กอช.ตั้งเป้าเพิ่มสมาชิกอีก 1.2 ล้าน เดินหน้าสร้างระบบดิจิทัล- จ่ายสมทบผ่านเเอพฯ
กอช.เเถลงทิศทางปี 61 ตั้งเป้าเพิ่มสมาชิกเป็น 1.2 ล้านคน จาก 5.3 แสนคน ในปี 60 เน้นลงพื้นทีี่สร้างความรู้ เจาะกลุ่ม 'นักเรียนนักศึกษา' ฝึกออมตั้งเเต่อายุ 15 ปี เดินหน้าสร้างระบบดิจิทัล อำนวยความสะดวก จ่ายเงินสมทบผ่านเเอพฯ -เคาท์เตอร์เซอร์วิส คาดใช้ได้ มิ.ย. นี้ เเก้ กม.เพิ่มเงินสะสมสมาชิกเป็น 3 หมื่น/ปี สำเร็จกลางปี
วันที่ 26 ม.ค. 2561 น.ส.จารุลักษณ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) จัดแถลงข่าวทิศทางการดำเนินงานปี 2561 ณ บริเวณโถงห้องประชุมวายุภักษ์ 1 สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง
น.ส.จารุลักษณ์ เปิดเผยว่า กอช.มีเป้าหมายจะเพิ่มจำนวนสมาชิกในปี 2561 เป็น 1.2 ล้านคน หรือร้อยละ 120 จากเดิมที่มีจำนวนสมาชิกเพียง 5.3 แสนคน ในปี 2560 คิดเป็นร้อยละ 2 ของจำนวนแรงงานนอกระบบ 21 ล้านคน เท่านั้น ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 45.1 ภาคกลาง ร้อยละ 22 ภาคเหนือ ร้อยละ 13 และภาคใต้ ร้อยละ 10.1 โดยมีอาชีพเกษตรกรสมัครเข้ากองทุนมากที่สุด ร้อยละ 54.7 รองลงมา คือ ผู้ไม่ได้ประกอบอาชีพ ร้อยละ 19 และค้าขาย ร้อยละ 11
สำหรับการตั้งเป้าเพิ่มจำนวนสมาชิกเป็น 1.2 ล้านคนนั้น เลขาธิการ กอช. ระบุมุ่งมั่นจะเดินหน้าขับเคลื่อนโดยหมั่นลงพื้นที่ให้ความรู้การวางแผนเกษียณแก่ประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มนักเรียนนักศึกษา ที่จะสนับสนุนให้ออมเงินตั้งแต่อายุ 15 ปี โดยในปีนี้จะจับมือกับหน่วยงานรัฐ 10 แห่ง ตามที่ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “การส่งเสริมความร่วมมือการออมกับ กอช.” สร้างเครือข่ายให้ความรู้เรื่องการวางแผน โดยเฉพาะ “โครงการผู้ว่าฯ การออม” และ “โครงการสร้างครูต้นกล้าการออม”
น.ส.จารุลักษณ์ ยังกล่าวถึงการเพิ่มการอำนวยความสะดวกในการใช้บริการเข้ากองทุน กอช. ด้วยว่า จะเร่งรัดให้มีบริการระบบดิจิทัลออนไลน์ เพื่อให้บริการตรวจสอบคุณสมบัติผู้มีสิทธิสมัครและตรวจสอบยอดเงินในบัญชีผ่านแอพพลิเคชันมือถือ รวมถึงการเพิ่มจุดรับสมัครและช่องทางการส่งเงินสะสมตามศูนย์เคาท์เตอร์เซอร์วิส ภายในไตรมาส 2 ของปี หรือราว มิ.ย. 2561 รวมไปถึงการปรับปรุงขั้นตอนกระบวนการด้านงานสมาชิกให้ลดความยุ่งยากลง อีกทั้งยังมีแนวคิดจัดทำบัตรสิทธิประโยชน์เพื่อสมาชิก กอช.ไว้ใช้แสดงตนเมื่อเข้าร่วมโครงการพิเศษต่าง ๆ กับกอช.
“ปัจจุบันการวางแผนการออมหลังเกษียณ ส่วนใหญ่จะมีการรับรู้ในพื้นที่ส่วนกลางของประเทศ แต่พื้นที่ในต่างจังหวัดยังมีการรับรู้ของประชาชนน้อย ผู้สนใจจึงสามารถสมัครสมาชิกได้ที่ธนาคารกรุงไทย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ กอช. และสำนักงานประกันสังคม” ” เลขาธิการ กอช. กล่าว
ส่วนกรณีกอช.เตรียมแก้ไขกฎหมายเพื่อเพิ่มเงินสะสมของสมาชิกเข้ากองทุน น.ส.จารุลักษณ์ กล่าวว่า จากเดิมกำหนดไม่เกิน 13,200 บาท/ปี เป็น 30,000 บาท/ปี ปัจจุบันกำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณา คาดว่าจะแล้วเสร็จกลางปีนี้
ขณะที่การลงทุนในปี 2561 น.ส.จารุลักษณ์ กล่าวว่า กอช.ยังคงลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูง มากกว่าร้อยละ 80 เช่น เงินฝาก พันธบัตรรัฐบาล ตราสารหนี้ภาคเอกชน เพื่อให้ได้ผลตอบแทนตามที่กำหนด รวมถึงมุ่งเน้นการลงทุนในหลักทรัพย์ประเภทอื่นไม่เกินร้อยละ 20 เช่น หุ้น ซึ่งขณะนี้ลงทุนในกองทุนรวมอยู่
"ปี 2560 กอช.มีผลตอบเเทนการลงทุน โดยคำนวณตามมูลค่าหน่วยลงทุน (Net Asset Value:NAV) เติบโตร้อยละ 4 ซึ่งเป็นการลงทุนภายใต้กรอบนโยบายลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีวามมั่นคงสูงมากกว่า ร้อยละ 80 เเละลงทุนในหลักทรัพย์อื่นตามที่คณะกรรมการ กอช.กำหนด โดยส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในเงินฝากเเละตราสารหนี้ เช่น พันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ ตราสารหนี้ภาคเอกชน" เลขาธิการ กอช. ระบุ
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ข้อมูล ณ วันที่ 29 ธ.ค. 2560 ระบุกอช. มีสัดส่วนการลงทุนทั้งสิ้น 4.22 พันล้านบาท แบ่งเป็น ในพันธบัตรรัฐบาลมากที่สุด 1.63 พันล้านบาท (ร้อยละ 38.65) รองลงมา คือ เงินฝากธนาคาร 1.03 พันล้านบาท (ร้อยละ 24.37) ตราสารหนี้ภาคเอกชน 841.46 ล้านบาท (ร้อยละ 19.89) หน่วยลงทุนตราสารหนี้ 301.45 ล้านบาท (ร้อยละ 7.13) ตราสารหนี้รัฐบาลค้ำประกัน 222.02 ล้านบาท (ร้อยละ 5.25) ตราสารหนี้รัฐวิสาหกิจ 158.58 ล้านบาท (ร้อยละ 3.75) และตราสารหนี้ธนาคาร 40.68 ล้านบาท (ร้อยละ0.96)
ขณะที่เงินกองทุนรวม มี 2.83 พันล้านบาท แบ่งเป็นเงินสะสม 2.13 พันล้านบาท และเงินสมทบ 695 ล้านบาท .