ฉบับเต็ม! สตง.ชำแหละทำนาขั้นบันไดน่าน แบ่งซอยงาน-เบิกเงินเกิน กลิ่นทุจริตโชย?
"...สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดน่าน จัดทำสัญญาจ้างเหมาดำเนินการ ด้วยวิธีตกลงราคา รวมจำนวนทั้งสิ้น 64 สัญญา มูลค่าตามสัญญารวม12,562,000.00 บาท โดยจัดทำสัญญาจ้างตามพื้นที่ของโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จำนวน 19 แห่ง จำนวนเนื้อที่ดำเนินการรวม 800ไร่ พบว่าการจัดทำสัญญาจ้างเหมาดำเนินการขุดปรับแต่งพื้นที่ ในพื้นที่ดำเนินการโครงการ จำนวน 7 แห่ง จัดทำสัญญาจำนวน 14 สัญญา จำนวนเงินรวม 4,287,500.00 บาท มีการลดวงเงินเพื่อให้สามารถจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีตกลงราคา ซึ่งหากรวมมูลค่าสัญญาจ้างแล้ว วงเงินจะเกินกว่าวิธีการจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีตกลงราคา หรือมีมูลค่ามากกว่า 500,000.00 บาท การปฏิบัติดังกล่าวไม่เป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 22 กำหนดให้การแบ่งซื้อหรือแบ่งจ้างโดยลดวงเงินที่จะซื้อหรือจ้างในครั้งเดียวกันเพื่อให้วงเงินต่ำกว่าที่กำหนดโดยวิธีหนึ่งวิธีใด หรือเพื่อให้อำนาจสั่งซื้อสั่งจ้างเปลี่ยนไป จะกระทำมิได้..."
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำข้อมูลสรุปผลการตรวจสอบ การดำเนินงานโครงการส่งเสริมการทำนาขั้นบันไดบนพื้นที่สูง วงเงินกว่า 15 ล้านบาท ของ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดน่าน ที่ถูกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างงานและการเบิกจ่ายงบประมาณไม่ถูกต้องตามข้อเท็จจริงหลายประเด็น อาทิ การแบ่งสอยงานรับจ้าง รวมไปถึงการเบิกเงินว่าจ้างเกินกว่าเนื้องานจริง เบื้องต้น สตง. เห็นสมควรให้ผู้ว่าราชการจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนข้อเท็จจริง พร้อมแจ้งรายชื่อ และข้อมูลผู้รับจ้างตามสัญญาจ้างเหมา ให้สำนักงานสรรพากรพื้นที่น่าน ตรวจสอบข้อมูลการเสียภาษีเพิ่มเติมด้วย มานำเสนอให้สาธารณชนรับทราบไปแล้ว (อ่านประกอบ : สตง.พบพิรุธทำนาขั้นบันไดน่าน แบ่งซอยงาน เบิกเงินเกิน-จี้ผู้ว่าฯสอบภาษีรับเหมา64สัญญารวด)
เพื่อให้สาธารณชนรับทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้นในการดำเนินงานโครงกรนี้มากขึ้น ล่าสุดสำนักข่าวอิศรา นำรายงานผลการตรวจสอบฉบับเต็ม ของ สตง. มานำเสนอแบบชัดๆ อีกครั้งดังนี้
--------------------
โครงการส่งเสริมการทำนาขั้นบันไดบนพื้นที่สูง งบประมาณ 15,816,000.00 บาท เป็นโครงการตามแผนปฏิบัติราชการประจำปีงบประมาณ 2559 ของจังหวัดน่าน โดยมีสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดน่านเป็นหน่วยงานรับผิดชอบดำเนินการ
