องค์กรสิทธิ์จี้ทหารถอนแจ้งความสื่อตีข่าวซ้อมทรมาน ชี้เข้าข่าย "ฟ้องปิดปาก"
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม กลุ่มด้วยใจ และเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี ร่วมกันออกแถลงการณ์คัดค้านการดำเนินการของฝ่ายทหาร ที่แจ้งความดำเนินคดีสื่อออนไลน์ กรณีเผยแพร่บทสัมภาษณ์ชาวบ้านชายแดนใต้ถูกซ้อมทรมานหลังตกเป็นผู้ต้องสงสัยในคดีความมั่นคง
แถลงการณ์ใช้หัวข้อว่า "การรายงานข่าวไม่ใช่อาชญากรรม" อ้างถึงเหตุการณ์ที่ พ.อ.หาญพล เพชรม่วง ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 43 รับมอบอำนาจจากแม่ทัพภาคที่ 4 เดินทางไปที่ สภ.เมืองปัตตานี เมื่อวันศุกร์ที่ 9 ก.พ.61 เข้าแจ้งความดำเนินคดีบรรณาธิการเว็บไซต์สื่อออนไลน์แห่งหนึ่งที่รายงานบทสัมภาษณ์ผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคงชายแดนใต้ซึ่งอ้างว่าถูกซ้อมทรมานรูปแบบต่างๆ หลังจากถูกควบคุมตัวหลายครั้งในช่วงที่ผ่านมา
ข้อเรียกร้องของทั้ง 3 กลุ่มคือ ให้ฝ่ายทหารถอนแจ้งความ และยังเห็นว่า ประชาชนมีสิทธิในการตรวจสอบ วิพากษ์วิจารณ์ และตั้งคำถามต่อหน่วยงานและเจ้าหน้าที่รัฐได้ อันเป็นสิทธิอันชอบด้วยรัฐธรรมนูญและหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายหรือการกระทำของเจ้าหน้าที่ ขณะที่สื่อมวลชนก็มีหน้าที่เปิดพื้นที่ หรือสะท้อนข้อเท็จจริงและปัญหาที่เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่
นอกจากนั้น รัฐยังมีหน้าที่ในการปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของคนทุกคน ดังนั้นเมื่อปรากฏเป็นข่าว หรือมีกรณีร้องเรียนว่าเจ้าหน้าที่รัฐได้กระทำการอันไม่ชอบด้วยกฎหมาย รวมทั้งการซ้อมทรมานประชาชนที่ต้องสงสัยว่าจะเกี่ยวข้องกับความไม่สงบแล้ว หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องย่อมมีหน้าที่สืบสวนสอบสวนว่าอาจมีผู้กระทำความผิดตามข่าวหรือข้อร้องเรียนหรือไม่ หากพบว่าการรายงานข่าวหรือการร้องเรียนมีมูล หน่วยงานรัฐย่อมมีหน้าที่ในการแก้ไข หากไม่มีมูล ก็ชอบที่จะชี้แจงต่อสื่อมวลชนและต่อสาธารณะชนได้
ฉะนั้นการแจ้งความดำเนินคดีอาญากับสื่อมวลชนในกรณีนี้ นอกจากจะเป็นการลิดรอนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและลิดรอนสิทธิของประชาชนและสื่อในการตรวจสอบหน่วยงานของรัฐแล้ว ยังเป็นการส่งสัญญาณที่เข้าข่าย "การดำเนินคดีปิดปาก" หรือที่เรียกกันว่า SLAPP (Strategic Litigation against Public Participation)
ยิ่งไปกว่านั้น การตอบโต้ของฝ่ายทหาร ย่อมมีผลให้ประชาชนที่อาจตกเป็นเหยื่อการกระทำโดยมิชอบของเจ้าหน้าที่ ไม่กล้าที่จะเปิดเผยเรื่องร้องเรียนต่อสาธารณะและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งนอกจากจะมีผลให้รัฐสูญเสียโอกาสในการปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้สามารถทำหน้าที่ในการปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่รัฐบางคนใช้อำนาจหน้าที่ในทางไม่ชอบต่อไป และทำให้เกิดช่องว่าง ความห่างเหิน และความไม่ไว้วางใจระหว่างประชาชนและหน่วยงานของรัฐในที่สุด อันจะเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของสังคมอย่างยิ่ง
--------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : พ.อ.หาญพล ขณะไปแจ้งความดำเนินคดีกับสื่อที่ สภ.เมืองปัตตานี
อ่านประกอบ : ทหารแจ้งจับสื่อ-ขู่ฟ้อง 10 ล้าน ตีข่าว"ซ้อมผู้ต้องสงสัย"