ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ เล่าถึงงานฟุตบอลประเพณีจุฬา - ธรรมศาสตร์ ถึงขบวนพาเหรดล้อการเมือง
"ผมชอบนักศึกษาที่ทำกิจกรรม ไม่ว่ากิจกรรมนั้นจะเป็นกีฬา ศิลปวัฒนธรรม บำเพ็ญประโยชน์ หรือการเมืองก็ตาม กิจกรรมทำให้นักศึกษาธรรมศาสตร์มีความคิด มีทัศนคติที่ดี มีพลังสร้างสรรค์ มีความตื่นตัว"
วันที่ 3 กุมภาพันธ์ ณ สนามศุภชลาศัย กำลังมีงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ - ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 72 โดยปีนี้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน ซึ่งการจัดขบวนพาเหรด และการแปรอักษรมักจะถูกจับตามองในเรื่องการแสดงความเห็นทางการเมืองเป็นพิเศษ
ปีนี้ก็เช่นกันสื่อมวลชนพากันพาดหัวข่าวว่า คสช.เข้ามาคุมเข้มขบวนล้อการเมือง ห้ามล้อเลียนโดยเฉพาะเรื่อง “นาฬิกาหรู” หรือแม้แต่การห้ามเอ่ยชื่อองค์กร ตัวบุคคล ห้ามทำหุ่นคลายผู้นำทหาร หรือผู้นำประเทศ
ในหนังสือ "เรื่องลึกใต้ตึกโดม" ที่เขียนโดยศาสตราจารย์ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ ตีพิมพ์เมื่อปลายปี 2560 เคยเขียนเล่าประสบการณ์ตลอด 7 ปีบนเก้าอี้อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไว้ระหว่างปี 2553-2560 หัวข้อ "อธิการบดีกับนักศึกษา" ของหนังสือเล่มนี้ มีการเล่าถึงการแข่งขันฟุตบอลประเพณีระหว่างจุฬา กับธรรมศาสตร์เอาไว้ด้วย
ศ.ดร.สมคิด ชี้ว่า เรื่องการล้อการเมืองในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ - ธรรมศาสตร์
"ความจริงนักศึกษาธรรมศาสตร์ก็ล้อเลียนและประท้วงทุกรัฐบาล ไม่ว่ารัฐบาลนั้นจะเป็นรัฐบาลทหารหรือพลเรือน แต่เมื่อมีการรัฐประหาร นักศึกษาก็มีประเด็นให้เล่นได้มากขึ้น ทหารและฝ่ายความมั่นคงเองก็คงไม่อยากให้นักศึกษาล้อเลียนหรือประท้วงผู้นำของตนจึงเกิดการเอาล่อเอาเถิดกัน
ทหารและฝ่ายความมั่นคงก็มาตรวจขบวนพาเหรดก่อนเข้าสนามศุภชลาศัย ตรวจแล้วก็ไม่พบอะไร แต่นักศึกษาก็ซ่อนโปสเตอร์ไว้ในหุ่นทั้งหลายที่เข็นเข้าไปในสนาม พอถึงเวลาก็ดึงโปสเตอร์กางออกมา มีคำล้อเลียนเสียดสี ต่อว่า คัดค้านทหาร และการรัฐประหาร ซึ่งสื่อทั้งหลายก็คอยจับจ้องอยู่และเอาขึ้นหน้า 1 หนังสือพิมพ์เป็นประจำ
นอกจากฝ่ายทหาร และความมั่นคงที่ไม่ค่อยชอบการกระทำดังกล่าว ศ.ดร.สมคิด ยังเล่าต่อว่า คนที่กังวลอีกกลุ่มหนึ่งก็คือ สมาคมธรรมศาสตร์ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งเป็นเจ้าภาพในการจัดงานฟุตบอลประเพณี ทางสมาคมก็พยายามให้การจัดพาเหรดล้อการเมืองอยู่ในขอบเขตที่เหมาะสม เช่น อย่าใช้คำหยาบคาย อย่าเอ่ยชื่อใครเป็นการเฉพาะ ฯลฯ สมาคมจึงจัดให้มีการประชุมกับนักศึกษาและตกลงกันหลายเรื่อง รวมทั้งเนื้อหาของกิจกรรมล้อการเมืองด้วย โดยสำทับว่า ถ้ายังเกินขอบเขตกันอยู่ ก็จะเปลี่ยนกลุ่มนักศึกษาที่ทำล้อการเมืองเสียใหม่
"ผมเอง "เนื้อไม่ได้กิน หนังไม่ได้รองนั่ง เอากระดูกมาแขวนคม" เพราะสื่อได้ข่าวเรื่องการประชุมดังกล่าว ก็ออกข่าวว่า มหาวิทยาลัยโดยอธิการบดีจะห้ามมิให้นักศึกษาล้อการเมืองอีก ถ้าใครล้อจะไม่ให้จัดอีกในปีถัดไป ทั้งๆ ที่มหาวิทยาลัยและอธิการบดีไม่ได้เกี่ยวข้องแม้แต่น้อย เพราะฟุตบอลประเพณีไม่ใช่งานของมหาวิทยาลัย แต่เป็นงานของสมาคมธรรมศาสตร์ อธิการบดีและมหาวิทยาลัย เพียงแต่เข้าไปช่วยเหลือเพื่อให้งานราบรื่นเท่านั้น"
นี่คือบันทึกสั้นๆ มุมมองอดีตอธิการบดีมธ.ที่มีต่อการประท้วงผ่านการเดินพาเหรดล้อการเมืองของนักศึกษาในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ - ธรรมศาสตร์ ช่วง 7 ปีที่ผ่าน ซึ่งเขาย้ำว่า "ผมชอบนักศึกษาที่ทำกิจกรรม ไม่ว่ากิจกรรมนั้นจะเป็นกีฬา ศิลปวัฒนธรรม บำเพ็ญประโยชน์ หรือการเมืองก็ตาม กิจกรรมทำให้นักศึกษาธรรมศาสตร์มีความคิด มีทัศนคติที่ดี มีพลังสร้างสรรค์ มีความตื่นตัว"
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ บอกเล่าผ่านหนังสือ ‘เรื่องลึกใต้ตึกโดม’ 7 ปีบนเก้าอี้อธิการบดี มธ.
ที่มาภาพ:https://www.facebook.com/thammasat.pr/