เร่งทบทวน “ยุทธวิธี” เรียกตรวจรถบนถนน ที่ทุกคนจะปลอดภัย
จากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2561 ที่ผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ Hawa Hawax โพสต์ภาพและคลิปขณะถูกชนบนถนนทางหลวงจนได้รับบาดเจ็บ และสภาพรถที่พังยับเยิน พร้อมระบุ ขณะขับรถไปเล่นดนตรีที่อยุธยา อยู่ๆ ตำรวจทางหลวงเดินมากลางถนนเพื่อโบกรถสิบล้อคันข้างหลังที่อยู่เลนขวาสุดให้หยุด แต่สิบล้อเบรคไม่ทันชนท้ายรถจนทำให้บาดเจ็บและทรัพย์สินเสียหาย https://www.dailynews.co.th/regional/624156
ก่อนหน้านี้ ก็จะพบเหตุการณ์ลักษณะนี้เป็นระยะๆ เช่น
- เหตุการณ์เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 2558 : รถตู้ชนท้ายรถพ่วงเมื่อตำรวจเรียกตรวจกระชั้นชิด จนทำให้นักท่องเที่ยวชาวฮ่องกง เสียชีวิต 4 ราย http://news.sanook.com/1808515/
- กรณีเหตุการณ์เมื่อวันที่ 11 ก.ค. 2558 : รถเก๋งนักศึกษาแพทย์หักหลบรถบรรทุกที่หยุดกระทันหันไปชนตำรวจที่อยู่ริมถนนเสียชีวิต เพราะไม่ทราบว่าข้างหน้ามีด่านตรวจ https://www.thairath.co.th/content/511001
- กรณีตั้งด่านตรวจที่ จ.อุดรฯ ทำให้รถที่วิ่งผ่านจุดตรวจมีการชนท้าย 3-4 คัน https://news.mthai.com/social-news/598717.html
การเรียกตรวจรถบนทางหลวงที่รถวิ่งด้วยความเร็วสูง จะมีความเสี่ยงและมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุทั้งต่อผู้ใช้รถใช้ถนนและเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือบุคลากรอื่นๆ เนื่องจาก
1. รถที่ใช้ความเร็วสูง ต้องมีระยะในการเตือนที่เพียงพอ ให้สามารถชะลอและหยุดรถได้ทัน เช่น กรณีรถที่วิ่งความเร็ว 80 กม/ชม. ต้องใช้ระยะหยุดไม่น้อยกว่า 52.7 เมตร โดยระยะหยุดจะเพิ่มขึ้นถ้ามีความเร็วเพิ่มขึ้น (ความเร็ว 100 กม/ชม. ก็ต้องใช้ระยะหยุดถึง 77.7 เมตร) ถนนมีสภาพเปียกชื้น หรือมีสถานการณ์ที่ทำให้ระยะเวลาตัดสินใจเหยียบเบรกช้าลง เช่น มองไม่เห็นว่ามีด่านอยู่ข้างหน้า การละสายตาหรือขาดสมาธิในการขับรถ (distraction) ฯลฯ
2. รถยนต์ที่ขับตามกันมา มักจะเว้นระยะห่างไม่เพียงพอ (ขับชิดกับคันหน้า) ซึ่งระยะห่างที่ปลอดภัยจากคันหน้าควรมีระยะเวลาไม่น้อยกว่า 3-4 วินาที ในการตัดสินใจหยุดหรือหักหลบ (ระยะห่างที่เหมาะสมจะขึ้นกับความเร็ว ณ ขณะนั้น เช่น ความเร็ว 80 กม/ชม. ก็ควรเว้นระยะห่าง 66 เมตรเป็นอย่างน้อย)
3. การเรียกตรวจในลักษณะที่ออกไปยืนกลางถนน อย่างกรณีเหตุการณ์ครั้งนี้ จะอันตรายกับผู้ใช้รถใช้ถนนและเจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะถ้าไม่มีการเตือนให้ชะลอและทำสัญลักษณ์เบี่ยงช่องจราจร เช่น วางกรวยบีบช่องทางเหลือช่องเดียว
