สทนช. เล็งของบฯ เพิ่มเติม วงเงิน 4.2 พันล. ใช้ใน 216 โครงการ
ประชุม กนช. นัดแรก มติกำหนดกรอบทำงาน ปี 61 ประชุม 4 ครั้ง พร้อมแบ่งงานคณะอนุกรรมการฯ 4 ด้าน วิเคราะห์สถานการณ์น้ำ-พัฒนาแหล่งน้ำ-จัดทำติดตามยุทธศาตร์-กลั่นกรองประเมินผล ปัจจุบันเห็นชอบ 3 โครงการ เสนอครม. แล้ว
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า วันที่ 2 ก.พ. 2561ที่ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล ในการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ครั้งที่ 1/2561 ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธานการประชุม ได้แถลงผลการประชุม โดยมีมติให้กำหนดกรอบการทำงานของ กนช. โดยในปี 2561 จะประชุมกัน 4 ครั้ง ห่างกันครั้งละ 3 เดือน ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์น้ำและกนช.ได้แบ่งมอบอำนาจหน้าที่ให้คณะอนุกรรมการ 4 คณะ ใน 4 ด้าน ได้แก่ การวิเคราะห์/ติดตามสถานการณ์น้ำ การพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ การจัดทำ/ติดตามยุทธศาสตร์บริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และการกลั่นกรอง/วิเคราะห์/ประเมินผลโครงการ ซึ่งจะทำให้ กนช.ดำเนินการได้คล่องตัวมากขึ้น สามารถขับเคลื่อนแผนงานโครงการตามแผนยุทธศาสตร์ฯ ได้ระบบ
สำหรับการพิจารณาแผนงานโครงการนั้น ที่ประชุมมีข้อสรุปใน 3 ส่วน คือ 1.งบเพิ่มเติมปี 2561 มีที่มาจากการประชุมครม.สัญจร ในพื้นที่ จ.นครราชสีมา พระนครศรีอยุธยา และสุโขทัย โดยสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้พิจารณาโครงการที่มีความพร้อมด้านแบบ พื้นที่ ประชาชน และสามารถดำเนินการได้ใน 7 เดือน ซึ่งมีโครงการผ่านการพิจารณา 216 โครงการ วงเงิน 4,212 ล้านบาท เมื่อดำเนินการแล้ว จะเพิ่มน้ำได้ 25.72 ล้าน ลบ.ม. และมีพื้นที่ได้รับประโยชน์ 898,499 ไร่
2.งบประมาณ ประจำปี 2562 ซึ่งได้ผ่านคณะกรรมการพิจารณาจัดทำงบประมาณฯ บูรณาการฯ น้ำแล้ว เมื่อวันที่ 24 ม.ค. 2561 วงเงิน 128,784 ล้านบาท
3.แผนงานโครงการขนาดใหญ่ เป็นโครงการที่แก้ไขปัญหาสำคัญของทุกภาคในระยะ 20 ปี ซึ่งเริ่มขับเคลื่อนตั้งแต่ปี 2561 โครงการสำคัญ ได้แก่ ภาคเหนือ เช่น การแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง ลุ่มน้ำยมทั้งระบบ การพัฒนาบึงบอระเพ็ด และบึงสีไฟ ภาคกลาง เช่น การป้องกันน้ำท่วมลุ่มน้ำเจ้าพระยาทั้งระบบ ภาคอีสาน การเพิ่มแหล่งน้ำต้นทุน ได้แก่ การผันน้ำป่าสัก-ลำตะคอง การผันน้ำห้วยหลวง การก่อสร้างอ่างเก็บน้ำในลุ่มน้ำมูล รวมทั้งระบายน้ำลุ่มแม่น้ำชี และภาคใต้ เช่น การป้องกันน้ำท่วมพื้นที่เกษตร ชุมชนเมือง อย่างในนครศรีธรรมราช นราธิวาส ปัตตานี และชุมพร
ทั้งนี้ ปัจจุบันได้พิจารณาเห็นชอบโครงการฯ เพื่อเสนอครม. พิจารณาต่อไปแล้ว 3 โครงการ ได้แก่ การบริหารจัดการ/แนวทางการพัฒนาเพื่อรองรับระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก (อีอีซี) เพื่อให้มีน้ำอุปโภคบริโภคเพียงพอ รองรับการขยายตัวของชุมชนและเขตอุตสาหกรรม พร้อมทั้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนหลัก เพื่อรองรับการพัฒนาในระยะ 20 ปี ให้ครอบคลุมถึงการใช้น้ำระหว่างประเทศ เทคโนโลยีการพัฒนาน้ำบาดาลขั้นสูงและการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลต่อไป
โครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองชัยภูมิ วงเงิน 3,440 ล้านบาท ซึ่งเมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ จะลดน้ำท่วมนาข้าวได้ ปีละ 2 หมื่นไร่ ส่งน้ำช่วยพื้นที่เพาะปลูกในฤดูฝนได้ 1.86 หมื่นไร่ ในฤดูแล้ง 1,850 ไร่ และสนับสนุนน้ำอุปโภคบริโภคได้ 5 ตำบล 17 หมู่บ้าน 1.18 หมื่นครัวเรือน
โดยการแก้ไขปัญหาอุทกภัยเมืองชัยภูมิ ตามแผนปี 2562-2568 ที่ประชุมเห็นชอบในหลักการให้ กรมชลประทานเร่งดำเนินโครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองชัยภูมิ (ระยะที่ 1) โดยให้บูรณาการร่วมกับหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง สำหรับสถานการณ์น้ำและการเตรียมการเพื่อรองรับสถานการณ์น้ำปี 2561 คือปริมาณน้ำใช้การปัจจุบัน สามารถรองรับความต้องการใช้น้ำในทุกภาคส่วนจนถึงสิ้นฤดูแล้ง (เม.ย.61)
ส่วนที่ต้องพึงระวังคือ การบริหารจัดการน้ำเพื่อรองรับน้ำในฤดูฝน ควรพิจารณาพร่องน้ำให้สอดคล้องกับสภาพฝนและทิศทางของ ลมพายุที่ผ่าน และเตรียมรับมือปริมาณฝนที่คาดว่าจะตกในช่วงฤดูแล้ง โดยติดตามการคาดการณ์ของกรมอุตุฯ เน้นการบริหารจัดการน้ำในเขตเมืองและพื้นที่เกษตรเพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้น
สุดท้าย โครงการพัฒนาแหล่งน้ำแบบบูรณาการ พื้นที่ 6 ตำบล อ.ท่าหลวง จ.ลพบุรี จำนวน 2 โครงการ คือ ขุดลอกอ่างเก็บน้ำห้วยซับใต้ และขุดลอกอ่างเก็บน้ำบึงบัวหลวง (ทะเลวังวัด ) วงเงิน 14.12 ล้านบาท โดยจะเสนอ ครม. ขอรับการสนับสนุนงบกลางปี 2561 ต่อไป
ภาพประกอบ:http://thaisaeree.info