุลาการประธานศาลปกครองสูงสุดพิจารณาแล้ว จึงไม่เสนอชื่อบุคคลที่คณะกรรมการคัดเลือกเสนอ และได้คัดเลือกผู้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการจากบุคคลอื่นที่มีความเหมาะสมมากกว่าและไม่มีข้อด่างพร้อยใดๆเสนอต่อ ก.ศป เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2561
สี่ ประธานศาลปกครองสูงสุดมีอำนาจตามกฎหมายในการคัดเลือกผู้ที่เหมาะสมและเป็นที่ไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการซึ่งกฎหมายกำหนดให้เลขาธิการที่มาจากตุลาการมีวาระการดำรงตำแหน่ง 2 ปี นอกจากนี้ หากเทียบเคียงกับแนวทางปฎิบัติของศาลยุติธรรม เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งประธานศาลฎีกา ผู้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการจะขอโอนกลับไปเป็นผู้พิพากษาเพื่อเปิดทางให้ประธานศาลฎีกาคนใหม่คัดเลือกเลขาธิการใหม่
จากคำชี้แจงดังกล่าว อาจเกิดคำถามว่า มีการตั้งธงกันไว้ก่อนแล้วว่า หลังจากแก้ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองญ เลขาธิการฯคนแรกต้องมาจากตุลาการซึ่งประธานศาลปกครองสูงสุดมีอำนาจตามที่จะเสนอแต่งตั้งโด้โดยไม่ต้องตั้งคณะกรรมการคัดเลือก กลับไม่ดำเนินการ แต่แต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกตามธรรเนียมปฏิบัติที่เคยทำกันมาก่อนหน้านี้ แต่เมื่อไม่ได้ผลตามที่ต้องการกลับยกเลิกเสีย อาจทำให้ไม่ได้รับการยอมรับได้
เมื่ออ้างว่า มีการร้องเรียนประธานคณะกรรมการคัดเลือกฯ เพื่อใข้เป็นเหตุล้มผลให้การคัดเลือกเสียไป กลับไม่ได้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนตามข้อกล่าวหาหรือสอบสวนทวนความให้ยุติว่า การร้องเรียนมีมูลเพียงพอที่จะต้องยกเลิกผลการคัดเลือกหรือไม่
อย่างน้อยที่สุดประธานคณะกรรมการคัดเลือกเป็นถึงรองประธานศาลปกครองสูงสุด ถ้าถูกร้องเรียนกล่าวหาว่า ไม่เป็นกลางย่อมได้รับความเสียหาย อย่างน้อยที่สุดควรเปิดโอกาสให้นายนพดล เฮงเจริญ ชี้แจง จึงนำไปไตร่ตรองใคร่ครวญว่าข้อร้องเรียนมีน้ำหนักเพียงพอที่จะต้องยกเลิกการสรรหาหรือไม่
การกระทำดังกล่าว รังแต่จะทำให้เกิดความขัดแย้งไม่ไว้วางใจกัน? และส่งผลกระทบต่อการทำงานร่วมกันของตุลาการชั้นผู้ใหญ่
ที่สำคัญคือบรรดาข้าราชการประจำในสำนักงานศาลปกครองที่ต้องมีหน้าที่คอยสนองตอบนโยบายของฝ่ายตุลาการจะมีปฏิกริยาอย่างไร ไม่อาจเป็นที่คาดคิดได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ชี้อำนาจเลือกอยู่ที่ ปธ.ศาลปค.สูงสุด! โฆษกรับ 'ปิยะ' สั่งล้มคกก.สรรหาเลขาฯสนง.ใหม่
เลือกเลขาฯสนง.ศาลปค.ใหม่วุ่น! ปิยะ สั่งล้มคกก.สรรหา ชงชื่อ'จำกัด'ปาดหน้า 'อติโชค'