วรวรรณ ธาราภูมิ: กรณีเสือดำ
"เนื่องจากบริษัทนี้เป็นกิจการที่ได้รับงานใหญ่จากภาครัฐ ถ้าภาครัฐเห็นความสำคัญของการพิทักษ์สิ่งแวดล้อมและการกระทำที่ไม่ผิดต่อกฎหมาย ก็ควรส่งความกดดันไปยังกิจการ เพื่อให้ความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายยังคงอยู่ และมีความเป็นธรรมเมื่อเทียบกับกรณีอื่นๆ ที่เคยเกิดขึ้น"
กรณีเสือดำ......
1. ไม่มีรายชื่อบริษัทนั้นอยู่ใน Stock Universe ที่ลงทุนได้ของกองทุนรวมธรรมาภิบาลไทย ของ 11 บลจ.
2. เท่าที่ทราบ บริษัทและผู้บริหาร ไม่ได้ทำผิดต่อ พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ จึงอยู่นอกเหนือขอบข่ายการพิจารณาความผิดของ กลต. แต่อาจจะผิดต่อกฎหมายอื่นๆ ซึ่งเป็นเรื่องต้องพิสูจน์ สืบสวน สอบสวน กันต่อไป
3. หากผู้บริหารระดับสูงของกิจการใดใด กระทำผิดต่อกฎหมายอื่นๆ เป็นส่วนตัว (ไม่ใช่ ผิดกฎหมายหลักทรัพย์) เช่น ไปทำร้ายหรือฆ่าใคร ไปลักทรัพย์คนอื่น ฯลฯ ... ผลกระทบต่อบริษัทน่าจะขึ้นอยู่กับคณะกรรมการของบริษัทนั้นๆ ว่าจะพิจารณาผู้บริหารรายนั้นๆ อย่างไรให้เหมาะสม โดยคำนึงถึง "Reputation Risk" ของบริษัท (ความเสี่ยงที่มีผลกระทบต่อชื่อเสียงของกิจการ จนอาจส่งผลต่อการทำธุรกิจ) ซึ่งเสียงสะท้อนจากสาธารณชนจะมีส่วนกดดัน
4. เอกสารบรรษัทภิบาล ปี 2561 ของบริษัทนี้ที่ประกาศต่อผู้ลงทุนและสาธารณชน ระบุในหน้า 10 ว่า "บริษัทฯ มีนโยบายในการปฏิบัติต่อผู้มีส่วนได้เสียแต่ละกลุ่มไว้อย่างไรบ้าง โดยข้อ 6. ด้านสังคมส่วนรวม ระบุว่า บริษัทฯ จะไม่กระทำการใดๆ ที่จะส่งผลเสียหายต่อสังคม ทรัพยากรธรรมชาติและสภาพแวดล้อม อีกทั้งยังต้องแสวงหาโอกาสสนับสนุนกิจกรรมสร้างสรรค์สังคม ปลูกฝังจิตสำนึกของความรับผิดชอบต่อสังคมให้เกิดขึ้นในหมู่พนักงานทุกระดับอย่างต่อเนื่องและจริงจัง รวมทั้งปฏิบัติหรือควบคุมให้มีการปฏิบัติอย่างเคร่งครัดตามเจตนารมย์ของกฎหมายและกฏระเบียบที่ออก"
และในหน้า 11 เรื่องจริยธรรมธุรกิจและจรรยาบรรณ ระบุในหน้า 13 ข้อ 1.6 เรื่องผู้บริหารต่อสังคมส่วนรวม เอาไว้ว่า "ไม่กระทำการใดๆ ที่จะมีผลเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติ และสภาพแวดล้อม"
กรณีนี้ จึงน่าจะเป็นเรื่องที่คณะกรรมการบริษัทจะพิจารณา ซึ่งมีการกำหนดบทลงโทษสำหรับการฝ่าฝืนข้อกำหนดจริยธรรมและจรรยาบรรณพนักงานเอาไว้ว่า ... “ผู้ฝ่าฝืนจะถูกลงโทษทางวินัย โดยเริ่มตั้งแต่การตักเตือนด้วยวาจา การตักเตือนเป็นหนังสือ ตัดเบี้ยเลี้ยง ตัดค่าจ้าง พักงานชั่วคราวโดยไม่ได้รับค่าจ้าง หรืออาจให้ออกจากงาน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความร้ายแรงของความผิดนั้น หรืออาจถูกลงโทษตามกฎหมาย แล้วแต่กรณี”
5. เนื่องจากบริษัทนี้เป็นกิจการที่ได้รับงานใหญ่จากภาครัฐ ถ้าภาครัฐเห็นความสำคัญของการพิทักษ์สิ่งแวดล้อมและการกระทำที่ไม่ผิดต่อกฎหมาย ก็ควรส่งความกดดันไปยังกิจการ เพื่อให้ความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายยังคงอยู่ และมีความเป็นธรรมเมื่อเทียบกับกรณีอื่นๆ ที่เคยเกิดขึ้น
วรวรรณ ธาราภูมิ
8 กุมภาพันธ์ 2561
(ความเห็นส่วนตัว)
หมายเหตุ : เรื่องจาก FB : วรวรรณ ธาราภูมิ ภาพจาก http://m.th.mobomarket.net