ความเป็นมาของโครงการสืบเนื่องจากความต้องการพื้นที่ทำกินซึ่งมีอยู่อย่างจำกัด โดยเฉพาะพื้นที่สำหรับปลูกข้าวเพื่อบริโภคในครัวเรือน ส่งผลให้มีการบุกรุก ยึดถือ ครอบครองพื้นที่บนพื้นที่สูง ซึ่งเป็นพื้นที่ต้นน้ำลำธารเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับการขยายพื้นที่เพื่อปลูกพืชเชิงเดี่ยวอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อเนื่องมาสู่การชะล้างพังทลายของหน้าดิน เสี่ยงต่อการเกิดปัญหาน้ำท่วม การตกตะกอนในแหล่งน้ำธรรมชาติ ปัญหาเรื่องสารเคมี สมดุลของระบบนิเวศแหล่งน้ำ และปัญหาอื่นๆ อีกมากมายตามมาเพื่อปรับเปลี่ยนวิธีการทำนาจากรูปแบบเดิมของราษฎรในพื้นที่สูงของจังหวัดน่าน จากการทำนาในรูปแบบข้าวไร่หมุนเวียน มาเป็นการทำนาแบบหยอดหรือนาดำขั้นบันได ซึ่งผลผลิตข้าวเปลือกจะเพิ่มมากขึ้นประมาณ 1 เท่าตัว และส่งเสริมสนับสนุน เพิ่มศักยภาพในการทำนาขั้นบันไดและส่งเสริมการอนุรักษ์และพัฒนาแหล่งน้ำให้มีปริมาณที่เพียงพอต่อการอุปโภค บริโภคในพื้นที่จังหวัดน่าน
สำนักงานทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมจังหวัดน่าน จึงได้จัดทำโครงการส่งเสริมการทำนาขั้นบันไดบนพื้นที่สูง และได้รับอนุมัติโครงการ/กิจกรรม ตามแผนปฏิบัติราชการประจำปีของจังหวัดน่านต่อเนื่องหลายปีตั้งแต่ปีงบประมาณ 2557จนถึงปีงบประมาณ 2560 รวมเป็นงบประมาณ51,326,400.00 บาท พื้นที่ดำเนินการกว่า 2,239 ไร่
สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน โดยสำนักตรวจสอบพิเศษภาค 9 ได้ตระหนักถึงความสำคัญที่จะต้องมีการตรวจสอบการดำเนินงานโครงการส่งเสริมการทำนาขั้นบันไดบนพื้นที่สูง ปีงบประมาณ 2559 เพื่อให้ทราบว่าผลการดำเนินโครงการในกิจกรรมส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพการทำนาขั้นบันไดบนพื้นที่สูง ซึ่งดำเนินการโดยจัดทำสัญญาจ้างทั่วไป จำนวน 64 สัญญา เป็นเงินเบิกจ่ายทั้งสิ้น 12,562,000.00 บาท เป็นไปตามวัตถุประสงค์ได้ผลตามเป้าหมายและมีผลคุ้มค่าหรือไม่ รวมทั้งเพื่อให้ทราบถึงปัญหาอุปสรรคและข้อเสนอแนะในการปรับปรุงพัฒนาการดำเนินงานโครงการต่อไป
จากการตรวจสอบพบประเด็นข้อตรวจพบ 2 ประเด็น สรุปได้ดังนี้
ข้อตรวจพบที่ 1 การจัดทำนาขั้นบันไดไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้
จากการตรวจสอบพื้นที่ของเกษตรกรจำนวน 53 แปลง จำนวนเงินเบิกจ่ายรวม3,462,550.62 บาท พบว่า การจัดทำนาขั้นบันไดไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ กล่าวคือ สัญญาจ้างทั่วไปจ้างเหมาดำเนินการสำรวจ รังวัด และกำหนดแนวขุด ปักหลักแนวดิ่งและแนวระดับ จำนวนเนื้อที่ 219 ไร่ 1 งาน 58 ตารางวา แต่ดำเนินการจริงเพียง จำนวน 62 ไร่ 2 งาน 64 ตารางวา ต่ำกว่าเป้าหมายตามสัญญาจ้างทั่วไป เป็นจำนวน 156 ไร่ 2 งาน 94 ตารางวา สัญญาจ้างทั่วไปจ้างเหมาดำเนินการขุดปรับแต่งพื้นที่ จำนวนเนื้อที่ 220 ไร่ 1 งาน 58 ตารางวา แต่ดำเนินการจริงเพียงจำนวน 62 ไร่ 2 งาน 64 ตารางวา ต่ำกว่าเป้าหมายตามสัญญาจ้างทั่วไป เป็นจำนวน 157 ไร่ 2 งาน 94 ตารางวา และสัญญาจ้างทั่วไปจ้างเหมาดำเนินการติดตั้งระบบน้ำเข้าสู่พื้นที่นา จำนวนเนื้อที่
221 ไร่ 1 งาน 58 ตารางวา แต่ดำเนินการจริงเพียง จำนวน 5 ไร่ 1 งาน 6 ตารางวา ต่ำกว่าเป้าหมายตามสัญญาจ้างทั่วไป เป็นจำนวน 216 ไร่ 52 ตารางวา
และจากการตรวจสอบสังเกตการณ์การใช้ประโยชน์จากนาขั้นบันไดของเกษตรกรทั้ง53 แปลง ดังกล่าวพบว่า ไม่มีการปรับเปลี่ยนการปลูกข้าวไร่หมุนเวียนมาเป็นการทำนาแบบหยอดหรือนาดำขั้นบันได และเกษตรกรส่วนใหญ่ใช้ประโยชน์จากนาขั้นบันไดผิดวัตถุประสงค์ จำนวน 50 แปลง คิดเป็นร้อยละ 94.34 ของจำนวนพื้นที่ที่สังเกตการณ์โดยพื้นที่ของเกษตรกรจำนวน 26 แปลง จำนวนเงินเบิกจ่ายรวม 1,835,544.35 บาท ไม่มีการขุดปรับแต่งพื้นที่ให้เป็นนาขั้นบันได และพื้นที่ของเกษตรกรจำนวน 24 แปลง จำนวนเงินเบิกจ่าย 1,297,646.26 บาท มีการขุดปรับแต่งพื้นที่ให้เป็นนาขั้นบันได แต่พบว่าเกษตรกรไม่มีการปลูกข้าวแบบนาดำขั้นบันได ยังคงปลูกข้าวไร่หมุนเวียนไร่ข้าวโพด และพืชผัก เกษตรกรบางรายไม่ทำการเพาะปลูก ปล่อยพื้นที่รกร้าง
ข้อตรวจพบที่ 2 การดำเนินงานด้านพัสดุ และการเบิกจ่ายไม่เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ และหนังสือสั่งการที่เกี่ยวข้อง
1. เบิกจ่ายเงินงบประมาณไม่เป็นไปตามรายการประกอบการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายโดยลดจำนวนเนื้อที่นาขั้นบันไดบนพื้นที่สูง ตามที่สำนักงบประมาณอนุมัติ จำนวน 1,500 ไร่ เป็นจำนวน 800 ไร่ เป็นการดำเนินการโดยไม่ได้ขอโอนเปลี่ยนแปลงและได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ (ก.บ.จ) และขอทำความตกลงกับสำนักงบประมาณเป็นการเบิกจ่ายงบประมาณไม่ถูกต้องตามระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณ พ.ศ. 2548 หมวด 5 การบริหารงบประมาณรายจ่ายของจังหวัดและกลุ่มจังหวัด ข้อ 28/1 และตามประกาศคณะกรรมการนโยบายการบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ เรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติในการบริหารงบประมาณจังหวัดและงบประมาณกลุ่มจังหวัด ลงวันที่11 ตุลาคม 2554
2. เบิกจ่ายงบประมาณไม่ถูกต้องตามข้อเท็จจริง จากการตรวจสอบเอกสาร หลักฐานการเบิกจ่าย และสังเกตการณ์พื้นที่ดำเนินการของเกษตรกรจำนวน 53 แปลง จำนวนเงินเบิกจ่าย 3,462,550.62 บาท พบว่า
2.1 เบิกจ่ายเงินในพื้นที่ที่ไม่มีการดำเนินการ จำนวน 26 แปลง เบิกจ่ายเงินจำนวน 1,835,544.35 บาท เป็นค่าดำเนินการสำรวจรังวัด ขุดปรับแต่งพื้นที่ และติดตั้งระบบน้ำ เป็นเนื้อที่จำนวน 116 ไร่ 3 งาน 58 ตารางวา แต่ไม่มีการดำเนินการใดๆ ทั้งสิ้น
2.2 สำหรับพื้นที่ที่มีการขุดปรับแต่งพื้นที่เป็นนาขั้นบันได พบว่าเบิกจ่ายเงินงบประมาณสูงกว่าความเป็นจริง จำนวน 26 แปลง เป็นจำนวนเงิน 842,458.88 บาท ดังนี้
