กยท.เผยผล 3 เดือน ควบคุมยางพารา ไทยลดส่งออกได้ 2.3 เเสนตัน
กยท.-บ.ร่วมทุนยางพาราฯ เปิดเผยผลการดำเนินงานมาตรการ 3 เดือน ควบคุมส่งออกยางพารา "ไทย-อินโดฯ-มาเลย์" พบสามประเทศลดส่งออกได้ 3.5 เเสนตัน เฉพาะไทย 2.3 เเสนตัน ผู้ว่าการ กยท.ระบุช่วยราคายางกระเตื้องขึ้น คาดอนาคต "เวียดนาม" เตรียมเข้าร่วมด้วย
วันที่ 1 ก.พ. 2561 ดร.ธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) และ นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับ บริษัท ร่วมทุนยางพาราระหว่างประเทศ จำกัด (International Rabber Consortium Limited: IRCO ) แถลงการณ์ดำเนินการมาตรการควบคุมการส่งออกยาง 3 เดือน ณ ห้องประชุม กษ 135 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า การจัดเเถลงข่าวในครั้งนี้เป็นการยืนยันตามที่กระทรวงเกษตรฯ ได้มีการประกาศลงราชกิจจานุเบกษา ถึงเรื่องการลดการส่งออกยางพารา โดยใช้มาตรการต่าง ๆ ซึ่งได้ดำเนินการลดการส่งออกในตอนนี้ 3 ประเทศ คือ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ร่วมทั้งสิ้นตอนนี้ลดการส่งออกได้ 350,000 ตัน ซึ่งประเทศไทยมีสัดส่วนลดการส่งออกประมาณ 2.3 แสนตัน ทั้ง 3 ประเทศ หลังจากที่ร่วมมือกันในเรื่องของการลดการผลิตยางพาราอย่างจริงจังในระยะเวลาตลอด 3 เดือนนี้
นอกจากนั้นยังมีมาตรการอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการลดพื้นที่การเพาะปลูกและลดการส่งออกยาง เรื่องของการใช้ปริมาณยางพาราในประเทศให้มากขึ้น เช่น การให้หน่วยงานของรัฐบาลนำยางพาราไปใช้ในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ ถนนยางพารา พื้นสนามกีฬา เป็นต้น ซึ่งนำไปใช้รวมประมาณ 200,000 ตันในปี 2561 รวมไปถึงมาตรการรัฐบาลได้มีมติให้ทางกระทรวงเกษตรฯ ให้ความช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นการบรรเทาผลกระทบต่าง ๆ ของผู้ประกอบการในมิติต่าง ๆ เช่น โครงการสนับสนุนสินเชื่อเงินทุนหมุนเวียน จำนวน 2 หมื่นล้าน ชดเชยดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 3 ต่อปี
ด้าน ดร.ไคริล อันวาร์ ผู้เเทน IRCO กล่าวถึงผลการดำเนินงานตลอดที่ผ่านมาว่า อินโดนีเซียเเละมาเลเซีย ได้ดำเนินมาตรการอย่างเคร่งครัด อินโดนีเซีย มีสมาคมยางที่เป็นผู้จัดสรรและควบคุมการส่งออกยางพารา อีกทั้งยังมีกระทรวงการค้า เป็นผู้ควบคุมต่ออีกครั้ง ซึ่งได้ลดการส่งออกไปแล้ว 95,000 ตัน ส่วน มาเลเซีย มีพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมยางพารา อีกทั้งมีหน่วยงานที่คล้ายกับการยางแห่งประเทศไทยเป็นผู้บริหารคอยควบคุม ซึ่งได้ลดการส่งออกไปแล้ว 20,000 ตัน
อีกหนึ่งอย่างที่ในส่วนของทั้ง 2 ประเทศนี้ ดำเนินการเหมือนกับประเทศไทยคือมีการออกกฎและจัดสรรสิ่งต่าง ๆ ให้กับผู้ส่งออก ซึ่งได้ดำเนินการไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ขณะที่ดร.ธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หลังจากที่เริ่มมีการดำเนินการตั้งแต่ มกราคม เป็นต้นมา ราคายางพาราเริ่มมีการปรับตัวสูงขึ้น จากเดิมเฉลี่ยอยู่ที่ต่ำกว่า 150 USD ต่อกิโลกรัม คิดเป็นอัตราเงินไทยได้ประมาณ 40 บาท ตอนนี้ขึ้นมาเป็น 155 USD แต่ยังไม่สามารถเทียบเป็นอัตราเงินไทยในตอนนี้ได้ การลดปริมาณยางพาราจะทำให้เกิดการขยับตัวขึ้นของราคา ซึ่งการลดการส่งออกมิได้ทำให้ประเทศเสียประโยชน์แต่อย่างไร ในทางกลับกันราคาก็จะมีการปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อพี่น้องเกษตรกรที่จะได้ขายสินค้าในราคาที่เพิ่มขึ้น และคาดว่าในอนาคตจะมีประเทศเวียดนามเข้ามาร่วม ซึ่งเป็นรายใหญ่ในการส่งออกยางเช่นกัน .
ภาพประกอบ:http://songkhlatoday.com/paper/95876