‘อิศรา’ สุ่ม 7 จุด ‘คลองหัวลำโพง’ เน่าเสีย-กลิ่นเหม็น รับแผนพัฒนากรุง 100 วัน น้ำต้องใส
“อิศรา” สุ่มลงพื้นที่ “คลองหัวลำโพง” หลังผู้ว่าฯ กทม. คิกออฟนโยบายรักษาคูคลอง ต้องใส-สวยงาม ภายใน 100 วัน พบน้ำครำตลอดสาย ยิ่งไหลผ่านยิ่งเน่าเสีย
คิกออฟทันที สำหรับวาระแผนการพัฒนากรุงเทพฯ ปี 2561 ภายใต้แคมเปญ “Now ทำจริง เห็นผลจริง” ซึ่งได้เปิดตัวไปเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา โดยมี “พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง” ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานพร้อมโชว์วิสัยทัศน์ หนึ่งในนั้น คือ การเดินหน้ารักษาความสะอาดของคูคลองให้ยั่งยืน ซึ่งต้องดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 100 วัน (อ่านประกอบ:"อัศวิน" โชว์วาระพัฒนา กทม. “Now ทำจริง เห็นผลจริง” ท่ามกลางข่าวสะพัด ปูทางสู่สนามเลือกตั้ง)
“คลองหัวลำโพง” ถือเป็นคลองในกรุงเทพฯ ที่พบปัญหาเน่าเสียอย่างต่อเนื่อง “พล.ต.อ.อัศวิน” ระบุว่า กำลังหาวิธีแก้ไข โดยเบื้องต้นปัญหาเกิดจากการปิดประตูระบายน้ำ ดังนั้นจะต้องเปิดออกเพื่อใช้น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาผลักดันน้ำเสียออกไป”
สภาพน้ำเน่าเสียในคูคลองมากน้อยเพียงใด และมีสาเหตุจากการปิดประตูน้ำอย่างเดียวหรือไม่ ทีมข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยแบ่งพื้นที่ตรวจสอบ 7 ตำแหน่ง ดังนี้
เริ่มจากจุดที่ 1 คลองไผ่สิงโตเป็นคลองที่จะไหลลงไปเชื่อมกับคลองหัวลำโพง สภาพน้ำเป็นน้ำครำ ไม่ส่งกลิ่นเหม็น เศษขยะในคลองสายนี้พบเพียงเล็กน้อย
จุดที่ 2 ตลาดคลองเตย เป็นจุดเริ่มต้นของคลองหัวลำโพง โดยเริ่มคลองหัวลำโพงจะตั้งอยู่กลางตลาดคลองเตย แน่นอนว่าน้ำที่มาจากคลองไผ่สิงโตเป็นสีครำ น้ำที่อยู่บริเวณนี้ก็เป็นสีครำเช่นกัน
ประกอบกับในส่วนของตลาดมีการปล่อยน้ำเสียลงมาสู่คลองหัวลำโพง แต่ก็ยังคงไม่มีกลิ่นเหม็น พบเศษขยะเพียงเล็กน้อย เนื่องจากกรุงเทพฯ ได้นำตาข่ายพลาสติกมากั้นตลอดแนวตลาดที่อยู่ติดลำคลอง เพื่อป้องกันไม่ให้แม่ค้าพ่อค้านำเศษขยะทิ้งลงลำคลอง
ลึกเข้าไปในตลาด จุดที่ 3 เป็นร้านขายของ ของนางภาคินี หมั่นเพียร อายุ 61 ปี ประกอบอาชีพค้าขาย เธอบอกว่าขายของอยู่ที่ตลาดคลองเตยมากว่า 31 ปี แต่ก่อนนี้น้ำจะมีสีดำและส่งกลิ่นเหม็นหนักมาก แต่ 5-6 ปีที่ผ่านมา สังเกตเห็นว่าน้ำไม่ขุ่นดำแล้ว เนื่องจากประธานชุมชนและชาวบ้านในชุมชนช่วยกันดูแลบำบัดน้ำเสีย
“พื้นที่บริเวณนี้ กรุงเทพฯ จะจัดส่งเจ้าหน้าที่มาดูแล โดยกั้นตาข่ายห้ามทิ้งและนำเรือมาตักขยะตลอดเวลา แต่ยอมรับยังมีแม่ค้าพ่อค้าแอบทิ้งกันอยู่ ของแห้งอาจจะไม่ค่อยเน่า แต่ของสดที่ทิ้งลงไปจมและเน่า ทำให้เมื่อมีฝนตกหนัก เกิดปัญหาอุดตัน ส่งผลให้การระบายน้ำฝนติดขัด เอ่อล้นส่งกลิ่นเหม็นจากท่อ” แม่ค้าตลาดคลองเคย ระบุ
