ก.วิทย์ฯ หนุนแก้ “กม.จัดซื้อฯ” ให้หน่วยวิจัยเป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญา เอื้อพัฒนานวัตกรรม
ก.วิทย์ฯ เดินหน้าพัฒนาธุรกิจนวัตกรรม เร่งปลดล็อกอุปสรรค “แก้ไข พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง” ให้หน่วยงานวิจัยเป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญา เชื่อมั่น 3-5 ปี ประเทศเปลี่ยนแปลง
เมื่อเร็ว ๆ นี้ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ถึงแนวทางการขับเคลื่อนประเทศสู่สังคมนวัตกรรม ภายในงานเปิดหนังสือ “ร้อยคนไทยหัวใจนวัตกรรม” (100 Faces of Thailand’s Innovation Inspirers) ซึ่งจัดโดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์กรมหาชน) หรือ สนช. ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัล แอมบาสซี กรุงเทพฯ
ดร.สุวิทย์ กล่าวว่า ในอนาคตประเทศไทยต้องมองเรื่องนวัตกรรมให้ครอบคลุม ‘ระบบนิเวศนวัตกรรม’ ซึ่งทุกวันนี้เรามีสตาร์ตอัพ (startup) แล้ว และสิ่งที่กำลังดำเนินการอยู่ เช่น การจัดอันดับความยากง่ายในการทำธุรกิจ (Ease of doing business) โดยล่าสุด ประเทศไทยมีอันดับดีขึ้น 20 อันดับ อยู่ที่ 26 จากเดิม 46 จาก 190 ประเทศทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องขับเคลื่อนนโยบายต่อไป คือ การสนับสนุนออกแบบโครงสร้างระบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ และปลดล็อกอุปสรรคและข้อจำกัดให้สามารถเพิ่มระดับความยากง่ายในการทำธุรกิจนวัตกรรมได้ (Ease of doing innovation business) ซึ่งสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ จะต้องเข้าไปมีบทบาท เพื่อจะสร้างสิ่งแวดล้อมให้นวัตกรรมเกิดขึ้น
รมว.วิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่า วิธีการจะต้องปลดล็อกอุปสรรคและข้อจำกัด เช่น การแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ไม่ว่าจะเป็น บัญชีนวัตกรรม หรือทำอย่างไรให้หน่วยงานวิจัยเป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญา สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ กำลังขับเคลื่อนนโยบาย
“เรากำลังสร้างกองทัพเศรษฐกิจใหม่ เพื่อขับเคลื่อนนวัตกรรม เบื้องต้น 5,000 ราย ซึ่งในจำนวนนี้มี 10 รายใหญ่ ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เน้นการวิจัยและพัฒนาเป็นสำคัญ ทั้งนี้ จะสนับสนุนให้รายใหญ่ลากจูงเอสเอ็มอีในเชิงการวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และหากประสบความสำเร็จ เชื่อว่าใน 3-5 ปี ประเทศจะเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมนวัตกรรมอย่างแน่นอน” ดร.สุวิทย์ กล่าวในที่สุด