ฟื้น "จะบังติกอ" แหล่งท่องเที่ยวเมืองปัตตานี เปิดศูนย์แสดงของโบราณร้อยปี
เมื่อสถานการณ์ความไม่สงบเริ่มคลี่คลาย การฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นจุดเด่นของ "อารยธรรมมลายู" ก็เกิดขึ้น
ในเขตเทศบาลเมืองปัตตานี คนนอกพื้นที่อาจไม่ทราบว่ามีพื้นที่ของ "วังเก่า" ที่ชื่อว่า "วังจะบังติกอ" ซึ่งมีประวัติศาสตร์ยาวนานหลายร้อยปี ถึงวันนี้วังเก่าก็ยังคงอยู่ เป็นดั่งสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความรุ่งเรืองในอดีตของรัฐปัตตานีและผู้คนที่นั่น
เมื่อวันสุดท้ายของเดือน ม.ค.61 ชาวชุมชนจะบังติกอได้ร่วมกันจัดกิจกรรม "จิบน้ำชายามเช้า" ซึ่งเป็นวัฒนธรรมของคนพื้นเมืองชายแดนใต้ โดยชาวชุมชนได้พร้อมใจกันนำเครื่องใช้ไม้สอยของบรรพบุรุษที่มีอายุอานามไม่ต่ำกว่าร้อยปี ซึ่งแต่ละบ้านเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดีมาจัดแสดง ไม่ว่าจะเป็นของใช้ในบ้านที่ทำมาจากทองเหลือง ตาชั่งทองคำ ตาชั่งที่ทำมาจากงาช้างและนิล
พร้อมกันนี้ได้มีการเชิญ วีรนันทน์ เพ็งจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี และหัวหน้าส่วนราชการ มาแชร์ไอเดียการสร้างศูนย์แสดงของใช้โบราณของชาวจะบังติกอ เพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวในเขต อ.เมืองปัตตานี และกระตุ้นให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ศึกษาประวัติศาสตร์จะบังติกอ ซึ่งเป็นเมืองที่รุ่งเรืองด้านเศรษฐกิจอย่างมากเมื่อสมัยอดีต
ผู้ว่าฯปัตตานี บอกว่า ชาวจะบังติกอคือลูกหลานของเจ้าเมืองจะบังติกอ นี่คือสิ่งที่น่าภูมิใจที่ชุมชนมีต้นทุนมาตั้งแต่ครั้งประวัติศาสตร์ จะบังติกอมีสิ่งดีๆ หลายอย่าง ชุมชนจะบังติกอเป็นชุมชนที่ตั้งของ "วังหลวงรัฐปัตตานี" ปัจจุบันชุมชนแห่งนี้ประกอบด้วยชุมชนย่อยๆ คือ ชุมชนวังเก่า ชุมชนริมคลอง ชุมชนวอกะเจะหะ และชุมชนตะลุโบะ ทั้งหมดอยู่ในเขตเทศบาลเมืองปัตตานี มีมัสยิดหลวงประจำราชสำนักของรัฐปัตตานี มีสุสานดาโต๊ะอาเยาะ ซึ่งเป็นกุโบร์ หรือสุสานของพี่น้องมุสลิม มีกุโบร์โต๊ะแซะ สำหรับชาวอินเดีย และสุสานจีนสำหรับคนจีน มีมัสยิดกลางปัตตานี และยังมีมัสยิดรายา ถือเป็นชุมชนแห่งประวัติศาสตร์และอารยธรรมมลายู
"ในอนาคตมีแผนจะปรับปรุ่งบ้านปลัดจังหวัด ย่านสะบารัง ให้เป็นศูนย์รวมเครื่องใช้โบราณร้อยปี เราจะมาสร้างจะบังติกอให้มีความคึกคักเหมือนในอดีต สร้างให้มีนักท่องเที่ยวที่มาปัตตานีก็ต้องมาจะบังติกอ" ผู้ว่าฯวีรนันทน์บอก
นายเซ็ง อาแด อิหม่ามจะบังติกอ เล่าว่า เดิมชุมชนจะบังติกอมีชื่อว่า "หมู่บ้านจือเบาะปูโยะ" เมื่อราวๆ 300 ปีก่อน ต่อมาจึงเปลี่ยนชื่อเป็นจะบังติกอ สาเหตุที่ชื่อจือเบาะปูโยะ เพราะว่าสมัยก่อนแถวๆ นี้มีแต่ป่า และมีปูโยะเยอะมาก ปูโยะหมายถึง "นกกระทา" หรือ "นกคุ่ม" ชาวบ้านจึงนิยมทำกรงดักนก พื้นที่แถบบนี้จึงเรียกว่า "จือเบาะปูโยะ" ซึ่งแปลว่า "กรงดักนกกระทา" นอกจากนั้นยังเป็นแหล่งผลิตเครื่องใช้ที่ทำมาจากทองเหลือง ทั้งหม้อ กระทะ และตาชั่ง มีที่ทำมาจากงาช้างและนิลด้วย
นางฮาสือเมาะ เจะอาลี ชาวจะบังติกอ บอกว่า ของใช้ที่ทำจากทองเหลืองมีเยอะมาก เมื่อก่อนคนที่นี่ผลิตของใช้เหล่านี้เอง โดยเฉพาะของที่ทำจากทองเหลือง แต่ไม่ได้มีการรวบรวม ให้มาอยู่ที่เดียวกัน อยู่แบบกระจาย แบบบ้านใครบ้านมัน บางคนไม่ได้นำมาโชว์ ไม่ได้รักษา เก็บไว้ในตู้ ทำให้รู้สึกเสียดาย ถ้าเป็นไปได้อยากให้รัฐเข้ามาจัดการ เพื่อให้คนอื่นได้ชื่นชม เพราะเป็นความภูมิใจของชาวชุมชนจะบังติกอ
หากโครงการนี้เดินหน้าและประสบความสำเร็จจริง เมืองปัตตานีก็จะมีแหล่งท่องเที่ยวใหม่ เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านประวัติศาสตร์และอารยธรรมมลายูซึ่งเป็นอดีตอันยิ่งใหญ่ของรัฐปัตตานี
--------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1, 2, 5 และ 6 บรรยากาศงานจิบน้ำชายามเช้าที่จะบังติกอ อ.เมืองปัตตานี ชาวชุมชนนำของใช้โบราณมาจัดแสดง ส่วนใหญ่เป็นเครื่องทองเหลือง รวมถึงตาชั่งแบบเก่าที่หาดูไม่ได้แล้ว
3 และ 4 กรงดักนกกระทา ที่ชาวบ้านเรียกว่า "จือเบาะปูโยะ"