เอนกชี้ คนไทยมีศักยภาพในการปรองดอง -กระจายอำนาจจะนำไปสู่ความสามัคคี
“เรื่องปรองดองและสามัคคีนั้น ผมคิดว่าไม่ใช่เรื่องใหญ่ เพราะคนไทยเราเป็นคนที่สามัคคีกันได้ ปรองดองกันได้ เพราะคนไทยเราไม่ค่อยถือสากัน และโดยโครงสร้างที่เป็นพื้นฐานของสังคมไทยจริงๆ เป็นโครงสร้างของความรักความสมัครสมาน”
เมื่อเร็วๆ นี้ ศ.ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง ประธานสถาบันคลังปัญญาด้านยุทธศาสตร์ชาติ และอธิการวิทยาลัยรัฐกิจ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวในการบรรยายเรื่องการส่งเสริมกิจกรรมสร้างความรักความสามัคคีปรองดองสมานฉันท์และลดความขัดแย้งในสังคม ภายใต้โครงการฝึกอบรมชุดปฏิบัติการขับเคลื่อนสร้างความปรองดองสมานฉันท์ประจำตำบลโดยผ่านกลไกคณะกรรมการหมู่บ้าน ประจำปี 2561 จัดโดยกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ณ จังหวัดอุดรธานี
ศ.ดร. เอนก กล่าวถึงโครงสร้างที่เป็นพื้นฐานจริงๆ ของสังคมไทย ดูที่ไหน ดูที่ระดับหมู่บ้าน สูงที่สุดก็ดูที่ระดับเมือง คนไทยเป็นคนที่อะลุ่มอล่วย เป็นคนที่ไม่หักหาญกัน อยากจะทำอะไรก็ต้องให้ได้ประโยชน์กับทุกๆ ฝ่าย ถ้าประโยชน์ขัดกันก็เจรจากันได้ ประเทศไทยนั้น ถ้าเราดูเฉพาะเรื่องขัดแย้งเหลืองกับแดงไม่กี่ปีมานี้ เราจะรู้สึกว่ามันช่างไม่สงบ มันช่างเดือดร้อน แต่ถ้าเราละสายตาจากเรื่องเฉพาะนี้ของเรา ซึ่งบางครั้งมันจำเป็นต้องละสายตาบ้าง ไปสู่ภาพอีกภาพหนึ่ง เราจะเห็นว่าประเทศไทยนั้นสงบมาก สันติมาก รอบๆ บ้านของเราก็ไม่สันติเท่าเรา โลกหลายส่วนวุ่นวาย เต็มไปด้วยการรบราฆ่าฟัน ในซีเรียก็ยังรบกันอยู่ ในอัฟกานิสถานก็ยังรบอยู่ เวลานี้อเมริกาไปรบในอัฟกานิสถานยาวกว่าที่ไปรบในเวียดนามแล้ว เรื่องก็ยังไม่จบ ในอิรักที่ซัดดัมตายไปไม่รู้กี่ปีแล้วสงครามก็ยังไม่ยุติ ในแอฟริกาก็ยังรบกันหลายประเทศมาก แต่ประเทศไทยเราเป็นประเทศที่มีสันติภาพ มีความปรองดองกันมานานมาก ตื่นมาเราไม่ได้ยินเรื่องสงครามในประเทศไทย แต่ถ้าเราตื่นมาในซีเรีย เราจะได้ยินว่าวันนี้ฝ่ายกบฏยึดเมืองนั้น รัฐบาลกำลังไปทิ้งระเบิดเพื่อยึดเมืองนี้คืน ในประเทศไทยเราไม่มีเรื่องแบบนี้
สิ่งที่ผมตั้งใจจะบอกก็คือ คนไทยเรามีศักยภาพในการปรองดองกันอยู่แล้ว ตอนที่เกิดเหตุการณ์ 66/23 ในยุคที่พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นแม่ทัพภาคที่สอง พลเอกชวลิต ยงใจยุทธเป็นนายทหารฝ่ายเสนาธิการของพลเอกเปรมนั้น คนไทยจำนวนหลายหมื่นคนก็ได้กลับมาสู่อ้อมอกของแผ่นดินไทย กลับมาเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย เป็นพลเมืองดี บางคนในเวลาต่อมาได้เป็นรัฐมนตรี บางคนได้เป็นรองนายกรัฐมนตรี ไม่มีที่ไหนในโลกหรอกที่คนเคยรบกันขนาดนี้แล้วจะกลับมาคืนดีกันได้ แต่ของเราในที่สุดก็คืนดีกันได้ ในยุคของพลเอกสุจินดากับพลตรีจำลอง ศรีเมือง ก็กำลังจะยิงกันอยู่แล้ว กำลังจะเกิดการบาดเจ็บล้มตายจำนวนมากมายอยู่แล้ว เหตุการณ์ก็ยุติลงได้ ตอนก่อนการยึดอำนาจปี 2557 นั้น ผมก็คิดว่าบ้านเมืองคงจะใกล้เป็นรัฐล้มเหลว (failed state) แล้ว ฝรั่งก็คิดว่าเมืองไทยใกล้จะเป็นรัฐล้มเหลวแล้ว ในที่สุดก็ไม่เป็น เราก็อยู่กันมาได้ จนถึงตอนนี้ก็สี่ปีแล้ว อาจจะมีจุดอ่อนข้อบกพร่องอะไรก็ตาม แต่สิ่งที่ดีมากก็คือ เราไม่รบกัน ไม่ฆ่ากัน มันสงบมาตั้งสี่ปีแล้ว
