กทม. อากาศเย็น มีหมอก-ฝุ่นละอองพุ่งเกินทุกสถานี
กรมควบคุมมลพิษ รายงานสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5เกินเกณฑ์มาตรฐาน 5 สถานี ได้แก่ บริเวณเขตบางนา เขตวังทองหลาง ริมถนนอินทรพิทักษ์ ริมถนนพระราม 4 และริมถนนลาดพร้าว โดยปริมาณฝุ่นละอองมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
วันที่ 8 กุมภาพันธ์ กรมควบคุมมลพิษ รายงานสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ณ เวลา 8.00 น. ดังนี้
1. ปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 ตรวจวัดได้ระหว่าง 69-94 มคก./ลบ.ม. เกินเกณฑ์มาตรฐาน (50 มคก./ลบ.ม.) 5 สถานี ได้แก่ บริเวณเขตบางนา เขตวังทองหลาง ริมถนนอินทรพิทักษ์ ริมถนนพระราม 4 และริมถนนลาดพร้าว โดยปริมาณฝุ่นละอองมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
2. กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์สภาพอากาศในพื้นที่ กทม. อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า และอุณหภูมิจะสูงขึ้น 1-3 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 20-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-33 องศาเซลเซียส ความชื้น 88% ลักษณะเช่นนี้จะทำให้ฝุ่นละอองในบรรยากาศสะสมเพิ่มขึ้นได้
3. ประชาชนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ และผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด หากจำเป็นต้องออกจากอาคาร ควรใส่หน้ากากอนามัย และหากมีอาการผิดปกติควรรีบพบแพทย์ รวมทั้งขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการกำกับดูแลกิจกรรมต่างๆ ที่อาจก่อให้เกิดฝุ่นละอองในพื้นที่ โดยเฉพาะการใช้ยานพาหนะ การเผา และการก่อสร้าง เพื่อที่จะช่วยลดระดับความรุนแรงของสถานการณ์ลงได้
ทางด้านนายธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้(ประเทศไทย) ระบุสาเหตุของการเกิดฝุ่นขนาดเล็ก PM2.5 ว่า สาเหตุหลักมาจากยานยนต์ในกรุงเทพฯ และอีกส่วนมาจากการกระจายของมลพิษทางอากาศจากโรงไฟฟ้าถ่านหินที่อยู่ในเขตชายฝั่งทะเลตะวันออกโดยเฉพาะเขตมาบตาพุด จังหวัดระยอง
"อันนี้ไม่ได้ทึกทักนะครับ ผมเอามาจากผลการคำนวณแบบจำลองบรรยากาศ (Atmospheric Modeling) ที่ดำเนินการโดยทีมวิจัย Atmospheric Chemistry Modeling ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด โดยใช้เครื่องมือที่เรียกว่าแบบจำลองการเคลื่อนที่ของเคมีในบรรยากาศ (Atmospheric chemistry-transport model- GEOS-Chem) ซึ่งระบุว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินบีแอลซีพีและเก็คโค-วัน ยังส่งผลกระทบต่อคุณภาพอากาศของแหล่งท่องเที่ยวบริเวณใกล้เคียงอย่างเกาะเสม็ด เกาะแสมสารและพัทยา รวมทั้งกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงกันยายน เมื่อลมพัดจากทางทิศใต้มายังทิศตะวันตกเฉียงใต้(ดูภาพแรกแสดงทิศทางของกระแสลม) และในช่วงสภาวะอากาศที่แย่ที่สุด ในแต่ละวันฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอนจากโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งสองแห่งสามารถแพร่ กระจายเข้าสู่พื้นที่แหล่งท่องเที่ยวในสัดส่วนร้อยละ 40 และในเขตกรุงเทพมหานครร้อยละ 20 เมื่อเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยรายปี" นายธาราระบุ
ด้านกรีนพีซ ประเทศไทย ได้ออกเตือนประชาชนในพื้นที่ให้งดทำกิจกรรมกลางแจ้ง เนื่องจากพบว่านอกจากพื้นที่กรุงเทพฯที่มีค่าฝุ่นในระดับอันตรายต่อสุขภาพแล้ว ยังมีอีกหลายพื้นที่ในประเทศไทย เช่น เชียงใหม่ ระยอง ลำปาง ขอนแก่น มีค่าเฉลี่ยดัชนีคุณภาพอากาศรายชั่วโมงที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ (สีแดง) และที่หนักสุดคือ หน้าพระลาน สระบุรีคุณภาพอากาศอยู่ในระดับอันตราย มีผลกระทบสุขภาพ
(ดัชนีคุณภาพอากาศบริเวณ หน้าพระลาน จ.สระบุรี อยู่ในระดับอันตรายขั้นสุด)
(ดัชนีคุณภาพอากาศในพื้นที่ต่างๆ เช่นเชียงใหม่ระยองลำปางขอนแก่นมีค่าเฉลี่ยดัชนีคุณภาพอากาศรายชั่วโมงที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ (สีแดง) )