จุดที่ 4 ชุมชนพัฒนาใหม่ เริ่มเข้าสู่ย่านชุมชนและเป็นจุดที่สิ้นสุดคลองหัวลำโพง เนื่องจากคลองที่อยู่ฝั่งตรงข้ามถนนเป็นคลองเตย แต่ยังคงเป็นสายเดียวกันกับคลองหัวลำโพง มีถนนเกษมราษฎร์ที่ตัดผ่านคลองสายนี้เป็นตัวขั้นแบ่งเขต สภาพน้ำบริเวณนี้เป็นสีครำ สีเริ่มเข้มกว่าน้ำในส่วนที่อยู่บริเวณตลาด และพบว่า เริ่มมีเศษขยะมากขึ้น
น.ส.ลัดดา ฤกษ์ยินดี วัย 40 ปี ประกอบอาชีพแม่บ้าน อาศัยอยู่ริมคลองมากว่า 30 ปี กล่าวว่า ในชุมชนนี้มีผู้คนอาศัยอยู่ประมาณ 300-400 หลังคาเรือน ระยะหลังน้ำเริ่มดีขึ้นแล้ว ซึ่งแตกต่างจากแต่ก่อนที่มีการทิ้งขยะลงลำคลอง ทำให้ส่งกลิ่นเหม็นรุนแรง
“เดี๋ยวนี้ชาวบ้านไม่ทิ้งขยะลงคลองแล้ว ถ้าจะมีก็คงจะเป็นขยะที่ไหลมาจากตลาด แต่ทาง กทม. มีออกกฎเกี่ยวกับการทิ้งขยะลงลำคลอง อีกทั้งเดินเรือเก็บขยะทุก 8 โมงเช้า” เธอกล่าว
เราขับรถไปตามถนนทางรถไฟสายเก่าปากน้ำ เพื่อข้ามฝั่งไปยังจุดที่ 5 ชุมชนบ้านกล้วย ที่อยู่ใต้การทางพิเศษเฉลิมมหานคร โดยชุมชนแห่งนี้มีผู้คนอาศัยอยู่ประมาณ 100-200 ครัวเรือน มีการปลูกบ้านเรือนติดริมคลองทั้ง 2 ฝั่ง สภาพน้ำครำบริเวณนี้เริ่มออกเป็นสีดำ ซึ่งเข้มและส่งกลิ่นมากกว่าจุด 1-4 ที่สำคัญ เริ่มมีเศษขยะมากขึ้น
น.ส.ประไพรพรรณ แซ่ลิ้ม วัย 30 ปี ประกอบขายของชำ อาศัยอยู่ริมคลองมาตั้งแต่เกิด เล่าให้ฟังว่า ส่วนใหญ่แล้วคลองเส้นนี้จะเหม็นตลอด โดยเฉพาะช่วงที่สถานีสูบน้ำทำงานไม่ได้หรือระบายน้ำไม่ทัน น้ำจะเกิดการสะสมและส่งกลิ่นเหม็นมากกว่าปกติ แตกต่างจากเมื่อก่อนที่น้ำใสสามารถนำมาใช้ได้ในครัวเรือน
ทั้งนี้ เขตคลองเตยจะมีเรือเก็บขยะทุกวัน และมีการร่วมกับประธานชุมชน ในการรณรงค์เรื่องขยะ มีการนำป้ายเตือนการห้ามทิ้งขยะมาติด แต่ก็ไม่เห็นมีการสั่งปรับที่จริงจัง อาจเพราะไม่สามารถหาคนที่ทิ้งขยะได้จริง ๆ
เธอยังยืนยันว่า ชาวบ้านเริ่มมีระเบียบวินัยทิ้งขยะถูกที่มากขึ้น และหากมีขยะชิ้นใหย่ จะนำมาวางไว้หน้าบ้าน เพื่อรุ่งขึ้นเจ้าหน้าที่ของกรุงเทพฯ จะมาเก็บ เพื่อลดปัญหาการแอบทิ้งลงคูคลอง
ทีมข่าวมุ่งหน้าเลียบริมคลองเตยไปทางคลองพระโขนง ข้ามคลองไปฝั่งสำนักงานเขตคลองเตย เพื่อไปยังจุดที่ 6 ชุมชนริมคลองวัดสะพาน สภาพน้ำครำบริเวณนี้เป็นสีดำเข้มกว่าทุกจุดที่ผ่านมา มีเศษขยะและการปล่อยน้ำเสียจากบ้านเรือน
