ดัชนีประชาธิปไตยโลกเผย ไทยอยู่กลุ่มประเทศไม่มีเสรีภาพสื่อ ปกครองแบบกึ่งเผด็จการ
อีไอยู เผยดัชนีประชาธิปไตย Democracy Index 2017 ไทยถูกจัดอยู่กลุ่มประเทศปกครองแบบกึ่งเผด็จการ รั้งที่ 107 ของโลก ขณะที่เสรีภาพของสื่อในประเทศถูกจัดอยู่ในกลุ่มไม่มีความเป็นอิสระร่วมเมียนมา
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ทาง Economist Intelligence Unit (EIU) ได้เผยแพร่รายงาน การจัดอันดับดัชนีประชาธิปไตยประจำปี2017 ( Democracy Index 2017) ซึ่งเป็นการสำรวจความเป็นประชาธิปไตยในประเทศต่างๆ 165 ประเทศทั่วโลกและอีก 2 ดินแดนภายใต้การปกครอง โดยการสำรวจจะวัดผลคะแนนจาก 5 ประเด็น ได้แก่ (1)กระบวนการเลือกตั้งและความเป็นพหุนิยม (Electoral process and pluralism) (2)ประสิทธิภาพการทำงานของรัฐบาล (Functioning of government) (3) การมีส่วนร่วมทางการเมือง (Political participation) (4) วัฒนธรรมการเมือง(Political culture) (5) เสรีภาพของพลเรือน (Civil liberties)
สำหรับดัชนีความเป็นประชาธิปไตยของไทยในครั้งนี้ พบว่า ไทยถูกจัดให้อยู่กลุ่มในประเทศที่มีการปกครองแบบ Hybrid regime หรือมีความหมายว่า กึ่งเผด็จการกึ่งประชาธิปไตย โดยได้คะแนนรวม 4.63 (เต็ม10) คะแนนจาก 5 ประเด็นข้างต้น ส่งผลให้ไทยถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 107 โลก และในส่วนของภูมิภาคเอเชียถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่ 20 เป็นรองประเทศเล็กๆ อย่างติมอร์ตะวันออก ที่ถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่ 7 ของภูมิภาค โดยมีคะแนนรวมเท่ากับ 7.19
หากนับเฉพาะประเทศในกลุ่มอาเซียนด้วยกันจะพบว่า ประเทศฟิลิปปินส์มีอันดับที่สูงที่สุด รองลงมาคือ มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และไทย ตามลำดับ
ขณะที่เมียนมา กัมพูชา เวียดนามและลาว ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีการปกครองแบบเผด็จการเบ็ดเสร็จ
ในรายงานฉบับนี้ ยังระบุด้วยว่า ปี 2017 ถือเป็นปีที่คะแนนความเป็นประชาธิปไตยในภูมิภาคเอเชียลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับปี 2016 หากดูคะแนนเฉลี่ยทั้งภูมิภาค เอเชียถูกจัดให้อยู่ในลำดับสุดท้ายที่คะแนน 5.63 ขณะที่ อเมริกาเหนือมีคะแนน 8.56 ยุโรปตะวันตก 8.38 และลาตินอเมริกา 6.26
