บริษัทเผยวิธีลดค่าจ้าง “ให้ออกโดยสมัครใจ” เอ็นจีโอชี้อีก 2 ด.แม่บ้าน-ยาม โดนปลดอื้อ
บริษัทเผยวิธีปรับตัวต้นทุนค่าแรง ลดเบี้ยเลี้ยง ให้ออกโดยสมัครใจ แม่บ้านระบุไม่รู้จะได้ 300 บ. เมื่อไร ยามโวยรายได้เพิ่มไม่ทัน สินค้าแพง “ร้านถูกใจ” ช่วยได้ไม่กี่ราย เอ็นจีโอชี้อีก 2 ด.เห็นชัดปลดคนงาน
จากกรณีที่หอการค้าไทย ออกมาระบุว่าการปรับขึ้นค่าแรงงานเป็นวันละ 300 บาทตามนโยบายรัฐบาล ซึ่งมีผลตั้งแต่ 1 เม.ย. 55 ใน 7 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ กรุงเทพฯ ภูเก็ต สมุทรปราการ สมุทรสาคร ปทุมธานี นครปฐม และนนทบุรี จะมีผู้ประกอบการทั่วประเทศ 40% ได้รับผลกระทบทันที โดยเฉพาะธุรกิจบริการ เช่น ธุรกิจดูแลรักษาความปลอดภัย (รปภ.) แม่บ้านทำความสะอาด ตลอดจนผู้ประกอบการในจังหวัดอื่นที่จะต้องปรับขึ้นค่าจ้างทั่วประเทศในวันที่ 1 ม.ค.56 อีกทั้งคาดการณ์ว่าผู้ประกอบการประมาณ 2 แสนรายทั่วประเทศ ต้องปิดกิจการลงหรือย้ายฐานการผลิต
ศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศรา ได้สอบถามความคิดเห็นของผู้ได้รับผลกระทบบางส่วนโดยนายภูเบศ รณชิตสมบุญ กรรมการผู้จัดการใหญ่หุ้นส่วนจำกัด (หจก.) คลีนนิ่ง เอ็กซ์เพรส บริษัทจัดส่งแม่บ้านทำความสะอาด เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. บริษัทได้ขึ้นเงินค่าจ้างให้พนักงานทุกคนจาก 215 บาท เป็น 300 บาท ทำให้ต้องเดือดร้อนจากการแบกรับต้นทุนเพิ่มขึ้นมากซึ่งส่วนใหญ่อยู่ที่ค่าแรง
“แม้นโยบายรัฐบาลสามารถลดความเหลื่อมล้ำในสังคมชนชั้นแรงงานได้ แต่อยากให้เห็นใจผู้ประกอบการด้วยเพราะต้องรับภาระมากมาย จนอาจทำให้บริษัทขนาดเล็กปิดตัวลง ยิ่งส่งผลให้คนตกงาน”
นายภูเบศ กล่าวต่อว่า บริษัทไม่มีนโยบายปลดพนักงานจากการขึ้นค่าจ้างแรงงาน เพราะอยู่กันมานาน และแรงงานรายวันที่ขยันและซื่อสัตย์หายาก ฉะนั้นเพื่อให้สามารถอยู่ได้ทั้งสองฝ่ายจึงต้องปรับตัวด้วยการลดค่าเบี้ยเลี้ยงลง เช่น ค่าอาหารกลางวัน เบี้ยขยัน และปรับขึ้นค่าจ้างจากลูกค้าของบริษัท ทั้งขอวิงวอนให้รัฐบาลมีนโยบายลดค่าประกันสังคมให้มีสัดส่วนถ่วงดุลซึ่งกันและกัน
ด้านนางก. แม่บ้านทำความสะอาดประจำสมาคมแห่งหนึ่ง ย่านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ กล่าวว่า ในสมาคมมีแม่บ้านวุฒิปริญญาตรีที่ได้รับการปรับขึ้นเงินเดือน เป็น 15,000 บาท ตามนโยบายรัฐบาล แต่ตนและแม่บ้านอีกกลุ่มหนึ่งยังได้รับค่าแรงรายวันเฉลี่ย 250 บาท โดยไม่ทราบว่าจะได้รับการปรับขึ้นเป็น 300 บาทหรือไม่
ด.ต.พันศักดิ์ เคหบาล ผู้จัดการบริษัท ดีเอสแอล รักษาความปลอดภัยจำกัด กล่าวว่า แม้นโยบายจะทำให้รปภ.ส่วนใหญ่ได้ค่าแรงสูงขึ้น จาก 250-270 บาท เป็น 300 บาท แต่บริษัทก็ต้องปรับตัวอย่างสูง ทั้งเรื่องประสิทธิภาพการทำงานพนักงาน และงดรับพนังงานเพิ่ม รวมถึงต้องเสนอขอเพิ่มราคาจ้างจากลูกค้า 12,000 บาท ต่อรปภ.หนึ่งคน เป็น 15,000 บาท
“บริษัทไม่มีนโยบายปลดพนักงาน แต่อาจต้องส่งให้ไปทำงานต่างจังหวัด ซึ่งเป็นเรื่องยากที่พนักงานจะยอมรับ บางคนขอลาออกเองโดยสมัครใจ อย่างไรก็ตามเชื่อว่าในช่วงวันหยุดสงกรานต์นี้จะยังไม่มีพนักงานคนใดลาออกเพราะต้องอยู่จนสิ้นเดือนจึงจะได้รับค่าจ้าง แม้จะคิดค่าแรงในอัตรารายวัน”
ขณะที่ นายข. รปภ.ประจำบริษัทใหญ่ ย่านประตูน้ำ กล่าวว่าบริษัทได้เพิ่มค่าจ้าง 300 บาท/วัน ตั้งแต่ 1 เม.ย.55 โดยไม่ลดอัตราค่าทำงานล่วงเวลา (โอที) และเบี้ยเลี้ยงอื่นๆ ตนคิดว่าอาจเป็นเพราะบริษัทใหญ่จึงไม่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างเท่าใดนัก
“ตอนนี้ข้าวเพิ่มขึ้นเท่าตัว จากจานละ 25 บาท เป็น 40 บาท ถึงแม้รายได้เพิ่มขึ้น แต่ก็ยังไม่พอกับรายจ่าย แม้จะพยายามประหยัด จึงวอนรัฐบาลช่วยควบคุมราคาสินค้าไม่ให้สูงขึ้น เพราะถึงแม้จะมีโครงการร้านค้าถูกใจขายสินค้าราคาถูก แต่ก็ไม่มากพอที่จะกระจายทั่วถึงประชาชนรากหญ้า” นายวิทยากล่าว
ด้านนายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ซึ่งเป็นนักพัฒนาเอกชนด้านแรงงาน ระบุว่า ขณะนี้นโยบายเพิ่มค่าแรงเพิ่งมีผลบังคับใช้ อาจยังไม่เห็นผลกระทบที่ชัดเจน เรื่องการปลดคนงานแต่คาดว่าอีก 2 เดือนข้างหน้าอาชีพรปภ.และแม่บ้าน ตลอดจนลูกจ้างอาชีพบริการอื่นๆ จะถูกเลิกจ้างเป็นอันดับแรก.