(1) สัญญาจ้างทั่วไปจ้างเหมาดำเนินการสำรวจรังวัดและกำหนดแนวขุด ปักหลักแนวดิ่งและแนวระดับ จำนวน 92 ไร่ 2 งาน แต่ดำเนินการเพียง 49 ไร่ 92ตารางวา เบิกจ่ายสูงกว่าความเป็นจริงจำนวน 31,552.63 บาท
(2) สัญญาจ้างทั่วไปจ้างเหมาดำเนินการขุดปรับแต่งพื้นที่ จำนวน 93ไร่2งานแต่ดำเนินการเพียง 49 ไร่ 92 ตารางวา เบิกจ่ายสูงกว่าความเป็นจริงจำนวน 562,156.25 บาท
(3) สัญญาจ้างทั่วไปจ้างเหมาดำเนินการติดตั้งระบบน้ำเข้าสู่พื้นที่นา จำนวน 99 ไร่ 2 งาน แต่จากการสังเกตการณ์พบว่าไม่มีการติดตั้งระบบน้ำเข้าสู่พื้นที่นาแต่อย่างใด จึงเบิกจ่ายสูงกว่าความเป็นจริงจำนวน 248,750.00 บาท
ตามข้อตรวจพบที่ 1- 2 ได้ขยายผลในเชิงการตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างในพื้นที่ดำเนินโครงการทั้ง 19 พื้นที่ โดยในพื้นที่โครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคงพื้นที่ลุ่มน้ำน่าน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ พื้นที่ที่ 1 สำนักตรวจเงินแผ่นดินจังหวัดน่านได้ดำเนินการตรวจสอบและแจ้งผลให้ทราบตามหนังสือ ลับ ที่ ตผ 0055 ลป /042 ลงวันที่ 29 กันยายน 2560แล้ว สำหรับพื้นที่อีก 18 พื้นที่ สำนักตรวจสอบพิเศษภาค 9 จะแจ้งให้ทราบต่อไป
ข้อสังเกตอื่น
1. จัดทำสัญญาจ้างในลักษณะเป็นการแบ่งจ้างจากการตรวจสอบ พบว่า สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดน่าน จัดทำสัญญาจ้างเหมาดำเนินการ ด้วยวิธีตกลงราคา รวมจำนวนทั้งสิ้น 64 สัญญา มูลค่าตามสัญญารวม12,562,000.00 บาท โดยจัดทำสัญญาจ้างตามพื้นที่ของโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จำนวน 19 แห่ง จำนวนเนื้อที่ดำเนินการรวม 800ไร่ พบว่าการจัดทำสัญญาจ้างเหมาดำเนินการขุดปรับแต่งพื้นที่ ในพื้นที่ดำเนินการโครงการ จำนวน 7 แห่ง จัดทำสัญญาจำนวน 14 สัญญา จำนวนเงินรวม 4,287,500.00 บาท มีการลดวงเงินเพื่อให้สามารถจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีตกลงราคา ซึ่งหากรวมมูลค่าสัญญาจ้างแล้ว วงเงินจะเกินกว่าวิธีการจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีตกลงราคา หรือมีมูลค่ามากกว่า 500,000.00 บาท การปฏิบัติดังกล่าวไม่เป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 22 กำหนดให้การแบ่งซื้อหรือแบ่งจ้างโดยลดวงเงินที่จะซื้อหรือจ้างในครั้งเดียวกันเพื่อให้วงเงินต่ำกว่าที่กำหนดโดยวิธีหนึ่งวิธีใด หรือเพื่อให้อำนาจสั่งซื้อสั่งจ้างเปลี่ยนไป จะกระทำมิได้
2. จัดทำสัญญาจ้างไม่รัดกุมเพียงพอ อาจทำให้ราชการเสียเปรียบ จากการตรวจสอบรายละเอียดสัญญาจ้างเหมาดำเนินการทั้ง 64 สัญญา พบว่าเอกสารแนบท้ายสัญญาจ้างอันเป็นส่วนหนึ่งของสัญญา ซึ่งกำหนดขอบเขตการทำงานด้วยข้อความเช่นเดียวกันทุกสัญญา แตกต่างกันเพียงสถานที่ และจำนวนเนื้อที่ดำเนินการ โดยไม่มีแบบรูปรายการงานก่อสร้าง ไม่มีผังบริเวณการก่อสร้าง หรือจุดแสดงตำแหน่งการก่อสร้างนาขั้นบันไดในพื้นที่ของเกษตรกรเป้าหมายที่มีการคัดเลือกไว้ ไม่มีการระบุรายละเอียดรายชื่อของเกษตรกรผู้ได้รับสิทธิ์การเข้าร่วมโครงการ รวมถึงกำหนดระยะเวลาการรับประกันความชำรุดบกพร่องของงานจ้างภายในกำหนด 7 วัน ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ไม่สัมพันธ์กับระยะการตรวจสอบความชำรุดบกพร่องของงานจ้างที่อยู่ในระหว่างการรับประกันก่อนคืนหลักประกันสัญญา ตามหนังสือสำนักนายกรัฐมนตรีที่ นร (กวพ) 1002/ว 42 ลงวันที่ 15 กันยายน 2532 เรื่อง วิธีปฏิบัติเพิ่มเติมเกี่ยวกับการตรวจสอบความชำรุดบกพร่องก่อนการคืนหลักประกันสัญญา
3. เบิกจ่ายค่าน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อใช้ติดต่อราชการในพื้นที่อื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับโครงการจากการตรวจสอบเอกสารเบิกจ่ายค่าน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อใช้กับรถยนต์ส่วนกลาง สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดน่าน ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2558 ถึงเดือนกรกฎาคม 2559 พบว่า มีการใช้รถยนต์เพื่อติดต่อราชการในจังหวัดและพื้นที่อื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับสถานที่ดำเนินการของโครงการ จำนวนเงินเบิกจ่ายทั้งสิ้น 32,927.95 บาท
ผลกระทบ
1. ทำให้ราชการเสียหายเป็นจำนวนเงินเบิกจ่ายทั้งสิ้น 2,678,003.23 บาท จากการเบิกจ่ายเงินในพื้นที่ที่ไม่มีการด าเนินการ จำนวน 1,835,544.35 บาท และเบิกจ่ายเงินงบประมาณสูงกว่าความเป็นจริง จำนวน 842,458.88 บาท
2. กรณีที่มีการปรับพื้นที่เป็นนาขั้นบันได แต่ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ตรงตามวัตถุประสงค์ไม่มีการปรับเปลี่ยนการปลูกข้าวไร่หมุนเวียนมาเป็นการทำนาแบบหยอดหรือนาดำขั้นบันได เป็นผลให้เกิดการสูญเปล่าของงบประมาณแผ่นดิน เป็นจำนวนเงินเบิกจ่ายทั้งสิ้น 3,133,190.61 บาท และอาจทำให้ปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าไม้เพื่อทำการเกษตรไม่ได้รับการแก้ไขตามวัตถุประสงค์โครงการเกิดปัญหาบุกรุกพื้นที่ป่ารุนแรงขึ้น นอกจากนี้ยังไม่เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎรในพื้นที่อีกทั้งไม่เกิดการปลูกจิตสำนึกในการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้
3. กรณีจัดทำสัญญาจ้างมีลักษณะเป็นการแบ่งจ้าง ทำสัญญาจ้างไม่รัดกุม กำหนดระยะเวลารับประกันความชำรุดบกพร่องน้อยกว่าที่ควรจะเป็น เป็นเหตุให้ทางราชการเสียเปรียบและมีความเสี่ยงที่จะเกิดการทุจริตต่องบประมาณแผ่นดิน
ข้อเสนอแนะ
สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน โดยสำนักตรวจสอบพิเศษภาค 9 มีข้อเสนอแนะ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการจังหวัดน่านและผู้อำนวยการส านักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดน่าน พิจารณาดำเนินการดังต่อไปนี้
