ฝุ่นละอองเพิ่มขึ้น กรมควบคุมมลพิษ 12 ก.พ.เกิน 2 สถานี ถนนอินทรพิทักษ์ -ลาดพร้าว
ฝุ่นละอองบรรยากาศเพิ่มขึ้น กรมควบคุมมลพิษ ชี้เช้านี้เกิน 2 สถานี ถนนอินทรพิทักษ์ -ลาดพร้าว กรีนพีช ตั้งข้อสังเกตุ สถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ บริเวณกรมประชาสัมพันธ์ ไม่มีการรายงานค่ามาหลายวันแล้ว เกิดอะไรขึ้น ลั่นถ้าเครื่องเสีย อะไหล่ขาด อยู่ใกล้ๆ ทำไมไม่ดูแล
วันที่ 12 กุมภาพันธ์ กรมควบคุมมลพิษ รายงานสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ประจำวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2561 ณ เวลา 8.00 น. ดังนี้
1. ปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 ตรวจวัดได้ระหว่าง 46-59 มคก./ลบ.ม. เกินเกณฑ์มาตรฐาน (50 มคก./ลบ.ม.) 2 สถานี ที่บริเวณริมถนนอินทรพิทักษ์ และริมถนนลาดพร้าว ปริมาณฝุ่นละอองมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกพื้นที่
2. กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์สภาพอากาศในพื้นที่ กทม. มีเมฆเป็นส่วนมาก กับมีหมอกในตอนเช้า โดยมีฝนบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 22-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-33 องศาเซลเซียส ความชื้น 94% ลักษณะเช่นนี้จะทำให้ฝุ่นละอองในบรรยากาศเพิ่มขึ้น
3. ประชาชนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง (ผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ และผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด) ที่อยู่อาศัย หรือต้องเข้าในพื้นที่ที่ฝุ่นละอองเกินมาตรฐาน หากจำเป็นต้องออกจากอาคาร ควรใส่หน้ากากอนามัย และหากมีอาการผิดปกติควรรีบพบแพทย์
ทั้งนี้กรมควบคุมมลพิษยังคงขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการกำกับดูแลกิจกรรมต่างๆ ที่อาจก่อให้เกิดฝุ่นละอองในพื้นที่ เช่น การใช้ยานพาหนะ การเผา และโดยเฉพาะการก่อสร้าง ให้มีมาตรการป้องกันการฟุ้งกระจายของฝุ่นละออง รวมทั้งรถบรรทุกขนส่งวัสดุก่อสร้างให้มีการปิดคลุมให้มิดชิด เพื่อที่จะช่วยลดปริมาณฝุ่นละอองลงได้
อย่างไรก็ตาม กรมควบคุมมลพิษ ได้ชี้แจงถึงกรณีมีการนำข้อมูลดัชนีคุณภาพอากาศของกรุงเทพมหานครจากเว็บไซด์ของ Worldwide Air Quality ไปใช้อ้างอิงและสื่อสารสู่สาธารณะ ดังเช่นการรายงานข่าวประจำวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2561 ได้มีการนำเสนอหัวข้อข่าว “กรุงเทพฯ ฝุ่นละออง PM2.5 เกินมาตรฐาน 3 เท่า สจล.จี้ภาครัฐควรเร่งแก้ไข” โดยอ้างอิงข้อมูลดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) จากเว็บไซด์ Worldwide Air Quality และระบุว่า กรุงเทพมหานครมีค่า PM2.5 อยู่ที่ระดับ 151 มคก./ลบ.ม. ในเขตพื้นที่ฝั่งธนถือว่าเกินค่ามาตรฐานถึง 3 เท่า นั้น
ทางกรมควบคุมมลพิษ ขอชี้แจงว่า ข้อมูลดัชนีคุณภาพอากาศที่แสดงในเว็บไซด์ Worldwide Air Quality เกิดจากทางเว็บไซด์ดังกล่าวนำข้อมูลผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศรายชั่วโมงของกรมควบคุมมลพิษที่เผยแพร่ผ่านเว็บไซด์ aqmthai.com ไปคำนวณและเปรียบเทียบโดยใช้เกณฑ์ดัชนีคุณภาพอากาศของ US.EPA ซึ่งจากข้อเท็จจริงผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2561 พบปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมง อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานทุกพื้นที่ โดยตรวจวัดได้อยู่ในช่วง 38-49 มคก./ลบ.ม. (มาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมง 50 มคก./ลบ.ม.)
