อุดรธานี : ศรีแห่งยุทธศาสตร์
"...อุดรธานี ในความจริง คือ ศรีแห่งยุทธศาสตร์ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” จะเป็นเมืองใหญ่ที่สุดที่นักเดินทาง ผู้ขับขี่หรือโดยสารที่เดินทางออกจากจีนแล้ว จะพักหยุด หลังจากที่ผ่านเข้าและออกจากลาวแล้ว นักเดินทางจะมาเจออุดรธานี อันเป็น “นครใหญ่” ที่มีประชากรอยู่ร่วม 500,000 คน ถ้าเราสามารถยกการท่องเที่ยวในแถบนั้นให้ประณีตขึ้น ให้คุณภาพสูงขึ้น อย่าลืมว่า จังหวัดอุดรธานีนั้น มีผู้คนถึง 1.5 ล้านคน ใหญ่กว่าประชากรของเวียงจันทน์และหลวงพระบางรวมกันเสียอีก..."
(ภาพประกอบจาก http://udonechamber.com/)
ผมไปเยือนอุดรธานีเพิ่งจะกลับมา น่าจับตามองครับ เมืองนี้มาได้ดีมากและจะไปได้ดีเยี่ยม ใหญ่ ทันสมัย สวย น่าเที่ยว ธรรมชาติงดงาม และ ที่โดดเด่นยิ่ง เมืองนี้เชื่อมโยงอย่างแนบแน่นกับหนองคาย เวียงจันทน์ อินโดจีน และ จีนตอนใต้
อุดรธานีเป็นหนึ่งในสี่เมืองใหญ่ของภาคอีสานที่ยิ่งใหญ่และสำคัญไม่แพ้ใครเลย ยกเว้น กทม โดยที่เหลืออีกสามเมือง คือ นครราชสีมา ขอนแก่น อุบลราชธานี ซึ่งในสี่เมืองใหญ่นี้ ในสมัยปฏิรูปการปกครองในรัชกาลที่ห้า มีเจ้านายชั้นผู้ใหญ่เสด็จไปประทับต่างพระเนตรพระกรรณถึงสองเมือง คือ ที่อุบลราชธานีนั้นมีกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ส่วนที่อุดรธานีก็มีกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม
อุบลราชธานีนั้น เป็นเมืองประเทศราชสำคัญมานานแล้ว แต่ครั้งก่อนรัชกาลที่ห้าเสียอีก แต่อุดรธานีนั้น แน่นอน เป็นเมืองที่เกิดใหม่หลังจากทำสนธิสัญญาเขตแดนกับฝรั่งเศส ใช้ร่องลึกแม่น้ำโขงแยกแผ่นดินสยามกับลาวออกจากกัน ลาวตกเป็นอาณานิคมฝรั่งเศส ซึ่งตามสนธิสัญญานั้นกองทหารสยามจะไปตั้งอยู่ณ หนองคายประชิดแม่น้ำโขงไม่ได้ รัฐบาลสยามจึงให้กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคมซึ่งเคยนำทัพไปปราบฮ่อได้สำเร็จในแถบนั้นตั้งเมืองใหม่ขึ้นมา ชื่อว่า “อุดรธานี” ซึ่งห่างจากน้ำโขงราว 40 กม เพื่อใช้เป็นกองบัญชาการทหารสยาม และ เพื่อเป็นศูนย์ราชการแผ่นดินในเขตอีสานเหนือ ที่เรียกชื่อว่า “มณฑลอุดร” ขึ้นมา
อุดรธานีจึงถือกำเนิดขึ้นมาด้วยความสำคัญทางยุทธศาสตร์ของพื้นที่โดยแท้ คือเป็นจุดที่อำนาจของสยามไปตรึงอยู่กับอิทธิพลและกำลังพลของฝรั่งเศสที่แผ่ขยายไปอย่างรวดเร็วในแถบอินโดจีน อุดรธานีนั้นอยู่ชิดใกล้ กับนครเวียงจันทน์ มีก็เพียงแค่น้ำโขงกั้นเอาไว้ ทั้งห่างไม่มากนักกับหลวงพระบาง และอยู่ไม่ไกลนักจากฮานอยของเวียดนามที่ตกเป็นของฝรั่งเศสเช่นกัน อุดรธานีนั้นเป็นเมืองใหญ่ในอีสานของเราที่อยู่ใกล้กับฮานอยที่สุด ในขณะที่น่าน ก็เป็นเมืองภาคเหนือที่ใกล้ฮานอยที่สุด
