นพ.มงคล ชี้บัตรทอง ไม่มีรัฐบาลไหนล้มได้ แต่จะตายเองหากไม่ปฏิรูป
อดีตรมต.สาธารณสุข ชี้ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 30 บาท ไม่มีรัฐบาลไหนกล้าตัดทิ้ง แต่จะตายเอง เหตุบริหารจัดการไม่ดี แนะปฏิรูปกระทรวง ยุบกรม กอง หน่วยงานที่ไม่จำเป็น จัดการเรื่องงบประมาณ บุคลากร การกระจายตัวที่เป็นธรรม
เมื่อวันที่ 4 ก.พ.61 ในเวทีสาธารณะ รณรงค์มองการณ์ไกลด้านสาธารณสุข “จากก้าวคนละก้าว สู่ข้อเสนอการปฏิรูประบบสาธารณสุขไทย” จัดโดย โครงการสร้างคนดี มองการณ์ไกล ไทยรุ่งเรือง มูลนิธิหมอเสม พริ้งพวงแก้ว ร่วมกับ เครือข่ายสาธารณสุข ที่ห้องประชุมชั้น 2 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
นพ.มงคล ณ สงขลา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 30 บาท ว่า เรื่องรัฐสวัสดิการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการช่วยเหลือผู้สูงอายุ คนพิการ แต่รัฐสวัสดิการที่ใหญ่ที่สุด คือหลักประกันถ้วนหน้า 30บาท เป็นเรื่องที่ทุกคนกังวลที่สุด รัฐสวัสดิการอื่นๆ ไม่ได้มีปัญหาอะไรซับซ้อน เนื่องจากเป็นลักษณะสงเคราะห์ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ถูกเตะตัดขาเรื่อยๆ จากผู้บริหารที่ไม่เช้าใจ
นพ.มงคล กล่าวว่า วันนี้งบประมาณการประกันสุขภาพถ้วนหน้าไม่เกิน 17% ของผลผลิตมวลรวมของประเทศ (GDP) ต่ำกว่าประเทศที่มีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอื่น เทียบกับในประเทศที่พัฒนาเเล้ว เรายังมีการใช้จ่ายในเรื่องนี้น้อยอยู่และต่ำสุด แต่มีประสิทธิภาพดี เป็นความฉลาดของคุณนายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ที่รู้เรื่องรายละเอียดในการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ไม่ให้บานปลาย ความฉลาดของเภสัชกรในสำนักงานประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่สามารถซื้อยา เครื่องมือแพทย์ในราคาที่ถูก ขณะที่วันนี้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เอาเรื่องจัดซื้อยาไปทำเอง ตามที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ชี้ว่า สปสช.จัดซื้อว่าไม่ถูกระเบียบ
“หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ถูกทำให้เข้าใจว่า เป็นภาระการคลังของประเทศ ไม่มีรัฐบาลไหนที่จะมองว่าเป็นการลงทุนเพื่อการพัฒนาประเทศ เหมือนโครงการอื่นๆ ประชาชนลดการล้มลายเมื่อเจ็บไข้ สิ่งเหล่านั้น ยังติดตาติดใจคนจำนวนมากการ ความคิดที่จะมายกเลิกคงทำไม่ได้”
นพ.มงคล กล่าวอีกว่า อนาคตของระบบสาธารณสุขไทย อันเป็นระบบที่ถูกสร้างขึ้นมาแล้ว ไม่ค่อยมีการปฏิรูปอย่างจริงจัง เป็นการตัวการสำคัญที่ทำให้ การที่จะดำเนินการรัฐสวัสดิการเรื่องสุขภาพมีปัญหาในเรื่องของเงิน การบริการทั้งหมดนี้ เป็นเรื่องของการที่เราไม่ได้ปฏิรูปกระทรวงสาธารณสุข
นพ.มงคล กล่าวถึงระบบสาธารณสุข 60 ปี มีโครงสร้างที่ไม่จำเป็นเยอะมากในการบริหารจัดการ การที่มีกรมมีกอง มีฝ่ายมีแผนก ตั้งไว้ในช่วงที่มีปัญหา เฉพาะกิจ เมื่อผ่านไปแล้ว กลับไม่ลดล้าง บางกรมบางกองยกเลิกไป การทำงานของ สธ. ก็ยังเมือนเดิม ลักษณะของกระทรวงสาธารสุขเป็นจุดที่เลี้ยงตัวเองยังไม่ได้ แล้วจะขับเคลื่อนเรื่องอะไรได้ ถ้าต้องปฏิรูป ต้องลดหน่วยงานที่ไม่จำเป็นลง อะไรที่ไม่จำเป็นต้องเลิก
ในส่วนประเด็นระบบดูเเลรักษาสุขภาพของประเทศบ้านเราแย่เนื่องจาก จำนวนคนในขณะนี้ไม่พอ นพ.มงคล กล่าวว่า ความจริงแล้ว เรามีเภสัชกรที่เพียงพอ มีแพทย์ มีพยาบาลเยอะ แต่ผิดตรงที่ว่ากระจายไม่ดี ซึ่งกลายเป็นปัญหาอีกอันที่เป็นตัวถ่วงทำให้ระบบดูแลลสุขภาพเสีย
"พื้นที่ข้างนอกไม่มีคน กระจุกตัวแต่พื้นที่ในเมือง หมอบางคนรับจ้างตามโรงพยาบาลเอกชน และโรงพยาบาลเอกชนไทยเป็นอะไรที่แพงที่สุด ระบบการเงินการคลังของประเทศไม่มีการกำกับเรื่องนี้"
นพ.มงคล กล่าวต่อว่า ถ้าเทียบกับญี่ปุ่น มีแต่โรงพยาบาลเอกชนแต่สิ่งที่สาธารณสุขญี่ปุ่นทำ สธ.ทำ คือ หน้าที่ควบคุมกำกับ อย่างชนิดที่ไม่สามารถกระดิกได้ แต่ของเรา องค์กรอย่างแพทยสภา หรืออื่นๆ กลายเป็นส่วนหนึ่งของมือไม้ของโรงพยาบาลเอกชน สิ่งนี้การเงินการคลังตัวหนึ่งที่เป็นปัญหาที่ไม่สามารถควบคุมนโยบายได้ บั่นทอนการทำงานในภาครัฐ ถ้ามองในแง่ระบบสาธารณสุขแล้ว หากเราเดินต่อไปในลักษณะอย่างนี้ แม้ว่าอนาคตไม่มีใครสามารถกล้ามาแตะต้องยกเลิกได้ แต่ระบบจะตายเพราะการบริหารไม่ดี”
นพ.มงคล กล่าวด้วยว่า อนาคตค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลจะสูงขึ้น แม้จำนวนประชากรจะน้อยลง เพราะนั่นหมายถึงสังคมสูงอายุ
“ระบบของเรามีแต่วาทกรรม มีแต่ประชุม สั่งการ ไม่มีใครดูเเลว่าด้านล่างเป็นยังไง สิ่งที่เป็นห่วงกังวลระบบสุขภาพของประเทศที่ไม่มีการปฏิรูปให้ไปตามประชากรที่สูงอายุขึ้น ประชากรที่เป็นเมืองมากขึ้น ชนบทน้อยลง เราไม่ได้เปลี่ยนแปลงตามรถไฟความเร็วสูง เราไม่ได้เปลี่ยนตามโครงสร้างอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นเรา รู้ว่าทำลายสิ่งแวล้อม แต่เราไม่คิดว่า เมื่อแบบนั้นจะเกิดอะไรขึ้นตามมา” นพ.มงคลกล่าว.