นางกิตติรัตน์ ระกาศ วัย 48 ปี ประกอบอาชีพค้าขายในวัดสะพาน อาศัยอยู่ที่ชุมชนนี้มากว่า 31 ปี ระบุว่า ชุมชนนี้มีผู้คนอาศัยอยู่ประมาณ 300-400 ครัวเรือน เมื่อ 25-30 ปีก่อน น้ำใสมากสามารถลงไปเล่นน้ำได้ แต่เดี๋ยวนี้น้ำเสียและเหม็นทุกวัน จะกระทบหนัก ๆ คือตอนนี้เจ้าหน้าที่กรุงเทพฯ ปล่อยน้ำจากสถานีสูบน้ำแรง ๆ จะเหม็นมาก ถ้ามีฝนตกอย่างหนักก็จะทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วม เพราะน้ำจะระบายไม่ทัน แต่ก็ท่วมในระยะสั้น ๆ ราว 1-2 ชั่วโมง
ทั้งนี้ ยอมรับว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่จะทิ้งจำพวกน้ำล้างจาน น้ำซักผ้า ลงคูคลอง ส่วนขยะมีน้อยมาก เพราะชุมชนแห่งนี้ได้รณรงค์การทิ้งขยะกันตลอด จะมีบ้างแค่บางรายที่ไม่ปฏิบัติตาม จะถูกเจ้าหน้าที่สั่งปรับเป็นเงิน 2,000 บาท นอกจากนี้ยังมีการชวนเก็บขยะรอบชุมชนปีละ 2 ครั้ง
ฝั่งที่น้ำไหลมาจากตลาดและบ้านเรือน
มาถึงจุดสุดท้ายของคลองสายนี้ก่อนที่จะไหลไปสู่คลองพระโขนงและแม่น้ำเจ้าพระยา จุดที่ 7 สถานีสูบน้ำคลองเตย ซึ่งเป็นทั้งประตูระบายน้ำและสถานีสูบน้ำแห่งเดียวในคลองสายนี้ พบว่า สภาพน้ำที่ไหลมาถึงสถานีสูบน้ำแห่งเป็นสีดำไม่ต่างจากจุดที่ 6 ส่งกลิ่นเหม็นรุนแรง เต็มไปด้วยเศษขยะที่ตกค้างอยู่บริเวณตัวกรองเครื่องสูบน้ำ
ฝั่งที่ผ่านสถานีสูบน้ำและกรองขยะออกไหลลงสู่คลองพระโขนง
สุรปัญญา นงค์สันเทียะ วัย 30 ปี พนักงานทั่วไปของสถานีสูบน้ำคลองเตย ทำงานอยู่ที่นี้มากว่า 2 ปี กล่าวยืนยันว่า ปัญหาน้ำเน่าเสียในคลองหัวลำโพงเรื่อยมาถึงบริเวณจุดสถานีสูบน้ำแห่งนี้มีตลอดทั้งปี เพราะชาวบ้านที่อาศัยริมคลองทิ้งน้ำที่ใช้อุปโภคลงสู่ลำคลอง ทำให้น้ำเน่าเสียง่ายขึ้น เมื่อคนเยอะ สิ่งที่ทิ้งลงไปก็เยอะนั่นเอง
“เกือบทุกวันจะมีการสูบน้ำออกจนแห้งเพื่อลดการสะสมของน้ำเสีย ถ้ามีฝนตกหนัก น้ำจะระบายไม่ทันทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมบ้านเรือนบริเวณที่ต่ำ ยอมรับน้ำในบริเวณจุดนี้ไม่สามารถทำอะไรได้เลย แม้แต่รดน้ำต้นไม้”
เขากล่าวอีกว่า ขยะที่เก็บได้จากสถานีสูบน้ำคลองเตยในแต่ละวันเฉลี่ยอยู่ที่ 20 เข่ง ขณะที่แนวทางใช้น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาผลักดันน้ำเน่าเสียออกไปนั้น ทำได้ในฤดูแล้ง เพราะต้องรอให้น้ำด้านในคลองเตยและคลองหัวลำโพงลดปริมาณลง จึงจะผลักดันน้ำจากด้านนอก ซึ่งเป็นคลองพระโขนงติดกับแม่น้ำเจ้าพระยาสู่ด้านในได้
“ น้ำที่เข้ามาจากแม่น้ำเจ้าพระยามารวมกับน้ำเดิมที่อยู่ในลำคลองจะทำให้มีความใสขึ้นมาอย่างมากร้อยละ 50 แต่ก็ใสอยู่ได้ไม่ถาวร เพราะว่ายังมีปัญหาน้ำเสียจากตลาดและบ้านเรือนไหลลงมาอยู่ตลอด” สุรปัญญา กล่าว
สังเกตเห็นว่า น้ำในคลองสายนี้ที่มีการเชื่อมต่อกันหลายจุดเริ่มมีสีดำและเหม็นมากขึ้น เมื่อไหลผ่านเขตชุมชน จนถึงจุดสุดท้ายบริเวณสถานีสูบน้ำคลองเตย และทั้งหมดนี้คือข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่ทีมข่าวลงพื้นที่ตรวจสอบ .