• ยิ่งถนนที่มีหลายช่องทาง (หลายเลน) เมื่อคันหน้าชะลอหรือหยุดกระทันหัน คันที่ขับตามมาอาจจะชนท้ายหรือหักหลบ ซึ่งทำให้เจ้าหน้าที่ที่ยืนอยู่อันตรายได้
• การยืนโบกให้รถที่ขับตามกันมา แต่ละคันก็มักจะเข้าใจว่าถูกเรียกให้หยุด (ไม่คิดว่าเป็นการเรียกตรวจคันหลัง) ทำให้รถที่ขับตามมาติดๆ หยุดไม่ทันและชนท้ายเหมือนกรณีนี้
ข้อเสนอเพื่อพิจารณา ในการทบทวนยุทธวิธีการเรียกตรวจบนถนนทางหลวง
1. ต้องยึดหลักเรื่องความปลอดภัยทั้งฝ่ายผู้ใช้รถใช้ถนนและฝ่ายเจ้าหน้าที่เป็นสำคัญ
2. เพื่อให้เกิดความปลอดภัยทั้งสองฝ่าย ควรตั้งด่าน/หรือจุดตรวจ ตามมาตรฐานความปลอดภัยที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติกำหนดไว้แล้ว เช่น
• มีการแจ้งเตือนไม่ต่ำกว่า 150 เมตร (ป้าย, ไฟวับวาบ)
• มีการวางกรวยสะท้อนแสง เพื่อเบี่ยงช่องทางในระยะที่เหมาะสม
• มีรถจอดป้องกันเจ้าหน้าที่ กรณีรถที่ขับมาหยุดไม่ทันและพุ่งชน
3. กรณีที่ไม่สามารถตั้งจุดตรวจที่ได้ตามมาตรฐานความปลอดภัย ควรพิจารณาเลือกยุทธวิธีอื่นๆ ได้แก่
(1) ใช้กล้องตรวจจับ (กล้อง CCTV, หรือกล้องติดรถ) เพื่อบันทึกพฤติกรรมที่ผิดกฎหมายและป้ายทะเบียน พร้อมส่งใบสั่งไปที่เจ้าของรถ โดยเฉพาะรถบรรทุก ตำรวจสามารถแจ้งความผิดตาม พรบ.ขนส่งฯ กับผู้ประกอบการซึ่งจะมีผลต่อการกำกับทั้งพฤติกรรมคนขับและความรับผิดชอบของผู้ประกอบการ ได้อีกทางหนึ่ง
(2) กรณีเร่งด่วน ควรเลือกใช้ยุทธวิธีขับรถสายตรวจ ติดตามและเรียกหยุดริมทาง พร้อมเปิดไฟวับวาบ เตือนผู้ใช้รถใช้ถนนคันอื่นๆ
4. ทุกครั้งที่มีการชนในจุดที่มีการเรียกตรวจ (ด่านตรวจ หรือการเรียกตรวจแบบอื่นๆ) ต้องมีระบบสอบสวนสาเหตุเชิงลึก เพื่อนำมาวิเคราะห์และทบทวนยุทธวิธีในการดำเนินงาน พร้อมทั้งการเสริมความรู้ในด้านความปลอดภัยทางถนนให้กับตำรวจที่ปฎิบัติงานทุกคน โดยเฉพาะความรู้ที่จำเป็นกับการปฎิบัติงานอย่างปลอดภัยทั้งผู้ใช้รถใช้ถนนและตำรวจที่ปฎิบัติงาน
บทสรุป : การเรียกตรวจรถที่กระทำความผิด ยังคงเป็นเรื่องที่สำคัญและจำเป็น แต่ทำอย่างไร ยุทธวิธีในการเรียกตรวจจะคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนนและเจ้าหน้าที่ที่ปฎิบัติงานเป็นหลัก ดังนั้นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ถือเป็นกรณีศึกษาที่สำคัญที่จะนำมาพัฒนาแนวทางการเรียกตรวจบนถนนทางหลวง ให้เกิดความปลอดภัยกับทุกฝ่าย
หมายเหตุ : ภาพประกอบจากเดลินิวส์