วิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ เปิดจุดเด่นร่าง พ.ร.บ.ภาษี ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ฯ เวอร์ชั่น 1.0
จุดเด่นร่างกฎหมายภาษีที่ดินฯ คือ เรื่องของความง่าย ลดการใช้ดุลยพินิจ ใช้บัญชีประเมิน ใช้อัตราภาษีที่กำหนด กรมธนารักษ์ส่งราคาประเมินไปให้ท้องถิ่น ขณะที่อัตราภาษีเป็นอัตราก้าวหน้า มีน้อยเสียน้อย มีมากเสียมาก จึงสร้างความเป็นธรรม อีกทั้งมีระยะเวลาการปรับตัว ถือว่า เป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย
วันที่ 12 กุมภาพันธ์ หอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย จัดงานสัมมนาวิชาการ “'รวมประเด็นสำคัญ ร่าง พ.ร.บ.ภาษี ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ล่าสุด” ณ ห้อง Grand Ballroom ชั้น 3 โรงแรมดิเอมเมอรัลด์ กรุงเทพฯ ชั้น 3 โรงแรมดิเอมเมอรัลด์ กรุงเทพฯ
นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวเปิดงาน ตอนหนึ่งว่า ร่าง พ.ร.บ.ภาษี ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง กฎหมายนี้ไม่ใช่ของใหม่ เป็นของเดิม ที่รัฐบาลยกเลิก พ.ร.บ.ภาษีบํารุงท้องที่ และพ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน นำมารวบไว้ในร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฯ เพื่อเกิดความชัดเจน โปร่งใสเป็นธรรม ลดการใช้ดุลยพินิจ เป็นกฎหมายฉบับหนึ่งที่มีคนเข้ามาเกี่ยวข้องจำนวนมาก
“เรามีการรับฟังความคิดเห็นมาแล้วทั่วประเทศไม่ต่ำกว่า 5-6 ครั้ง ใช้เวลาเกือบปี ร่าง พ.ร.บ.ภาษี ที่ดินฯ ยังอยู่ในชั้นกรรมาธิการ ซึ่งได้นำข้อคิดเห็นมาปรับปรุง เพื่อให้พวกเราสามารถชำระภาษีตัวนี้ได้ ด้วยความเต็มใจ”
นายวิสุทธิ์ กล่าวถึงภาพใหญ่ที่มีผลกระทบต่อการคลังในอนาคต เรื่องแรก คือ เรื่องขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ แม้ไทยจะได้รับการจัดอันดับจากสถาบันระหว่างประเทศ มีการขยับอันดับขึ้นมาก ไม่ต่างจากประเทศเพื่อนบ้าน แต่เราก็มีข้อจำกัดหลายประเด็น ทั้งๆ ที่รัฐบาลพยายามแก้ไข ในเรื่องข้อกฎหมาย โครงสร้างพื้นฐาน การศึกษา นวัตกรรม สิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นภาระต่องบประมาณในอนาคต
“เราต้องยอมรับความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของไทยยังมีอยู่ โดยเฉพาะเกษตรกร เอสเอ็มอี ที่ขาดช่องทางการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ตลอดจนการจัดสรรทรัพยากรที่ดินไม่ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจอย่างเต็มที่ จึงต้องดำเนินนโยบายทางการคลังอย่างมีส่วนร่วม ให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างทั่วถึง เท่าเทียม” รมช.