1. กรณีดำเนินโครงการไม่มีประสิทธิภาพ ส่งผลให้งบประมาณสูญเปล่าเป็นจำนวนเงินเบิกจ่าย 3,133,190.61 บาท จากเกษตรกรได้รับนาขั้นบันไดแต่ใช้ประโยชน์จากนาขั้นบันไดผิดวัตถุประสงค์ ไม่มีการใช้ประโยชน์ ไม่พบการติดตั้งระบบน้ำเข้าสู่พื้นที่นา จำนวนเงินเบิกจ่าย1,297,646.26 บาท ให้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงเพื่อหาผู้รับผิดชดใช้ทางละเมิดและพิจารณาโทษตามควรแก่กรณี สำหรับกรณีเกษตรกรไม่ได้รับนาขั้นบันไดแต่มีการเบิกจ่ายงบประมาณจำนวนเงินเบิกจ่าย 1,835,544.35 บาท ได้ขยายผลในเชิงการตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างโดยสำนักตรวจสอบพิเศษภาค 9 จะแจ้งให้ทราบต่อไป
2. กรณีจัดทำสัญญาจ้างในลักษณะของการแบ่งจ้าง และการจัดทำสัญญาจ้างไม่รัดกุมไม่เป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ให้พิจารณาโทษตามควรแก่กรณี หากพบว่าทำให้ราชการได้รับความเสียหายหรือเกิดการทุจริตต่องบประมาณแผ่นดิน ให้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงเพื่อหาผู้รับผิดชดใช้ทางละเมิดต่อไป
3. สั่งกำชับคณะกรรมการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการจังหวัดน่าน (ก.บ.จ.น่าน) และคณะอนุกรรมการกลุ่มภารกิจ (Cluster) กรณีปฏิบัติหน้าที่ในการพิจารณากลั่นกรองโครงการให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำแผนปฏิบัติราชการประจำปีของจังหวัด แผนปฏิบัติราชการประจำปีของกลุ่มจังหวัด ในโอกาสต่อไป
4. สำหรับการดำเนินโครงการตามแผนปฏิบัติราชการประจำปีงบประมาณของจังหวัดน่าน ในโอกาสต่อไป ให้สั่งกำชับให้หัวหน้าส่วนราชการที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินโครงการ และที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกหน่วยงาน ควบคุม กำกับดูแลให้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบและผู้ที่เกี่ยวข้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความระมัดระวังรอบคอบ เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ประกาศ และหนังสือสั่งการที่เกี่ยวข้อง และใช้จ่ายงบประมาณให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการโดยเคร่งครัด
5. แจ้งรายชื่อและข้อมูลผู้รับจ้างตามสัญญาจ้างเหมาดำเนินการ จำนวน 64 สัญญาให้สำนักงานสรรพากรพื้นที่น่าน เพื่อตรวจสอบว่าผู้รับจ้างซึ่งเป็นคู่สัญญานั้นมีการแสดงบัญชีรายการรับจ่ายของโครงการต่อกรมสรรพากร และมีการคำนวณภาษีเงินได้ รวมทั้งได้มีการชำระภาษีอากรครบถ้วนถูกต้องหรือไม่ ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันและปราบปรามการทุจริตตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 มาตรา103/7 วรรค 2
ส่วนรายละเอียดข้อมูลเชิงลึกแต่ละส่วนสำนักข่าวอิศรา จะติดตามตรวจสอบนำมาเสนอให้สาธารณชนได้เห็นภาพชัดเจนในตอนต่อๆไป