ทิ้งโครงการพระราชดำริ-รับเหมารวยกระจุก!สตง.พบแจกเงินประชารัฐ2แสนยโสธร รบ.บิ๊กตู่ 'เหลว'
เผยผลสอบสตง.ชำแหละนโยบายแจกเงินประชารัฐหมู่บ้านละ2แสน จว.ยโสธร รบ.บิ๊กตู่ 'เหลว' สุ่มตรวจ 156 แห่ง พบทำโครงการไม่บรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้เพียบ ไม่เลือกขยายผลโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริต่อ เมินจ้างแรงงานภายใน ชี้เงินไม่กระจาย ผู้รับเหมารวยกระจุกเพียบ แถมเปลี่ยนแปลงเนื้องานไม่ขออนุมัติ จี้ผู้ว่าฯ -ปลัดมหาดไทย ทบทวนแก้ไขด่วน
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้เผยเผยรายงานผลการตรวจสอบการดำเนินงานโครงการยกระดับศักยภาพหมู่บ้านเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ตามแนวทางประชารัฐ (คปช.) จังหวัดยโสธร กระทรวงมหาดไทย ภายใต้นโยบายการบริหารประเทศของรัฐบาลพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อส่งเสริมความเป็นอยู่ของประชาชนผู้มีรายได้น้อยช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจระดับฐานราก โดยกระทรวงการคลัง นำเสนอโครงการต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)เมื่อวันที่ 5 เม.ย. 2559 ที่ผ่านมา และมีมติเห็นชอบ มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินโครงการจ่ายเงินจากงบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ให้ทุกหมู่บ้านทั่วประเทศ หมู่บ้านละ 200,000 บาท จำนวน 74,588 หมู่บ้าน เป็นเงิน 14,917.60 ล้านบาท โดยในส่วนจังหวัดยโสธรได้รับจัดสรร จำนวน 885 หมู่บ้าน จำนวน 1,008 โครงการ เป็นเงิน 177 ล้านบาท
สตง.ระบุว่า จากการสุ่มตรวจสอบการดำเนินงานโครงการในพื้นที่จังหวัดยโสธร 156 หมู่บ้าน จำนวน 196 โครงการ เป็นเงิน 31,168,212 บาท พบว่า การดำเนินงานโครงการไม่บรรลุวัตถุประสงค์ที่ที่ตั้งไว้ อาทิ ไม่มีหมู่บ้านใดเลือกขยายผลโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่มีอยู่ในพื้นที่แต่อย่างใด ขณะที่รายได้ของชาวบ้านที่เพิ่มขึ้นจากการดำเนินโครงการมีลักษณะเป็นการเพิ่มรายได้เฉพาะบุคคล
นอกจากนี้ แนวทางการกระจายรายได้ไปสู่ประชาชนเพื่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับฐานราก โดยให้หมู่บ้านเลือกวิธีการจ้างแรงงานมากกว่าการใช้ทุนหรือเครื่องจักร หรือหมู่บ้านเลือกดำเนินการเอง แทนการจ้างผู้รับเหมา ก็ไม่ประสบผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ เนื่องหมู่บ้านส่วนใหญ่ดำเนินการโครงการโดยจ้างเหมาผู้รับจ้างเป็นจำนวนมาก ทำให้รายได้ตกอยู่กับผู้รับจ้างเพียงผู้เดียว ไม่เกิดการกระจายไปสู่ประชาชนในหมู่บ้าน
ขณะที่จากการการดำเนินงานโครงการต่างๆ พบว่า มีลักษณะไม่ถูกต้องครบถ้วน ไม่สามารถตรวจสอบความถูกต้องได้ เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงงานหรือเปลี่ยนแปลงปริมาณงานโดยไม่มีการขออนุมัติ เช่น โครงการก่อสร้างประปาหมู่บ้าน หมู่ที่ 7 ต.กุดแห่ อ.เลิงนกทา จ.ยโสธร กำหนดโครงสร้างระบบ ประปา หอถังสูงเป็นเสาคอนกรีตเสริมเหล็ก แต่ก่อสร้างจริงเป็นโครงสร้างหอถังสูงเหล็กและยังมีหลายหมู่บ้านที่ดำเนินการโครงการโดยวิธีหารเฉลี่ยหรือแจกจ่ายสิ่งของให้กับประชาชนหรือครัวเรือนในหมู่บ้านโดยไม่ได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน จำนวน 9 โครงการ เป็นเงิน 1,693,500 บาท เช่น โครงการขุดบ่อบาดาลเพื่อการเกษตร หมู่ที่11 ต.กู่จาน อ.คำเขื่อนแก้ว จ.ยโสธร ดำเนินการเจาะบ่อบาดาลจำนวน 50 บ่อ โดยใช้วิธีจับฉลาก เป็นต้น
เบื้องต้น สตง. มีข้อเสนอแนะ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อหาผู้รับผิดชอบชดใช้เงินจำนวน 1,693,500 บาท จากการใช้จ่ายงบประมาณไม่เป็นตามเงื่อนไข/หลักเกณฑ์ ที่คู่มือฯ กำหนด และ ดำเนินการตามควรแก่กรณีกับผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป พร้อมกำชับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดำเนินงานโครงการทุกระดับให้ ระมัดระวังรอบคอบเกี่ยวกับการดำเนินงานโครงการโดยให้ถือปฏิบัติตามระเบียบ กฎหมาย หนังสือสั่งการ ที่เกี่ยวข้อง และคู่มือการดำเนินงานโครงการโดยเคร่งครัด เพื่อป้องกันการดำเนินงานโครงการที่ซ้ำซ้อนกับแผนงานของส่วนราชการอื่นและไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์โครงการ รวมทั้งความเสียหายที่ อาจจะเกิดแก่ทางราชการต่อไป
นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอแนะให้ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พิจารณาทบทวนการดำเนินการโครงการลักษณะการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ต้องการให้ ประชาชนมีส่วนร่วม เพื่อกำหนดรูปแบบ/หลักเกณฑ์การดำเนินโครงการให้บรรลุวัตถุประสงค์ให้ ชัดเจน เช่น การคัดเลือกโครงการต้องกำหนดหลักเกณฑ์เรื่องการจ้างแรงงานในหมู่บ้านให้ชัดเจน เนื่องจากมีผลต่อการกระจายรายได้และเพิ่มรายได้ทางตรงของประชาชน และการใช้เครื่องจักร รวมทั้งสัดส่วนการใช้จ่ายงบประมาณแต่ละโครงการ หรือข้อจำกัดโครงการ/กิจกรรมที่อาจทำให้ โครงการไม่บรรลุวัตถุประสงค์ และการรับประกันความชำรุดบกพร่อง เพื่อให้การใช้จ่ายงบประมาณ สามารถตอบสนองต่อนโยบายของรัฐบาลได้อย่างเต็มประสิทธิภาพและประชาชนในหมู่บ้านจะได้รับเงิน เพื่อจับจ่ายใช้สอยเกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจตามวัตถุประสงค์ของโครงการต่อไป พร้อมกำหนดบทลงโทษกรณีที่หมู่บ้านหรือผู้ปฏิบัติไม่ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ แนวทางในการดำเนินงานโครงการ ระเบียบ กฎหมาย คู่มือ และหนังสือสั่งการที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การ ใช้จ่ายเงินงบประมาณเกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป (อ่านผลสอบฉบับเต็มที่นี่ )