ส่วนเลือกตั้งแล้วจะมีผลออกมาเป็นอย่างไร ศ.ดร.เอนก กล่าวว่าก็น่าจะปรองดองกันได้ เพราะในฐานะที่เป็นประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง ได้มีโอกาสคุยกับหัวหน้าพรรคการเมืองสำคัญสามสี่พรรค ทุกพรรคก็มีท่าทีจะทำงานร่วมกันได้ ไม่ได้โกรธอะไรกัน และพร้อมที่จะทำงาน แล้วถ้าประชาชนเลือกอย่างไร เลือกน้ำหนักแค่ไหน พวกเขาก็บอกว่าพร้อมที่จะรับผลการเลือกตั้ง ถ้าผลการเลือกตั้งทำให้เขาต้องเป็นฝ่ายค้านก็ยินดีค้านโดยไม่มีเรื่อง ส่วนถ้าใครได้เป็นรัฐบาล ก็พร้อมที่จะเป็น แล้วอีกหลายๆ ฝ่ายก็พร้อมที่จะร่วมรัฐบาล ไม่ว่าใครจะเป็นแกนนำก็พร้อมที่จะร่วม ดูเหมือนทุกๆ พรรคพยายามจะทำตัวให้ตัวเองมีปัญหาน้อยที่สุด เพื่อจะให้การจัดตั้งรัฐบาลราบรื่น ผมก็คิดว่าถ้าหากนักการเมืองคิดอย่างนี้ได้ บ้านเมืองก็มีทางไป มันจะไปได้ร้อยเปอร์เซ็นต์หรือเปล่า เราคงไม่ต้องไปหวังขนาดนั้น แต่ว่าถ้าทุกพรรคคิดแบบนั้น ก็มีทางไปได้
ส่วนรัฐบาลจะจัดตั้งแบบไหน ก็ต้องแล้วแต่ผลการเลือกตั้งของประชาชน เลือกพรรคไหนเท่าไร แต่ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ทำให้ใครมีเสียงข้างมากได้ลำบาก เพราะฉะนั้น อาจต้องเป็นรัฐบาลผสม ซึ่งรัฐบาลผสมนั้นก็เป็นอีกวิถีทางหนึ่งที่จะนำมาสู่ความปรองดอง วิธีคิดของรัฐบาลผสมก็คือไม่มีคนชนะเด็ดขาด มีแต่ชนะมากชนะน้อย รัฐบาลผสมที่ผมอยากจะเห็นก็คือรัฐบาลผสมที่มีขนาดใหญ่ คือมีหลายๆ พรรคมารวมกันในรัฐบาล ประเทศออสเตรีย เยอรมัน อิตาลี มาเลเซีย ใช้ระบบแบบนี้ มีทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทุกฝ่ายที่ขัดแย้งกันเข้าไปอยู่ในรัฐบาล บีบให้ทุกฝ่ายที่ขัดแย้งกันต้องร่วมงานกันในรัฐบาล จะไม่ใช่ระบบเดิมแบบอังกฤษ แบบของไทยเราที่เป็นมาก็คือ ดันฝ่ายที่แพ้ให้ออกไปเป็นฝ่ายค้าน ก็เป็นอะไรที่ถ้ามาบวกกับจิตใจของพรรคฝ่ายที่พยายามที่จะปรองดองกันด้วย ผมคิดว่าบ้านเมืองก็คงไปได้
ผมคิดว่าคนไทยเราที่ระดับหมู่บ้านคุยกันได้ ที่คุยกันไม่ได้คือระดับชาติ แต่เราอย่าเอาตัวเองไปยุ่งกับเรื่องระดับชาติเกินเหตุ ให้เราสนใจเรื่องระดับพื้นฐานของเรา มันไปได้ ผมเห็นจากเรื่องเมือง เวลาพูดเรื่องเมืองอุดร ไม่มีการพูดเรื่องสีเสื้ออีกแล้ว ไม่มีการพูดเรื่องพรรคอีกแล้ว เพราะมันไม่สำคัญ ไม่ว่าจะสีอะไร ไม่ว่าจะพรรคไหน เวลาพูดถึงเรื่องจะพัฒนาเมืองอุดร เมืองขอนแก่น เมืองโคราช เมืองหนองบัวลำภู อย่างไร ทุกคนร่วมกันได้หมด เพราะมันเป็นบ้านของเรา ชาวบ้านระดับหมู่บ้านเขาทำได้ ระดับเมืองหรือจังหวัดก็ทำได้ เหตุที่เราขัดแย้งกันมากส่วนหนึ่งเพราะเรารวมศูนย์มากเกินไป เรื่องสำคัญๆ ในที่สุดแล้วต้องไปทำที่ประเทศ ที่ส่วนกลางหมด ก็เลยมีปัญหา ผลประโยชน์ก็เลยขัดกันมาก ถ้าเรากระจายอำนาจ กระจายทรัพยากร กระจายการตัดสินใจไปที่ระดับพื้นฐานให้มากขึ้น ก็จะเกิดข้อดีหลายอย่าง อย่างหนึ่งก็คือจะทำให้เกิดความสมัครสมานกันได้มากขึ้น
ขอเพียงอย่าเบื่อ อย่าท้อ อย่าเย้ยหยัน กับเรื่องปรองดอง ถ้าไม่มีสามอย่างนี้ ผมว่าในที่สุดก็ทำได้ แล้วก็ต้องคิดว่าถึงอย่างไรก็เป็นบ้านเมืองของเรา เราจะต้องอยู่ร่วมกัน