อุดรธานี ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นจุดที่มีคนเวียดนามอพยพเข้ามาอยู่ในไทยมากที่สุด โฮจิมินห์เองก็เคยหลบซ่อนแฝงตัวทำงานปฏิวัติในอุดรธานีถึง 7 ปี เวลานี้ก็ยังมีคนไทย-เวียดนาม อยู่ในจังหวัดอุดรธานีมากกว่า 50,000 คน เข้าใจว่ามีมากที่สุดในประเทศทีเดียว
ยิ่งกว่านั้น อุดรธานีไม่ได้อยู่ไกลจากจีนตอนใต้เลย พวกกบถ”ไท่ผิง”ในจีนจึงหนีลงใต้เข้าไปในเวียดนามและลาวก่อน และจากนั้นลงต่อมายังเมืองหลวงพระบางและเวียงจันทน์ และยังคุกคามอีสานของสยามด้วย ซึ่งเราเรียกจีนพวกนี้ว่า “ฮ่อ” อุดรธานีในยุคแรกตั้ง จึงมีบทบาทในการตรึงกำลังพวก “ฮ่อ” ไว้ ให้หยุดอยู่คนละฝั่งของแม่น้ำโขง
อุดรธานีตั้งแต่ต้นจึงเป็น “เมืองเอก” ของรัตนโกสินทร์ ที่มาตั้งอยู่ที่อีสาน บัญชาการและวางผังโดยกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม พระอนุชาใกล้ชิด ต่างเพียงพระมารดา ทรงถือราชอาญาสิทธิ์ต่างพระเนตรพระกรรณ เพื่อมาสร้างความมั่นคงและรุ่งเรืองแก่พระราชอาณาเขตแถบนั้น ไม่ให้น้อยหน้ากว่าเวียงจันทน์และหลวงพระบางของฝรั่งเศสเป็นอันขาด
ถ้ากบถ”ฮ่อ” ของจีน หรือมหาอำนาจฝรั่งเศสก็ดี หรือโฮจิมินห์ ก็ดี ล้วนแต่เห็นว่าอุดรธานีนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อยุทธศาสตร์ของตนในโลกยุคอาณานิคม การล่าเมืองขึ้น ตลอดจนการต่อต้านอาณานิคมฉันใด สหรัฐอเมริกา มหาอำนาจโลกหมายเลขหนึ่ง ย่อมเล็งเห็นความสำคัญของอุดรธานีและอีสานทั้งภาคได้ในยุคสงครามเวียดนามอย่างแน่นอน ฐานทัพ เครื่องบิน เรดาร์ และ สนามบิน สหรัฐ จึงอยู่เต็มภาคอีสาน กองทหารอเมริกันกว่าครึ่งแสนประจำการอยู่ในอีสาน อุดรธานีนั้นสำคัญที่สุดในสายตานักยุทธศาสตร์สหรัฐ ความที่อยู่ใกล้เวียงจันทน์ บางช่วงจึงมีทหารสหรัฐประจำการอยู่กว่าสองหมื่นคน
หลังสงครามเวียดนามสิ้นสุดในปี 2518-2519 อุดรธานีลดความสำคัญทางยุทธศาสตร์ลงบ้าง สหรัฐทิ้งเอเชียอาคเนย์ ออกจากไทย แต่ถนน หนทางโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ทุนมหาศาลที่สั่งสมที่นั่น ประสบการณ์บทเรียนทางธุรกิจมากมายที่ชาวอุดรธานีรับเอามาจากสหรัฐ ก็ขับเคลื่อนอุดรธานีให้วิ่งไปข้างหน้าได้ด้วยตนเอง
