ตั้งคำถามชี้นำ-ขาดคุณสมบัติโพลที่ดี!อธิการนิด้าฯ แถลงโต้ปมสั่งระงับผลสำรวจนาฬิกาหรู
'ประดิษฐ์ วรรณรัตน์' อธิการบดีนิด้า ตั้งโต๊ะเปิดแถลงข่าวสื่อมวลชนเป็นทางการ ปมสั่งระงับผลสำรวจนาฬิกาหรู ชี้จุดด้อยกระบวนการทำงาน ตั้งคำถามชี้นำให้ตอบตามที่คนทำโพลต้องการ-ขาดคุณสมบัติโพลที่ดี ระบุเลือกทำช่วงเวลาไม่เหมาะสม ป.ป.ช.ยังไม่สรุปผล เผยเหตุต้องออกแถลงการณ์โต้ชี้แจงเพื่อปกป้องชื่อเสียงของสถาบันไม่ให้เกิดความเสียหาย
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 5 ก.พ.2561 นายประดิษฐ์ วรรณรัตน์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์หรือนิด้าและสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เปิดแถลงข่าวชี้แจงสื่อมวลชนกรณีสั่งระงับผลสำรวจความเห็นนิด้าโพล เกี่ยวข้องประเด็นยืมนาฬิกาหรูของ พล.อ.ประวิทย์ วงศ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมออกแถลงการณ์ชี้แจงข้อเท็จจริง
โดยระบุสาระสำคัญว่า เหตุผลที่ตนต้องออกแถลงการณ์ในครั้งนี้ เพื่อปกป้องชื่อเสียงของสถาบันนิด้าไม่ให้เกิดความเสียหาย จากการที่ตนในฐานะอธิการบดีได้มีคำสั่งให้ระงับผลโพลที่จะเผยแพร่ในวันที่ 28 ม.ค. 2561 ที่ผ่านมา และตามมาด้วยการลาออกจากตำแหน่งของนายอานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ ผู้อำนวยการศูนย์สำรวจความคิดเห็นนิด้าโพล ที่เข้ามารับตำแหน่งได้ไม่ถึง 2 สัปดาห์
นายประดิษฐ์กล่าวต่อว่า การแถลงของตนนั้นเปิดจากเหตุผลหลัก 3 ประเด็นที่ทำให้การทำโพลครั้งนี้ขาดคุณสมบัติของการเป็นโพลที่ดี และถูกต้องตามหลักวิชาการได้แก่
1.ประโยชน์ที่ได้ต่อสังคมในการทำโพลเรื่องนี้ ผมคิดว่าการทำโพลเรื่องนี้ในช่วงเวลานี้ ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง เพราะว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่กำลังอยู่ภายใต้การสอบสวนของปปช. ซึ่ง ปปช. ยังไม่ได้ข้สรุป ผลของโพลอาจไปสร้างกระแสชี้นำสังคม นำไปสู่ความวุ่นวายได้
2.คำถามในการทำโพลต้องไม่ชี้นำผู้ตอบให้ตอบไปในทิศทางที่ผู้ทำโพลต้องการ
การทำโพลครั้งนี้มีคำถามที่กลุ่มตัวอย่างถูกถาม 5 คำถามดังนี้
คำถาม 1. ปกติเพื่อนของท่านเคยให้ยืมนาฬิกาแสนหรูราคาแพงมาใส่หรือไม่
คำถาม 2.หากนักการเมืองอ้างว่าทรัพย์สินมูลค่าสูงมากที่ครอบครองมาจากการหยิบยืมเพื่อน ท่านเชื่อว่าเป็นการพูดความจริงหรือไม่
คำถาม 3.ท่านคิดว่าการอ้างเรื่องการหยิบยืมทรัพย์สินราคาแพงมาครอบครอง จะทำให้การตรวจสอบการทุจริตต่อไปในอนาคต ทำได้หรือไม่
คำถาม 4.ท่านคิดว่าคนที่พูดโกหก หรือพูดไม่จริง มีโอกาสประพฤติทุจริตหรือคดโกงหรือไม่
