ปูดอิตาเลียนไทยยื่นราคาสูงเกิน300ล.!กลุ่มธรรมาภิบาลฯร้องดีเอสไอสอบสายพานฯสุวรรณภูมิ3.7พันล.
กลุ่มธรรมภิบาล ร้อง 'ดีเอสไอ' สอบงานก่อสร้างอาคารที่พักคอยผู้โดยสารเครื่องบินรอขึ้นรถบัสรับ-ส่ง 'Bus Gate' สนามบินภูเก็ต ไม่ผ่านการประกวดราคา-ทำสัญญาว่าจ้างเป็นลายลักษณ์อักษรจัดซื้อเป็นทางการแล้ว พ่วงงานติดตั้งระบบสายพานลำเลียงกระเป๋า-เครื่องตรวจวัตถุระเบิด สุวรรณภูมิ 3.7 พันล้าน ข้องใจ 'อิตาเลียนไทย' เสนอราคาแข่งขันงานสูงเกินราคากลาง300ล. ชี้ผิดวิสัยผู้รับเหมาต้องการได้งาน
จากกรณีกลุ่มธรรมาภิบาล เครือข่ายภาคประชาชนต้านทุจริตและคอร์รัปชัน ได้ยื่นหนังสือถึง นายประสงค์ พูนธเนศ ประธานคณะกรรมการ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ให้ตรวจสอบความไม่โปร่งใสเกี่ยวกับการดำเนินงานโครงการก่อสร้างอาคารที่พักคอยผู้โดยสารเครื่องบินรอขึ้นรถบัสรับ-ส่ง (Bus Gate) สนามบินภูเก็ต ที่มีการว่าจ้างเอกชนมาทำงานโดยไม่ผ่านการประกวดราคาและไม่ได้ทำสัญญาว่าจ้างเป็นลายลักษณ์อักษร อาจเข้าข่ายการกระทำผิดต่อ พ.ร.บ. จัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานภาครัฐ พ.ศ. 2542 ปรากฏเอกสารหลักฐานยืนยันจากการบรรจุวาระการสอบสวนการกระทำผิดในโครงการดังกล่าวเป็นวาระลับ ในการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ครั้งที่ 14/2560 เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2560 ที่ผ่านมา (อ่านประกอบ : โชว์หลักฐานประชุมวาระลับทอท.!กลุ่มธรรมาภิบาลร้องสอบปมสร้างสนามบินภูเก็ตไร้ประกวดราคาจ้าง)
ล่าสุด นายวิวัฒน์ สมบัติหลาย ประธานกลุ่มธรรมาภิบาลฯ เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ได้เข้ายื่นหนังสือถึงอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ให้ตรวจสอบโครงการก่อสร้างอาคารที่พักคอยผู้โดยสารเครื่องบินรอขึ้นรถบัสรับ-ส่ง (Bus Gate) สนามบินภูเก็ต ที่มีการว่าจ้างเอกชนมาทำงานโดยไม่ผ่านการประกวดราคาและไม่ได้ทำสัญญาว่าจ้างเป็นลายลักษณ์อักษรเช่นกัน นอกจากนี้ ยังได้ยื่นเรื่องให้ดีเอสไอ ตรวจสอบงานจัดซื้อพร้อมติดตั้งระบบสายพานลำเลียงกระเป๋าและระบบตรวจจับวัตถุระเบิด โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ วงเงิน 3,798,716,176.38 บาท ด้วย
นายวิวัฒน์ กล่าวว่า งานจัดซื้อระบบสายพานลำเลียงกระเป๋าและระบบตรวจจับวัตถุระเบิด ของทอท. ตั้งราคากลางไว้ที่ 3,798,716,176.38 บาท มีเอกชน 3 รายเข้าร่วมประมูล คือ 1. บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD 2. นิติบุคคลร่วมทำงาน ล็อกซเล่ย์-แอลพีเอส ประกอบด้วย บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาขน) บริษัท ล็อกซเล่ย์ เพาเวอร์ ซิสเต็มส์ จำกัด 3. เอทีวี คอนซอร์เตียม ประกอบด้วย บริษัท แอร์พอร์ต ฟาซิลิตี้ จำกัด บริษัท แวนเดอร์แลนด์เด อินดัสทรีส์ (ประเทศไทย) จำกัด อย่างไรก็ดี ในขั้นตอนการเสนอราคาปรากฎข้อมูลว่า ล็อกซเล่ย์-แอลพีเอส เสนอราคาต่ำกว่าราคากลาง 180 ล้านบาท หรือประมาณ 3,618 ล้านบาท ส่วนเอทีวี คอนซอร์เตียม เสนอราคาเท่ากับราคากลาง ขณะที่ อิตาเลียนไทย เสนอราคางานสูงกว่าราคากลาง จำนวนกว่า 300 ล้านบาท หรือประมาณ 4,100 บาท
"จากข้อเท็จจริงดังกล่าว มีประเด็นที่น่าสงสัยว่าการเสนอราคาในส่วนของอิตาเลียนไทย ขัดกับวิสัยของผู้เสนอราคาทั่วไปหรือไม่ เพราะโดยปกติการเสนองานหากต้องการจะชนะการประมูลงาน จะต้องเสนอราคาต่ำกว่าราคากลางเท่านั้น ถึงจะมีโอกาศเป็นผู้ชนะ และในการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม จะไม่มีผู้ใดยอมเสนอราคาสูงกว่าราคากลางหรือยอมเสนอราคาเท่ากับราคากลาง ทางกลุ่มจึงได้ขอให้ทางดีเอสไอ เข้ามาตรวจสอบการเสนอราคางานโครงการนี้ด้วย" นายวิวัฒน์ระบุ