คลัง กล่าว และว่า ในอนาคตภาระทางการคลังอีก 7 ปีข้างหน้า เมื่อประเทศไทยเข้าสู้สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์จะส่งผลต่อกำลังแรงงาน ผลิตภาพการผลิต และภาระการคลังค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการสังคม รวมถึงรายจ่ายค่ารักษาพยาบาล
นายวิสุทธิ์ กล่าวถึง โครงสร้างการจัดเก็บภาษีของรัฐใน 100 ส่วน ตัวเลขปี 2558 มาจากฐานการบริโภค 49.4 % อีก 43.2% มาจากฐานเงินได้ 4.8% ฐานการค้าระหว่างประเทศ ฉะนั้น จะเหลือมาจากฐานทรัพย์สินแค่ 2.6% ซึ่งต่ำกว่าประเทศ OECD อยู่ที่ 5.5% บ้านเราเก็บได้ไม่ถึงครึ่ง
“การปฏิรูปภาษีทรัพย์สิน นโยบายบายรัฐบาลยืนยันว่า จะไม่เป็นภาระกับผู้มีรายได้น้อย กลุ่มเกษตรกร กลุ่มเอสเอ็มอี มีการลด ยกเว้นภาษีเกษตรกร และเจ้าของบ้านหลังแรก และยังแก้ปัญหาข้อด้อยโครงสร้างภาษีเดิมด้วย ดังนั้น ร่างกฎหมายที่ดิน ไม่ใช่ของใหม่ แต่เป็นสินค้าที่เราจับมาเขย่า ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ลดข้อด้อยของเดิม ลดความไม่สมดุล การจัดเก็บภาษีจากฐานภาษีประเภทต่างๆ ลดการจัดเก็บภาษีซ้ำซ้อน และลดการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ลง ใช้มูลค่าที่เป็นปัจจุบันในการคำนวนภาษี"
สำหรับร่างกฎหมายที่ดินฯ จะเป็นรายได้ท้องถิ่นในระยะยาวมีความสมดุลมากขึ้น รมช.คลัง กล่าวว่า วันนี้ท้องถิ่นเก็บภาษีได้เองแค่ 10% เท่านั้นเอง ที่เหลือรัฐบาลจัดส่งไปให้ ฉะนั้น อนาคตลดงบสนับสนุนจากส่วนกลางได้ ตามรัฐธรรมนูญ ระบุ ให้ท้องถิ่นจัดเก็บภาษีให้เพียงพอต่อการบริการสาธารณะ และเขียนต่อว่า หากท้องถิ่นยังเก็บภาษีได้ไม่พอ ให้รัฐบาลสนับสนุนตามความจำเป็น ถึงเวลาการปฏิรูปภาษีทรัพย์สินในระยะยาว
นอกจากนี้ ร่าง พ.ร.บ.ภาษี ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ยังลดความเหลื่อมล้ำ คนมีทรัพย์สินมากเสียมาก นายวิสุทธิ์ กล่าวว่า ส่งผลทำให้เจ้าของที่ดิน นำที่ดินมาใช้ประโยชน์ มีอุปทานที่ดินเพิ่มขึ้น ให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงทรัพยากรที่ดิน เพิ่มความรับผิดชอบของธุรกิจขนาดใหญ่
“ที่ผ่านมาภาษีโรงเรือน ซ้ำซ้อนฐานภาษีเงินได้ จากการให้เช่าทรัพย์สิน การประเมินค่ารายปี ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ อัตราภาษีกำหนดไว้ค่อนข้างสูง ภาษีบำรุงท้อง ฐานภาษีไม่เป็นปัจจุบันวันนี้ยังใช้ฐานภาษีปี 2521 มีการลดหย่อนจำนวนมาก อัตราภาษีถดถอยไม่น่าจะสอดคล้องหลักเศรษฐศาสตร์โดยทั่วไป”
