ชี้อำนาจเลือกอยู่ที่ ปธ.ศาลปค.สูงสุด! โฆษกรับ 'ปิยะ' สั่งล้มคกก.สรรหาเลขาฯสนง.ใหม่
'ประวิตร บุญเทียม' โฆษกศาลปค. รับ 'ปิยะ ปะตังทา' ลงนามคำสั่งยกเลิกคกก.พิจารณาคัดเลือกเลขาธิการสนง.ศาลคนใหม่จริง หลังขอถอนเรื่องเสนอชื่อผู้เหมาะสมจากที่ประชุม ก.ศป. เหตุมีผู้ร้องเรียนขั้นตอนสรรหาไม่เหมาะสม ย้ำอำนาจอยู่ที่ ปธ.ศาลปค.สูงสุด ชี้ขาดใดใครเหมาะสมระหว่างตุลาการกับขรก. ส่วนผลการพิจารณาคกก.แค่ข้อมูลประกอบการตัดสินใจ
สืบเนื่องจากสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำเสนอข่าวปัญหาการสรรหาบุคคลเข้ามาดำรงตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานศาลปกครองคนใหม่ โดยมีข้อเท็จจริงปรากฎว่า เมื่อวันที่ 8 ก.พ.2561 ที่ผ่านมา นายปิยะ ปะตังทา ประธานศาลปกครองสูงสุด ได้ลงนามในคำสั่งยกเลิกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกบุคคลที่เหมาะสมจะดำรงตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง โดยอ้างมาตรา 78 วรรคสอง ตามพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 ที่ประธานศาลปกครองสูงสุด เป็นผู้พิจารณาคัดเลือกบุคคลที่เหมาะสมจะดำรงตำแหน่งเลขาธิการศาลปกครอง และเสนอคณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง (ก.ศป.) ให้พิจารณาแต่งตั้ง
ภายหลังจากที่ในการประชุม ก.ศป. เมื่อวันที่ 7 ก.พ. นายปิยะ ได้เสนอชื่อ นายจำกัด ชุมพลวงศ์ ตุลาการหัวหน้าคณะศาลชั้นต้น ซึ่งเป็นบุคคลที่ไม่ได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกฯ ให้ที่ประชุม ก.ศป. พิจารณาแต่งตั้งเป็นเลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง แทนชื่อ นายอติโชค ผลดี รองเลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง 1 ใน 3 ผู้สมัคร ที่ได้รับคะแนนเสียงข้างมากจากคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกฯ และถูกเสนอชื่อให้ที่ประชุม ก.ศป. พิจารณา
แต่ที่ประชุม ก.ศป. ไม่ยอมรับรายชื่อ นายจำกัด ชุมพลวงศ์ เนื่องจากเห็นว่าไม่ได้สมัครเข้ารับการพิจารณาด้วย ขณะที่คณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกฯ ได้เสนอชื่อ นายอติโชค ผลดี มาแล้ว และยังไม่มีคำสั่งให้ยกเลิกกระบวนการสรรหาเลขาธิการสำนักงานศาลปกครองที่แต่งตั้งไปแล้ว จึงทำให้ นายปิยะ ต้องลงนามในคำสั่งยกเลิกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกบุคคลที่เหมาะสมจะดำรงตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานศาลปกครองดังกล่าว และมีกระแสข่าวว่าจะมีการนัดประชุม ก.ศป. นัดพิเศษ เพื่อพิจารณาเสนอชื่อบุคคลที่เหมาะสมจะดำรงตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง ในวันที่ 14 ก.พ.2561 นี้ นั้น (อ่านประกอบ : เลือกเลขาฯสนง.ศาลปค.ใหม่วุ่น! ปิยะ สั่งล้มคกก.สรรหา ชงชื่อ'จำกัด'ปาดหน้า 'อติโชค')
ล่าสุด เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2561 นายประวิตร บุญเทียม ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุด ในฐานะโฆษกศาลปกครอง ให้สัมภาษณ์ชี้แจงสำนักข่าวอิศรา ต่อกรณีดังกล่าว ว่าเกี่ยวกับข่าวที่เกิดขึ้น ขอเรียนชี้แจงดังต่อไปนี้
1. กฎหมายได้แก้ไขใหม่ตามข้อเรียกร้องของตุลาการ ให้สามารถแต่งตั้งเลขาธิการสำนักงานศาลปกครองจากตุลาการหรือข้าราชการฝ่ายศาลปกครองก็ได้จากเดิมที่กำหนดให้แต่งตั้งจากข้าราชการเพียงอย่างเดียว ทั้งนี้การแก้ไขกฎหมายก็เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของเลขาธิการสอดคล้องเป็นทิศทางเดียวกับการพิจารณาพิพากษาคดีของศาล โดยเทียบเคียงจากการแต่งตั้งเลขาธิการ สำนักงานศาลยุติธรรมที่กฎหมายกำหนดให้ต้องแต่งตั้งจากเลขาธิการจากผู้พิพากษาเท่านั้น
2. กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจของประธานศาลปกครองสูงสุดในการคัดเลือกผู้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง ไม่ใช่อำนาจของ ก.ศป.ที่จะเป็นผู้คัดเลือกเพียงแต่ต้องเสนอ ก.ศป ให้ความเห็นชอบเท่านั้น หาก ก.ศป ไม่เห็นชอบตัวบุคคลที่ประธานเสนอ ประธานก็ต้องคัดเลือกและเสนอชื่อคนใหม่ให้กศป ให้ความเห็นชอบต่อไป
3. กฎหมายไม่ได้กำหนดวิธีการคัดเลือกเลขาการของประธานศาลปกครองสูงสุด ว่าต้องดำเนินการโดยวิธีใด และไม่ได้กำหนดให้ต้องตั้งคณะกรรมการคัดเลือก ดังนั้นหากมีการตั้งคณะกรรมการคัดเลือกก็เป็นเพียงวิธีการหนึ่งที่ประธานจะนำมาประกอบการพิจารณา โดยประธานไม่จำต้องคัดเลือกตามข้อเสนอของคณะกรรมการ
4.สำหรับการคัดเลือกเลขาธิการสำนักงานศาลปกครองในครั้งนี้คณะกรรมการคัดเลือก ได้เสนอผลการคัดเลือกตามความเห็นของเสียงข้างมาก แต่มีข้อร้องเรียนเกี่ยวกับวิธีการคัดเลือกและความเหมาะสมของผู้ที่คณะกรรมการคัดเลือกเสนอ รวมทั้งมีข้อเรียกร้องให้การแต่งตั้งเลขาธิการในครั้งแรกหลังจากมีการแก้กฎหมาย ควรแต่งตั้งจากตุลาการประธานศาลปกครองสูงสุดพิจารณาแล้ว จึงไม่เสนอชื่อบุคคลที่คณะกรรมการคัดเลือกเสนอ และได้คัดเลือกผู้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการจากบุคคลอื่นที่มีความเหมาะสมมากกว่าและไม่มีข้อด่างพร้อยใดๆเสนอต่อ กศป เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2561
5. ก.ศป. มีข้อสังเกตว่า ก่อนที่ประธานจะเสนอชื่อผู้อื่น ประธานควรยกเลิกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือก และแจ้งผู้สมัครทราบก่อนประธานจึงขอถอนเรื่องดังกล่าวออกจากการประชุมหลังจากนั้น ประธานจึงมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือก
6. ประธานศาลปกครองสูงสุดมีอำนาจตามกฎหมายในการคัดเลือกผู้ที่เหมาะสมและเป็นที่ไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการซึ่งกฎหมายกำหนดให้เลขาธิการที่มาจากตุลาการมีวาระการดำรงตำแหน่ง 2 ปีแต่หากมาจากข้าราชการฝ่ายศาลปกครองจะมีวาระการดำรงตำแหน่ง4 ปี ซึ่งหากเลขาธิการที่มาจากตุลาการครบวาระการดำรงตำแหน่ง 2ปี ก็จะมีการคัดเลือกเลขาธิการใหม่ ซึ่งจะขึ้นอยู่กับผู้ดำรงตำแหน่งประธานศาลปกครองสูงสุดในขณะนั้น ว่าเห็นว่าผู้ใดเหมาะสมและได้รับความไว้วางใจระหว่างตุลาการกับข้าราชการ
นอกจากนี้ หากเทียบเคียงกับแนวทางปฎิบัติของศาลยุติธรรม เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งประธานศาลฎีกา ผู้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการจะขอโอนกลับไปเป็นผู้พิพากษาเพื่อเปิดทางให้ประธานศาลฎีกาคนใหม่คัดเลือกเลขาธิการใหม่ ดังนั้น ข้าราชการฝ่ายศาลปกครองจึงยังสามารถดำรงตำแหน่งเลขาธิการได้ หากผู้ดำรงตำแหน่งประธานศาลปกครองสูงสุดในขณะนั้นเห็นว่ามีความเหมาะสม
นายประวิตร ยังกล่าวชี้แจงเพิ่มเติมว่า ในการประชุม ก.ศป. เมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2561 ที่ผ่านมา ประธานศาลปกครองสูงสุด ได้ขอถอนเรื่องการเสนอชื่อบุคคลที่เหมาะสมจะดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง ออกจากที่ประชุมก.ศป.ไปแล้ว หลังจากที่ประชุมได้มีข้อสังเกตว่า รายชื่อบุคคลที่ประธานศาลปกครองสูงสุดเสนอมา ไม่ได้เป็นหนึ่งในบุคคลที่ผ่านขั้นตอนการพิจารณาคัดเลือกจากคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกฯ แต่อย่างใด โดยบุคคลที่ผ่านขั้นตอนการคัดเลือกจากคณะกรรมการด้วยคะแนนเสียงข้างมาก คือ นายอติโชค ผลดี ขณะที่ประธานศาลปกครองสูงสุด ก็ยังไม่ได้มีคำสั่งยกเลิกคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกฯ ด้วย
