นโยบายศูนย์เรียนรู้เกษตรคสช.ส่อเหลว! สตง.พบปัญหานครสวรรค์-กำแพงเพชร คนใช้บริการน้อย
สตง. สุ่มตรวจศูนย์เรียนรู้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรตามนโยบาย คสช. จว.นครสวรรค์-กำแพงเพชร พบปัญหางานส่อไม่บรรลุผลสำเร็จตามที่ตั้งเป้าหมาย ไม่สามารถเป็นศูนยกลางถ่ายทอดเทคโนโลยีจริง จำนวนคนใช้บริการน้อย ขาดบูรณาการความร่วมมือหน่วยงานในพื้นที่ แถมลักษณะงานซ้ำซ้อนของเดิมที่มีอยู่แล้ว จี้หน่วยงานเกี่ยวข้อง-ผู้ว่าฯ หาทางปรับปรุงด่วน
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้เผยแพร่รายงานผลการตรวจสอบการดำเนินการศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ จำนวน 7 แห่ง และจังหวัดกำแพงเพชร จำนวน 6 แห่ง ตามนโยบายคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ต้องการให้มีศูนย์เรียนรู้การเกษตรในพื้นที่เพื่อให้เกษตรกรมีแหล่งเรียนรู้ทางการเกษตรจากเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จจากการปฏิบัติจริงในพื้นที่และรัฐบาลให้ความสำคัญ พบว่า การดำเนินการของศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรยังไม่บรรลุผลสำร็จตามวัตถุประสงค์ที่กรมส่งเสริมการเกษตรกำหนดเท่าที่ควร โดยจากการตรวจสอบการดเนินงานของ ศพก. เกี่ยวกับการบรรลุวัตถุประสงค์ประจำปีงบประมาณ 2559 พบว่าโดยรวม ศพก. ยังไม่สามารถดำเนินการให้บรรลุวัตถุประสงค์ได้เท่าที่ควร มีข้อมูลการสนับสนุน ดังนี้
1. ศพก. ยังไม่สามารถเป็นศูนย์กลางในการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตการบริหารจัดการและการตลาดแก่เกษตรกรรวมทั้งการให้บริการทางการเกษตรและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารในพื้นที่ได้ โดยจากการสัมภาษณ์เกษตรกรพบว่าทั้ง 2 จังหวัด มีเกษตรกรมาใช้บริการที่ ศพก. ในแต่ละด้านไม่ถึงร้อยละ 40 ของเกษตรกรที่สัมภาษณ์นอกจากนี้ยังไม่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการ ศพก. ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดและในส่วนของการจัดทำแผนพัฒนา ศพก. พบว่ามีเพียง 1 แห่งหรือคิดเป็นร้อละ 7.69 จากทั้งหมด 13 แห่ง คือ ศพก. อำเภอบรรพตพิสัยที่มีแผนเป็นรูปธรรม
2. ศพก. ยังไม่สามารถเป็นกลไกการบูรณาการการทำงานของหน่วยงานต่างๆ ในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาการเกษตรในพื้นที่ กล่าวคือด้านการบูรณาการการทำงานของหน่วยงานต่าง ๆ ในพื้นที่ พบว่า หน่วยงานต่าง ๆ ได้บูรณาการร่วมกันเฉพาะ (1) โครงการจัดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยี (Field day) ปี2558 (2) โครงการอบรมเพื่อเพิ่มผลิตภาพการผลิตของเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งปี2558/59 และจากปัญหาราคาสินค้าเกษตร เพื่อเป็นการช่วยเหลือแก่เกษตรกรที่ประสบภาวะภัยแล้งในปี2558/59 และปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ า และ (3) โครงการจัดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยี (Field day) และบริการการเกษตรเพื่อเริ่มต้นฤดูผลิตใหม่ ปี 2559 เพียง 3 โครงการนี้เท่านั้น แต่ในการปฏิบัติงานในภารกิจของแต่ละหน่วยงาน ยังคงปฏิบัติงานแยกส่วนกันไม่มีการ บูรณาการร่วมกัน
สตง.ระบุด้วยว่า อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะมี ศพก. กรมส่งเสริมการเกษตรได้มีการจัดตั้งศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบล (ศบกต.) ซึ่งตั้งมาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2543 หรือ 17 ปี มาแล้วซึ่งการดำเนินการของ ศบกต. มีลักษณะที่คล้ายคลึงกับ ศพก. เบื้องต้น สตง.มีข้อเสนอแนะให้เกษตรอำเภอเกษตรจังหวัด และผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณาดำเนินการปรับปรุงแก้ไขปัญหาการดำเนินงานที่เกิดขึ้นโดยเร็ว อาทิ ให้ศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบล (ศบกต.) ในพื้นที่อำเภอเดียวกัน พิจารณาจัดทำกิจกรรมส่งเสริมการเกษตรร่วมกับ ศพก. เพื่อให้เกษตรกรในทุกตำบลได้ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันผ่าน ศพก. พร้อมส่งเสริมและสนับสนุนให้ ศพก. ในแต่ละพื้นที่จัดทำแผนพัฒนา ศพก. ซึ่งประกอบด้วยข้อมูลของกิจกรรมการให้บริการหรือการถ่ายทอดความรู้ และระบุช่วงเวลาที่จะดำเนินการให้ชัดเจนด้วย
สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า สำหรับนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต้องการให้มีศูนย์เรียนรู้การเกษตรในพื้นที่ เพื่อให้เกษตรกรมีแหล่งเรียนรู้ทางการเกษตรจากเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จจากการปฏิบัติจริงในพื้นที่และรัฐบาลให้ความสำคัญ ดังนั้น กรมส่งเสริมการเกษตร จึงได้จัดตั้งศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2557 ให้เป็นเครื่องมือการดำเนินงานตามระบบส่งเสริมการเกษตร โดยเกษตรกรต้นแบบเป็นผู้บริหารจัดการศูนย์ฯ เพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาการเกษตรของชุมชน โดยใช้องค์ความรู้ที่เหมาะสมกับพื้นที่ รวมทั้งเป็นจุดที่ใช้เชื่อมโยงกับหน่วยงานของรัฐ และเป็นที่พบปะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของเกษตรกรในชุมชน ศพก. ในปัจจุบันปีงบประมาณ 2559 เป็นศูนย์เรียนรู้ของชุมชนทางการเกษตรในระดับอำเภอที่สอดคล้องกับชนิดของสินค้าหลักของอำเภอ อำเภอละ 1 ศูนย์ รวม 882 ศูนย์