สำหรับข่าวที่อ้างอิงค่าจากเว็บไซด์ Worldwide Air Quality และระบุว่าค่า 151 มคก./ลบ.ม. ความจริงแล้วค่าดังกล่าวเป็นค่าดัชนีคุณภาพอากาศ โดยเป็นการนำค่า PM2.5 ชั่วโมงล่าสุดไปคำนวณเพื่อเปลี่ยนเป็นค่าดัชนีคุณภาพอากาศตามเกณฑ์ของค่าดัชนีคุณภาพอากาศของ U.S. EPA ทำให้ค่าที่แสดงคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง เนื่องจากค่าดัชนีคุณภาพอากาศเป็นค่าที่ไม่มีหน่วย และระดับการแบ่งช่วงค่าและความหมายของสีที่ใช้ระหว่างดัชนีคุณภาพอากาศของประเทศไทยและของ U.S. EPA มีความแตกต่างกัน เนื่องจาก ระดับ AQI ที่ 100 โดยทั่วไปจะมีความสัมพันธ์กับค่ามาตรฐานคุณภาพอากาศที่แต่ละประเทศกำหนด ซึ่งค่ามาตรฐานระหว่างประเทศไทยและประเทศสหรัฐอเมริกายังมีความแตกต่างกัน ดังนั้นจึงไม่สามารถเปรียบเทียบกันได้
ในขณะนี้ กรมควบคุมมลพิษอยู่ระหว่างการปรับปรุงการคำนวณค่าดัชนีคุณภาพอากาศของประเทศไทย โดยจะนำค่า PM2.5 มาใช้ร่วมในการคำนวณ ควบคู่ไปกับการเร่งติดตั้งเครื่องตรวจวัด PM2.5 ให้ครบทุกสถานีตรวจวัด รวมถึงการปรับปรุงระบบฐานข้อมูลคุณภาพอากาศสำหรับใช้ในการคำนวณพร้อมทั้งการสื่อสารทำความเข้าใจค่าดัชนีคุณภาพอากาศต่อสาธารณชน
หากท่านใดประสงค์จะขอข้อมูลคุณภาพอากาศเพื่อการรายงานข้อมูลคุณภาพสู่สาธารณะที่ถูกต้อง หรือประสงค์จะตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลจากแหล่งอื่น รวมถึงหากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับข้อมูลหรือสถานการณ์คุณภาพอากาศสามารถเข้าไปดูที่เว็บไซด์ air4thai.pcd.go.th และ aqmthai.com หรือติดต่อและสอบถามได้ที่สำนักจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ
จับตากรมควบคุมมลพิษประชุมด่วน
ด้านนายธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้(ประเทศไทย) ระบุในเฟชบุคให้จับตากรณีกรมควบคุมมลพิษเรียกประชุมด่วนหน่วยงานต่างๆ ช่วงบ่ายวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ซึ่งต้องจับตาดูว่า หน่วยงานรัฐที่ใช้งบประมาณจากภาษีของประชาชนจะมีแผนทำอะไร
ขณะที่ถึงความเข้มข้นของมลพิษทางอากาศเปลี่ยนแปลงในแต่ละช่วงของวัน นายธารา ระบุว่า การรายงานดัชนีคุณภาพอากาศต้องทันท่วงทีในการให้คำแนะนำแนวทางป้องกันสุขภาพ การรายงานดัชนีคุณภาพอากาศโดยใช้ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงนั้นมีจุดอ่อนอย่างมาก ดัชนีคุณภาพอากาศคือค่าตัวเลขที่ใช้เพื่อรายงานคุณภาพอากาศรายวัน ทําให้เรารู้ว่าอากาศสะอาด หรือ สกปรกเพียงใดและอาจจะเกิดผลกระทบสุขภาพต่อกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องอย่างไรบ้าง ดัชนีคุณภาพอากาศจะเน้นถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสุขภาพของเราภายในสองสามชั่วโมงหรือหลายวันหลังจากที่หายใจเอาอากาศที่มีมลพิษเข้าไป
"แม้กรมควบคุมมลพิษจะอ้างว่ายังไม่มีเครื่องตรวจวัด PM2.5 ครอบคลุมทั้งประเทศ ต้องใช้เวลา 3 ปี การประกาศดัชนีคุณภาพอากาศที่รวม PM2.5 จึงทำไม่ได้ แต่เราจะต้องรออีกหลายปีท่ามกลางวิกฤตมลพิษทางอากาศที่ขยายตัวเพิ่มมากขึ้นกระนั้นหรือ? ขณะนี้ ประเทศไทยมีสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศที่ติดตั้งเครื่องวัด PM2.5 ที่มีอยู่ 25 แห่ง และการนำค่า PM10 เพื่อประมาณหาค่า PM2.5 เป็นสิ่งที่ทำได้ เพื่อยกระดับการรายงานและแจ้งเตือนคุณภาพอากาศที่เที่ยงตรงและทันเวลา เพื่อให้ทุกคนมีสิทธิเข้าถึงอากาศสะอาดและปกป้องสุขภาพและสุขภาวะที่ดี"
นอกจากนี้ นายธารา ยังตั้งข้อสังเกตุ สถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ(เป็นหนึ่งในจุดที่มีการตรวจวัด PM2.5) ที่ตั้งอยู่บริเวณกรมประชาสัมพันธ์ ไม่ไกลจากตึกของกรมควบคุมมลพิษนั้นไม่มีการรายงานค่ามาหลายวันแล้ว เกิดอะไรขึ้น? ถ้าเครื่องเสีย อะไหล่ขาด อยู่ใกล้ๆ ทำไมไม่ดูแล ไม่มีงบประมาณ แล้วเอาไปใช้ทำอะไรกัน? ถ้าไม่เพิกเฉย แล้วจะเรียกว่าอะไร