นอกจากนี้ความแตกต่างในภูมิภาคเอเชียยังแสดงผลที่ต่างกันชัดเจน ยกตัวอย่างเช่น ประเทศนิวซีแลนด์ซึ่งได้คะแนนรวม 9.26 ติดอันดับ 4 ประเทศที่มีความเป็นประชาธิปไตยของโลก ขณะเดียวกันประเทศเกาหลีเหนือ ซึ่งอยู่ในภูมิภาคเดียวกันก็เป็นประเทศรั้งท้าย ได้คะแนนรวมไปเพียง 1.08 รั้งอันดับสุดท้ายของการสำรวจ ซึ่งประเทศนิวซีแลนด์และออสเตรเลีย เป็นเพียงสองประเทศในภูมิภาคเอเชียที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีความเป็นประชาธิปไตยหรือ full democracies แม้แต่ประเทศที่มีระบบการปกครองแบบประชาธิปไตยขนาดใหญ่อย่างอินเดียและอินโดนีเซีย ยังถูกจัดให้อยู่กลุ่ม Flawed democracy หรือ ประเทศที่ยังมีข้อบกพร่องในระบบประชาธิปไตย ในกลุ่มนี้ยังมีประเทศพัฒนาแล้วอย่าง ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ สิงคโปร์รวมอยู่ด้วย
รายงานฉบับนี้ยังเปิดเผยในประเด็นเสรีภาพสื่อทั่วโลกซึ่งใช้วัดดัชนีประชาธิปไตยของแต่ประเทศ พบว่า ปี 2017 ดัชนีในเรื่องนี้ลดลงในระดับที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ที่มีการสำรวจมาในปี 2006 แม้แต่ในประเทศที่พัฒนาเเล้ว กลับพบว่ามีการปิดกั้นเสรีภาพสื่อมากขึ้น โดยประเทศไทยถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่ 121 จาก 167 ประเทศทั่วโลกอยู่ในกลุ่มประเทศที่ไม่มีเสรีภาพทางสื่อ โดยประเทศที่อยู่ในลำดับเดียวกันกับไทยได้แก่ เมียนมา อียิปต์ คองโก แคมมารูน ภูฏาน คูเวต ทานซาเนีย โตโก และกาบอง ขณะที่สิงคโปร์ กัมพูชา ตกลงไปอยู่ในอันดับที่ 132 ส่วนประเทศที่มีเสรีภาพสื่อมากที่สุดในโลก ได้แก่ ออสเตรเลีย แคนนาดา เดนมาร์ก ฟินแลนด์ ไอซ์แลนด์ ไอร์แลนด์ ลักเซมเบิร์ก นิวซีแลนด์ สวีเดนและสหรัฐอเมริกา
EIUระบุว่า มีเพียง 30 ประเทศจาก 167 ประเทศที่สื่อมีเสรีภาพ จัดอยู่ในประเภท อิสระ โดยประเทศเหล่านี้มีการให้อิสระในการตีพิมพ์ทั้งรูปแบบของดิจิทัลและสื่อสิ่งพิมพ์ แม้ว่าจะมีข้อจำกัดบางประการ การระบบการดูเเลและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของสื่อยังคงแข็งแรง ขณะเดียวกันนั้นประเทศเหล่านี้ก็ไม่มีข้อจำกัดทางการเมืองในการเข้าถึงสื่อ ในขณะที่อีก 40 ประเทศ จัดอยู่ในส่วนของ การที่สื่อมีเสรีภาพบางส่วน ซึ่งหมายถึงว่ามีการครอบงำสื่อ มีอิทธิในการควบคุมความเห็นของกลุ่มคนเห็นต่างอยู่บ้าง หรือมีการใช้กฎหมายฐานหมิ่นประมาทอย่างหนักในการจำกัดการเสรีภาพในการแสดงออก รวมไปถึงการคุ้มครองสื่อที่ยังไม่เข้มแข็ง และมีข้อจำกัดในการเข้าถึงสื่ออย่างอินเทอร์เน็ต ในส่วนที่เหลือ 97 ประเทศ ที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่ม ไม่มีเสรีภาพทางสื่อ ซึ่งถือว่าเป็นครึ่งหนึ่งของประชากรโลก
“เสรีภาพของสื่อถือเป็นรากฐานสำคัญของระบบการปกครองแบบประชาธิปไตย ประเทศทั้งหลายที่มีดัชนีประชาธิปไตยที่สูงมักเกี่ยวโยงกับคะแนนของเสรีภาพของสื่อที่มีในประเทศด้วย เสรีภาพที่ว่าคือการที่สามารถเข้าถึงข้อมูล และสื่อมีอิสระในการตีพิมพ์ สิ่งเหล่านี้คือคุรสมบัติของการปกครองที่ดี เพราะเสรีภาพเหล่านี้ย่อมหมายถึงการวิพากวิจารณ์รัฐบาล และการทำหน้าที่ของรัฐสภาได้นั่นเอง” EIU ระบุ