ผู้สูงอายุไทยส่วนใหญ่ยังต้องทำงาน 3.2 ล้านคนกฎหมายแรงงานไม่คุ้มครอง-รายได้ต่ำ
สำนักงานสถิติฯ ชี้ผู้สูงอายุไทยกว่า 3.2 ล้านคนจาก 8.3 ล้านคนยังต้องทำงาน และเป็นแรงงานนอกระบบร้อยละ 90 ส่วนใหญ่อยู่ในภาคเกษตร รายได้เฉลี่ยเพียง 3,000 กว่าบาท จากมาตรฐานกว่า 12,000 บาท
วันที่ 17 เม.ย.55 สำนักงานสถิติแห่งชาติ เปิดเผยข้อมูลปี 2554 ว่าพบผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปี8.3 ล้านคน เป็นผู้ที่ทำงานกว่า 3.2 ล้านคน จำนวนนี้เป็นแรงงานในระบบเพียง310,000 คน หรือร้อยละแค่9.7 ขณะที่เป็นแรงงานนอกระบบที่ไม่ได้รับสวัสดิการและความคุ้มครองจากกฏหมายแรงงานถึง 2.9 ล้านคน หรือร้อยละ 90
ทั้งนี้แรงงานในระบบที่เป็นผู้สูงอายุ แยกเป็น อาชีพค้าขายร้อยละ 25.4 ด้านงานฝีมือและธุรกิจการค้าร้อยละ 16.7 พนักงานขายในร้านค้าร้อยละ 16.4 ด้านเกษตรกรรมและประมงร้อยละ 11.8 และผู้บัญญัติกฎหมาย ข้าราชการระดับอาวุโส ผู้จัดการร้อยละ 10.6ส่วนแรงงานนอกระบบที่เป็นผู้สูงอายุส่วนใหญ่อยู่ในภาคเกษตรและประมงร้อยละ 67 เป็นพนักงานบริการและพนักงานขายในร้านค้าร้อยละ 19.9 และด้านธุรกิจการค้าร้อยละ 6.8
สำนักงานสถิติแห่งชาติ ยังระบุว่าค่าจ้างและเงินเดือนผู้สูงอายุโดยภาพรวมมีค่าเฉลี่ย 12,609 บาท แยกเป็นผู้สูงอายุในภาคการค้าและบริการมีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนมากสุดกว่า 18,417 บาทภาคการผลิต 7,381 บาท และภาคเกษตรกรรม 4,427 บาท ส่วนผู้สูงอายุที่เป็นแรงงานนอกระบบมีค่าจ้างเฉลี่ยเพียง 3,833 บาท โดยภาคการผลิตมีรายได้เฉลี่ยมากสุดประมาณ 4,754 คนภาคการค้าและการบริการประมาณ 3,898 บาท ภาคเกษตรกรรมประมาณ 3,464 บาท .