รมช.คลังยังระบุถึงตำนานภาษีที่ดิน หลายรัฐบาลเริ่มผลักดันให้เกิดมาตั้งแต่ปี 2535 ไม่ต่ำกว่า 11 รัฐบาล นับรวมระยะเวลา 21 ปี จนรัฐบาลนี้ กระทรวงการคลังได้เสนอกฎหมายมาปี 2558 เข้าสภา2559 รับหลักการวาระแรก สิ้นเดือนมีนาคม 2560 ถึงวันนี้เหลืออีกสองเดือนปี
“ร่างกฎหมายที่ดินฯ มีการลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นหลายครั้ง หลายรอบ กรรมาธิการนำข้อคิดเห็นดำเนินการ ครั้งสุดท้าย 19 ธันวาคม 2560 มีการพิจารณาถึงความสามารถชำระภาษี ความเต็มใจจ่ายภาษี หลังการลงพื้นที่จึงพิจารณาเรื่องความสามารถการชำระ ความเต็มใจ มีการพิจารณาเรื่องอัตราเพดาน ในที่สุดปรับลดเพดานลงมา 40% จากของเดิม มีการกำหนดอัตราจัดเก็บภาษีที่ดินช่วง 2 ปีแรก เดิมทีร่างเดิมออกกฎหมายลูก แต่เพื่อให้ชัดเจนจะขึงไว้สองปี ท้องถิ่นไปปรับเพิ่มลดไม่ได้ ฉะนั้น 2 ปีจะมีการประเมิน ปีที่ 3 รัฐบาลพิจารณาความเหมาะสม
ประเด็นนอกจากปรับลดเพาดานภาษี มีการจัดทำบัญชีท้าย การยกเว้นภาษี และภาษีที่อยู่อาศัยหลักให้ยกเว้นไม่เกิน 20 ล้านบาท รมช.คลัง กล่าวว่า มีไม่ถึงครึ่งเปอร์เซ็นต์ คนส่วนใหญ่รับภาระน้อยมาก จัดเก็บจริงเริ่มต้น 0.02% เท่ากับล้านละ 200 บาท ตรงนี้เชื่อว่า น่ามีความสามารถในการจัดเก็บ คนที่มีบ้าน 20 ล้านบาทขึ้นไปมีแค่หลักหมื่นทั่วประเทศ ฉะนั้น รัฐบาลถือว่า บ้านเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ แต่คนมีมากกว่านั้นต้องเข้ามาดูแลสังคมบ้าง
“เรื่องเกษตรฯ รัฐไม่ได้มุ่งเน้นเก็บจากเกษตรกรรายย่อย ยกเว้นให้บุคคลธรรมดาถึง 50 ล้านบาท อัตราการจัดเก็บ 0.01 หรือล้านละ 100 ฉะนั้นถือว่าเป็นการวางกรอบวางรากฐานในอนาคตเท่านั้นเอง รายได้มากจากภาษีโรงเรือนเก่า พวกทำพาณิชย์ อุตสาหกรรม โครงสร้างของรายได้ภาษี 90% มากจากตรงนี้ ที่อยู่อาศัยกับเกษตร 10%”
นายวิสุทธิ์ กล่าวด้วยว่า จุดเด่นร่างกฎหมายภาษีที่ดิน คือ เรื่องของความง่าย ลดการใช้ดุลยพินิจ ใช้บัญชีประเมิน ใช้อัตราภาษีที่กำหนด กรมธนารักษ์ส่งราคาประเมินไปให้ท้องถิ่น เพื่อให้มีความง่าย ขณะที่อัตราภาษีเป็นอัตราก้าวหน้า มีน้อยเสียน้อย มีมากเสียมาก จึงสร้างความเป็นธรรม อีกทั้งมีระยะเวลาการปรับตัว ถือว่า เป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย อนาคตอปท. ก็จะมีรายได้ พัฒนาท้องถิ่น สุดท้ายรัฐบาลมีระบบภาษีที่ดินฯ ได้มาตรฐานสากล
“รัฐบาลไม่ต้องการสร้างภาระจนเกินควร ตรงนี้ไม่ใช่ภาษีใหม่เป็นภาษีเดิมที่ยกเลิก จึงเชื่อมั่นประชาชนได้ประโยชน์ ในที่สุดประชาชนเต็มใจเสียภาษี ในอดีตไม่เคยจ่าย วันหน้าเริ่มจ่ายคนไทยจะผูกพันกับท้องถิ่น วันนี้เรามีระยะเวลาในการปรับตัวให้”