คำถาม 5.ท่านยอมรับพฤติการณ์ปกป้องพรรคพวกรุ่นพี่รุ่นน้องที่น่าสงสัยว่าจะทุจริต/ประพฤติมิชอบ/กระทำผิดกฎหมายได้หรือไม่
จะเห็นได้ว่าทุกคำถามเป็นคำถามชี้นำอย่างเห็นได้ชัดเจน (จากการสรุปของ ดร.นพดล กรรณิกา อดีต ผอ.เอแบคโพล และ ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ จากสวนดุสิตโพล ในรายการเป็นเรื่องเป็นข่าว ช่อง PPTV ซึ่งออกอากาศเมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2561)
ตัวอย่างเช่นคำถามที่ 1. เป็นคำถามที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง เพราะผู้ที่ตอบแบบสอบถามจำนวน 55 % มีรายได้ต่ำกว่า 20,000 บาท และ 61% มีการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ซึ่งกลุ่มนี้คงไม่มีเพื่อนสนิทที่จะมีนาฬิกาแสนหรูราคาแพงให้ยืมได้ ดังนั้นคนกลุ่มนี้ก็จะต้องตอบว่า “ไม่เคย” อีกทั้งคำถามนี้ยังได้บรรจุคำที่สร้างอารมณ์ (Loading words) เช่น “แสนหรูราคาแพง” ซึ่งไม่ควรใช้ในการตั้งคำถามของการทำโพลที่ถูกต้อง
3. ผู้ทำโพลต้องมีความเป็นกลางและปราศจากอคติต่อประเด็นหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องกับโพลที่ทำ
จากข้อความที่นายอานนท์ ได้โพสต์ลงบนหน้า Facebook ของตนเองเมื่อวันที่ 24 ม.ค. 2561 (ซึ่งเป็นวันก่อนการทำโพล) ว่า “ถ้าป้อมรอด ตู่กับคสช. ก็จะไม่รอด อยู่ไม่ได้ ขาดความชอบทำ” แสดงให้เห็นว่านายอานนท์มีอคติและความไม่เป็นกลางต่อประเด็นนี้ ก่อนการทำโพลครั้งนี้ และข้อความ “ลุงตู่ครับ ผมนะอยู่ข้างท่านมาตลอด ลุ้นใจหายใจคว่ำกับลุงมาตลอด ลุ้นจนถอดใจก็มี คนรอบข้างตัวลุงมีปัญหาจริงๆ ครับลุงตู่” ที่นายอานนท์ได้โพสต์ลงบน Facebook ของตนเองเมื่อวันที่ 26 ม.ค. 2561 (ซึ่งเป็นวันก่อนกำหนดการรายงานผลโพล) แสดงให้เห็นว่าผู้โพสต์มีความคิดเห็นชัดเจนตามที่ตนได้โพสต์ และคำถามที่ 5 ของการทำโพลครั้งนี้ก็มีใจความในทำนองเดียวกับสิ่งที่นายอานนท์โพสต์
นายประดิษฐ์กล่าวต่อว่าเหตุผล 3 ประการข้างต้นนั้นขาดคุณสมบัติของการเป็นโพลที่ดี ทำให้ตนต้องรับผิดชอบต่อภารกิจของสถาบัน ต้องออกคำสั่งระงับยับยั้งโพลดังกล่าวเพื่อการตรวจสอบ เพื่อธำรงไว้ซึ่งความถูกต้องและชื่อเสียงของสถาบัน และขอยืนยันว่าตนไม่เคยสั่งให้แก้ไขผลโพลแต่อย่างใดตลอดระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งอธิการบดีเป็นระยะเวลา 5 ปี และต้องขอฝากไปยังสื่อมวลชนและประชาชนว่าอย่าเคลือบแคลงหรือไม่มั่นใจในการดำเนินงานของนิด้าโพลซึ่งยึดมั่นในความเป็นกลางและความถูกต้องตามหลักวิชาการในการสะท้อนเสียงของประชาชนให้สังคมได้รับรู้