ครั้นมาถึงปัจจุบัน อุดรธานีก็พลันกลับมาเป็น “ศรีแห่งยุทธศาสตร์” ระหว่างประเทศอีก สักห้าปีมานี้ ที่น้ำหนักและแรงเหวี่ยงเศรษฐกิจโลกหันไปสู่ด้านตะวันออก เข้าสู่ยุคที่ผมเรียก “บูรพาภิวัตน์” มีจีน ที่อยู่ใกล้เรา เป็นหัวรถจักรสำคัญในการชักดึงเอาเอเชียและลากนำโลกไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วยิ่ง ขณะนี้จีนกำลังเร่งสร้าง “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” สร้างทางหลวงทันสมัยและวิ่งรถไฟความเร็วปานกลาง หรือความเร็วสูง เชื่อมจีนทางตอนใต้ผ่านไทยลงไปมาเลเซียไปจนถึงสิงคโปร์
เดิมทีคิดกันว่าจีนจะ”ต่อ” กับไทยผ่านภาคเหนือ: คือเชียงใหม่หรือเชียงราย โดยทำเส้นทางทั้งถนนและรถไฟผ่านลาวหรือพม่า ตรงมายัง “ภาคเหนือ” ของไทยก่อน และจากนั้นก็ต่อลงไปอีกจนถึงกรุงเทพฯ ไปภาคใต้ และไปถึงมาเลเซีย สิงคโปร์ แต่บัดนี้ความคิดทางยุทธศาสตร์ของจีนเป็นที่ชัดเจนและแปรเป็นการปฏิบัติแล้ว คือ จีนจะเข้าหลวงพระบางและเวียงจันทน์ก่อน แล้วจึงเข้าไทยโดยผ่าน “ภาคอีสาน” ต่างหาก ถนนและรถไฟจากจีน จะผ่านหลวงพระบาง ต่อมายังเมืองหลวงลาวคือ เวียงจันทน์ ข้ามแม่น้ำโขง มายังหนองคาย ต่อมาถึงอุดรธานี
อุดรธานี ในความจริง คือ ศรีแห่งยุทธศาสตร์ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” จะเป็นเมืองใหญ่ที่สุดที่นักเดินทาง ผู้ขับขี่หรือโดยสารที่เดินทางออกจากจีนแล้ว จะพักหยุด หลังจากที่ผ่านเข้าและออกจากลาวแล้ว นักเดินทางจะมาเจออุดรธานี อันเป็น “นครใหญ่” ที่มีประชากรอยู่ร่วม 500,000 คน อาจแค่มาพบเจอ หรือ อาจลงเที่ยวพักกันหลายวันในแถบอุดรธานี-หนองคาย-บึงกาฬ ก็เป็นไปได้ โดยเฉพาะ ถ้าเราสามารถยกการท่องเที่ยวในแถบนั้นให้ประณีตขึ้น ให้คุณภาพสูงขึ้น อย่าลืมว่า จังหวัดอุดรธานีนั้น มีผู้คนถึง 1.5 ล้านคน ใหญ่กว่าประชากรของเวียงจันทน์และหลวงพระบางรวมกันเสียอีก ยกระดับคุณภาพคนอีกสักนิด ครับ เงินทองจากนักท่องเที่ยวจำนวนมหาศาลจากจีน ลาว และเวียดนาม จะพลันตกอยู่ในอุดรธานีและจังหวัดใกล้เคียงได้ไม่ยาก
อุดรธานี มี “ศักยภาพ” สูงมาก ครับ ฉะนั้น จงมาร่วมกัน ทั้งชาวอุดรธานี คนอีสาน ทั้งรัฐบาล ทั้งทัองถิ่น จงมา ช่วยกันเปลี่ยน “ศักยภาพ” นี้ให้กลายเป็น “ความจริง” ทำให้ถูก ทำให้ดี อย่าย่อท้อ อุดรธานี อยู่ในวิสัยจะร่วมกับเมืองขอนแก่น เมืองอุบลราชธานี และเมืองนครราชสีมา สร้าง “อีสานใหม่”ให้เกิดขึ้น “อีสานใหม่” ที่จะกลายเป็นภาคที่เชื่อมต่อกับจีนในทางบกและในทางอากาศ จะเติบใหญ่และรุ่งเรืองขึ้นไม่ยั้งจากการท่องเที่ยวเดินทางและทำธุรกิจของคนจีน คนเอเชีย และคนทั่วโลก ก็นี่แหละครับ ที่เรียกอุดรธานีว่า “ศรีแห่งยุทธศาสตร์” ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต