ดันแก้กม. ตรวจฟาร์มเกษตรรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
นักวิชาการชี้นโยบายดันไทยเป็นผู้นำเกษตรอาเซียนไปถึงยาก แนะออกกม.คุ้มครองเกษตรกรรายย่อย นายกชาวนาระบุมาตรฐานสินค้าเกษตรเอื้อนายทุน มกอช. ดันแก้พ.ร.บ.คุมเข้มตรวจมาตรฐานฟาร์มทั่วประเทศ
สืบเนื่องจากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ปี 2558 ซึ่งภาคเกษตรกรรมไทยต้องปรับตัวเพื่อรองรับการเปิดการค้าเสรี โดยเฉพาะการพัฒนามาตรฐานสินค้าเกษตร นางนันทิยา อุ่นประเสริฐ รองผู้อำนวยการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยต่อศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศราว่า ไทยตั้งเป้าหมายที่จะเป็นผู้นำด้านสินค้าเกษตรของอาเซียน และปัจจุบันมีแผนกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแล้วกว่า 200 ฉบับ เพื่อรองรับปัญหาการกีดกันทางการค้าและคุ้มครองผู้บริโภคเมื่อเข้าสู่เออีซี ซึ่งมาตรฐานสินค้าเกษตรของไทยถือเป็นต้นแบบของประเทศในอาเซียน โดยเฉพาะสินค้าประเภทข้าว กุ้ง ข้าวโพด ผลไม้ และยางพารา และพยายามผลักดันไปสู่มาตรฐานสินค้าเกษตรประเภทอื่น
นางนันทิยา กล่าวอีกว่า ขณะนี้ได้มีการกำหนดให้ใช้เครื่องหมาย Q สีเขียว หรือ Q ธงชาติเป็นสัญลักษณ์แสดงสินค้าได้มาตรฐานมกอช. พร้อมกับเสนอให้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) มาตรฐานสินค้าเกษตรพ.ศ.2551 เพื่อเพิ่มมาตรฐานและความปลอดภัย ซึ่งถือเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคด้วย โดยสาระสำคัญประการหนึ่งคือ ให้สิทธินิติบุคคลประเภท มหาวิทยาลัย วิทยาลัย สมาคม มูลนิธิ ตลอดถึงบริษัท ได้เข้าเป็นคณะกรรมการตรวจสอบมาตรฐานสินค้าเกษตร จากเดิมที่ให้สิทธิเพียงบริษัทที่จดทะเบียน ส่งผลให้ขาดความหลากหลายในการตั้งเกณฑ์มาตรฐานรับรอง
“ปัจจุบันบุคลากรตรวจสอบมาตรฐานสินค้าของภาครัฐน้อย ส่งผลให้การตรวจสอบเข้าไม่ถึงกลุ่มเกษตรกรรายย่อย จึงจำเป็นต้องให้กลุ่มนิติบุคคลซึ่งกระจายตามภูมิภาคต่าง ๆ ดูแลเพิ่มเติม”
รองผอ. มกอช. กล่าวเพิ่มเติมว่า โดยรวมนั้นหลักเกณฑ์มาตรฐานสินค้าเกษตรอาเซียนมักจะเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มทุนและเกษตรกรที่มีความพร้อมผลิตสินค้ามากกว่า แต่ก็มั่นใจว่าเกษตรกรรายย่อยยังสามารถเข้าถึงข้อมูล และเตรียมพร้อมพัฒนามาตรฐานเพื่อเข้าสู่สากลได้ เพราะภาครัฐจะให้การสนับสนุน
ด้านนายไพสิฐ พาณิชย์กุล หัวหน้าโครงการวิจัยเครือข่ายวิชาการเพื่อการสนับสนุนความเป็นธรรมสำหรับเกษตรกรในระบบพันธะสัญญา กล่าวว่า การตั้งเป้าให้ไทยเป็นผู้นำมาตรฐานสินค้าเกษตรในอาเซียนนั้นไปถึงได้ยาก ทั้งนี้ฟาร์มขนาดใหญ่ในระบบทุนซึ่งเป็นระบบฟาร์มปิด มักจะไม่มีปัญหาในการผ่านการรับรองมาตรฐาน แต่เกษตรกรรายย่อยยังขาดความรู้และวิธีการผลิตสินค้าเกษตรที่ได้มาตรฐานสากล เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นระบบฟาร์มเปิดที่ขาดการควบคุมน้ำเสีย มลพิษทางอากาศ ปริมาณการผลิต อีกทั้งกระบวนการตรวจสอบมาตรฐานฟาร์มขนาดย่อยของมกอช. ยังมีไม่มากพอ
“การขับเคลื่อนภาคเกษตรไทยเข้าสู่เออีซี ไม่เอื้อเกษตรกรรายย่อย แต่ส่งเสริมการส่งออกของอุตสาหกรรมเกษตรมากกว่า เพราะมุ่งตัวเลขทางเศรษฐกิจ ฉะนั้นเกษตรกรรายย่อยจำเป็นต้องปรับตัวเรียนรู้เทคโนโลยี เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ตนเองโดยไม่ต้องพึ่งภาครัฐหรือกลุ่มทุนขนาดใหญ่”
นายไพสิฐ กล่าวต่อว่า หากต้องการให้สินค้าเกษตรไทยได้มาตรฐานสากล ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันกำหนดหลักเกณฑ์การตรวจสอบคุณภาพให้เป็นรูปธรรมและจริงจัง ทั้งนี้เสนอให้มีการกำหนดมาตรการคุ้มครองภาคเกษตรกรรมอย่างชัดเจน เช่น การคุ้มครองพื้นที่เกษตร ตั้งธนาคารที่ดินเพื่อการเกษตร และลดภาษีของเกษตรกรด้วย
นายประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาข้าวไทย กล่าวว่า การกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตรไทยของมอกช. ไม่เกิดประโยชน์ต่อเกษตรกร ตั้งแต่ขาดการประชาสัมพันธ์และสร้างองค์ความรู้ให้เกษตรกรส่วนใหญ่ ทั้งด้านมาตรฐานคุณภาพการผลิต การตลาด ตลอดถึงการเพาะเมล็ดพันธุ์พืชที่ต้านทานโรคและให้ผลผลิตสูง หวั่นว่านโยบายการก้าวเป็นผู้นำด้านมาตรฐานสินค้าเกษตรอาเซียนนั้นจะเอื้อประโยชน์เฉพาะกลุ่มนายทุน ขณะที่เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่ได้รับการเหลียวแลจากภาครัฐ
ทั้งนี้จากข้อมูลการกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานและตรวจสอบสินค้าเกษตร มีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์ และขั้นตอนการกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตรไว้ ได้แก่ 1.สินค้าส่งออกที่มีมูลค่าการส่งออกสูง 2. สินค้าที่มีปัญหาด้านคุณภาพ 3.สินค้าที่มีผลกระทบต่อเกษตรกรจำนวนมาก 4.สินค้าที่องค์การระหว่างประเทศกำหนดมาตรฐานแล้ว แต่ประเทศไทยยังไม่นำมาใช้ 5.สินค้าที่ภาคเอกชนและผู้บริโภคต้องการให้มีการกำหนดมาตรฐานและ6.สินค้าที่คณะกรรมการฯ ต้องการให้มีการกำหนดมาตรฐาน.