อย่างไรก็ดี ล่าสุด ประธานศาลปกครองสูงสุด ได้ลงนามในคำสั่งยกเลิกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกไปแล้ว ตามข้อสังเกตของที่ประชุม ก.ศป. ส่วนจะมีการเสนอชื่อบุคคลให้ดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการสำนักงานศาลปกครองคนใหม่ เมื่อไร และเป็นใครนั้น ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของประธานศาลปกครองสูงสุดอีกครั้ง
นายประวิตร กล่าวย้ำว่า การพิจารณาคัดเลือกบุคคลที่เหมาะสมเข้ามาทำหน้าที่เป็นเลขาธิการศาลปกครอง เป็นอำนาจโดยตรงของประธานศาลปกครองสูงสุด ซึ่งกฎหมายปัจจุบันเปิดให้เลือกได้ทั้งจากข้าราชการหรือตุลาการ เทียบเคียงกับกฎหมายของศาลยุติธรรม โดยมีข้อกำหนดว่า เมื่อประธานเลือกบุคคลที่เหมาะสมได้แล้ว ให้นำเสนอชื่อเข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุม ก.ศป. ถ้าที่ประชุมให้ความเห็นชอบ ดูประวัติว่าไม่มีความด้างพร้อย มีข้อตำหนิ ก็พิจารณาให้ความเห็นชอบตามขั้นตอน แต่ถ้า ก.ศป.ไม่เห็นชอบ ประธานศาลปกครองก็กลับไปเลือกบุคคลมาใหม่
"ตามกฎหมายใหม่ อำนาจการเลือกเลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง เป็นอำนาจของประธานศาลปกครองโดยตรง ไม่จำเป็นต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาคัดเลือกตามกฎหมายเดิม แต่เพื่อให้เป็นไปตามธรรมเนียมปฏิบัติประธานศาลปกครอง จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณา แต่ถ้าประธานศาลปกครอง ไม่เห็นด้วยกับผลการพิจารณาของคณะกรรมการ ก็สามารถเสนอชื่อบุคคลที่ตนเองคิดว่าเหมาะสมให้ ก.ศป.พิจารณาได้ ดังนั้น การที่ประธานศาลปกครอง จะเสนอชื่อบุคคลที่ตนเองคิดว่ามีความเหมาะสม ให้ที่ประชุม ก.ศป. พิจารณาก็ไม่ได้ขัดต่อระเบียบกฎหมายแต่อย่างใด"
โฆษกศาลปกครอง ยังกล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ดี การที่กฎหมายใหม่ เปิดให้บุคคลที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง สามารถมาจาก 2 กลุ่ม คือ ข้าราชการ และตุลาการ ก็มีข้อที่แตกต่างกัน ในเรื่องวาระการดำรงตำแหน่ง กล่าวคือ ถ้ามาจากสายตุลาการ จะมีวาระดำรงตำแหน่ง 2 ปี แต่ถ้ามาจากสายข้าราชการ จะมีวาระ 4 ปี ทำงานได้ยาวนานกว่า ส่วนบุคคลที่มาจากสายตุลาการ ต้องถือว่าเป็นผู้ที่เสียสละมาก เพราะต้องยอมเปลี่ยนการทำงานจากการนั่งพิจารณาคดีว่าความ มาเป็นรับผิดชอบงานทางธุรการทั่วไป
เมื่อถามว่า มีการตั้งข้อสังเกตว่า การลงนามในคำสั่งยกเลิกคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกฯ ของนายปิยะดังกล่าว กำลังถูกจับตามองว่าจะเป็นชนวนเหตุความขัดแย้งครั้งใหม่ในศาลปกครอง เนื่องจากคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกฯ หลายคน ไม่พอใจกับท่าทีนายปิยะเรื่องนี้เป็นอย่างมาก
โฆษกศาลปกครอง ตอบว่า "คณะกรรมการบางท่านอาจจะมีความรู้สึกบ้าง แต่ผมเชื่อว่าคงไม่มีปัญหาบานปลายใหญ่โตอะไร เพราะทุกครั้งที่มีการถกเถียงเรื่องข้อกฎหมาย จนได้ข้อยุติ ทุกอย่างก็จบ ทุกคนก็ยอมรับ และที่สำคัญอำนาจการตัดสินใจว่าจะเลือกใครเข้ามาทำหน้าที่เป็นเลขาธิการสำนักงานศาลปกครองเป็นอำนาจโดยตรงของประธานศาลปกครองสูงสุดอยู่แล้ว"