นักวิชาการชี้ไทยขาดทักษะเทคโนโลยีขั้นสูง-AI จับมือ 3 สถาบันยกระดับหลักสูตรวิศวะ
จุฬา-สจล.-ซีเอ็มเคแอล ลงนาม MOU ตั้ง 2 หลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์ร่วมกัน ยกระดับการศึกษา พัฒนาองค์ความรู้ใหม่ให้เท่าทันโลก ทั้งตอบสนองนโยบายรัฐ ชี้ประเทศไทยยังขาดแคลนบุคลากรเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีขั้นสูง ปัญญาประดิษฐ์(AI) คาดเปิดรับนักศึกษารุ่นแรกปีการศึกษา 2561นี้
เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2561 คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดพิธีลงนามความร่วมมือทางวิชาการระหว่างคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และมหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล(CMKL) ณ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งเป็นการผนึกกำลังในการเปิดมิติวงการอุดมศึกษาโดยมีการสร้างหลักสูตร 2 หลักสูตร(Double degree) ได้แก่ หลักสูตรวิศวกรรมหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งการร่วมมือระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และอีกหลักสูตรคือหลักสูตรวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์(Electrical & Computer Engineering: ECE)ซึ่งจะเปิดสอนที่มหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาและศักยภาพบัณฑิตไทยให้มีความรู้ สอดคล้องกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี
ด้านศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเปิดเผยว่า ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ ส่งผลให้ภาคการศึกษาจำเป็นต้องปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตร รวมทั้งอัพเกรดองค์ความรู้ทางวิชาการใหม่ๆ ให้เท่าทันการเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ประเทศยังต้องการบุคลากรในการสร้างความแข็งแกร่งและพัฒนาศักยภาพขีดความสามารถในการแข่งขัน ทำให้ทิศทางการส่งเสริมและพัฒนาการศึกษายุคนี้ ต้องอาศัยการบูรณาการความรู้ร่วมกันระหว่างสถาบันการศึกษาที่มีศักยภาพ
“การศึกษาของประเทศไทยต้องมีการปรับปรุง แต่เดิมบทบาทของมหาวิทยาลัยมีแค่เรื่องสอบ วิจัย และช่วยเหลือสังคม ดังนั้นบทบาทใหม่ของมหาวิทยาลัยจะต้องเตรียมตัวและปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ต้องอาศัยการบูรณาการความรู้ร่วมกันระหว่างสถาบัน เพื่อให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ซึ่งการร่วมมือของสามมหาวิทยาลัยเป็นมิติที่ดีที่จะช่วยประเทศต่อไปในอนาคต” ศ.ดร.บัณฑิตกล่าว
ด้าน ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง(สจล.)กล่าวว่า ความร่วมมือทางวิชาการครั้งนี้มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อตอบสนองกับนโยบายของทางรัฐบาล ตอบสนองต่อวาระแห่งชาติในด้านต่างๆ โดยเฉพาะการผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ ความสามารถตรงกับความต้องการของประเทศชาติ ซึ่งปัจจุบันพบว่าด้านวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูงยังขาดแคลนบุคลากรด้านนี้อยู่มาก นอกจากนี้จะยังมีการส่งเสริมพัฒนาบุคลากรสายวิชาการ สายสนับสนุนวิชาการและและนักศึกษาโดยมีการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างสถาบันซึ่งแต่ละแห่งจะมีความเชี่ยวชาญที่ต่างกัน
“ในทางปฏิบัติจึงเป็นการช่วยเติมเต็มศักยภาพซึ่งกันและกัน ภายใต้การใช้ทรัพยากรทางวิชาการร่วมกัน ตลอดจนส่งเสริมการทำวิจัยร่วมกันเพื่อการพัฒนานวัตกรรมและองค์ความรู้ใหม่ๆ อีกทั้งส่งเสริมความร่วมมือในการให้บริการทางวิชาการร่วมกัน แก่ชุมชน หน่วยงานรัฐ และเอกชนอีกด้วย”ศ.ดร.สุชัชวีร์กล่าว
ขณะที่ ผศ.ดร.สุพันธุ์ ตั้งจิตกุศลมั่น อธิการบดีมหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล (CMKL) กล่าวว่าการร่วมมือกันของสามสถาบันเป็นการนำผู้เชี่ยวชาญทั้งด้านคอมพิวเตอร์ ด้านปัญญาประดิษฐ์(AI) ร่วมกับมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอนซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำ ของประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในด้านคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีขั้นสูงระดับโลก ทำให้หลักสูตรปริญญาตรีวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ สามารถผลิตบัณฑิตได้ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศในด้านต่างๆ อาทิ ด้านหุ่นยนต์สมองกล วิทยาศาสตร์ข้อมูล ความปลอดภัยไซเบอร์ เครือข่ายไร้สาย เมืองอัจฉริยะ พลังงานและเทคโนโลยีสุขภาพ โดยประโยชน์ที่ได้สูงสุดจากความร่วมมือในครั้งนี้จะตกอยู่ที่นักศึกษา ซึ่งถือเป็นกำลังสำคัญหลักของของประเทศชาติที่จะพัฒนาให้ก้าวไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 อย่างสมบูรณ์แบบ
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า หลังจากนี้จะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างสามสถาบัน เรียกว่า “คณะกรรมการโครงการความร่วมมือสามฝ่าย” เพื่อดำเนินการจัดตั้งหลักสูตรให้บรรลุตามวัตถุประสงค์คาดว่าจะดำเนินการได้เสร็จและสามารถเปิดรับนักศึกษารุ่นแรกได้ในปีการศึกษา 2561 เป็นต้นไป โดยนักศึกษาที่ได้รับการคัดเลือกเข้าเรียนในหลักสูตรนี้ จะหมุนเวียนเรียนทั้งที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง โดยเน้นหลักสูตรด้านวิศวกรรมหุ่นยนต์และปัญญหาประดิษฐ์ หรือ AI ซึ่งปัจจุบันเข้ามามีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อมนุษย์ ไม่เฉพาะด้านการทำงานซึ่งปัจจุบันมีการคาดการณ์ว่าจะเข้ามาแทนแรงงานคนในหลายๆ วิชาชีพเท่านั้น แต่ยังแทรกซึมอยู่ในเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เราใช้อยู่ทุกวัน