สนช.ถกยาว ก่อนเคาะ กม.เลือกตั้ง ส.ส. มีผลบังคับใช้ 90 วันหลังลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา
สนช.ถกยาว ก่อนเคาะ กม.เลือกตั้ง ส.ส. มีผลบังคับใช้ 90 วันหลังลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา
สำนักข่าวอิศรา(www.isranews.org ) รายงานว่าที่รัฐสภาเมื่อเวลา 20.30 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)ได้ลงมติในวาระ 2 มาตราที่ 2 ของร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. โดยมีผลการลงมติอยูที่ เห็นชอบ 196 เสียง ไม่เห็นชอบ 12 เสียง งดออกเสียง 14 เสียง จากจำนวนสมาชิกสนช. 214 คนในที่ประชุม
ทั้งนี้ในรายละเอียดของ มาตรา 2 ของ ร่าง พ.ร.บ.ฯที่ถูกแก้ไขและเห็นชอบจากที่ประชุม สนช.นั้นมีรายละเอียดว่าให้ พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันแต่วันประกาศราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
โดยตลอดทั้งวัน สนช.และกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณา พ.ร.บ.ฯได้หารือในรายละเอียดของมาตรา 2. อาทินายวิทยา ผิวผ่อง สมาชิก สนช.และประธาน กมธ.ฯ กล่าวว่าเหตุผลที่ต้องเลื่อนการบังคับใช้กฎหมายออกไปหลังจากวันประกาศราจจานุเบกษาเป็นระยะเวลา 90 วัน ว่า เพื่อให้ประชาชน พรรคการเมือง ได้ศึกษา ทำความเข้าใจกฎหมายล่วงหน้า จะได้ไม่กระทำผิดโดยไม่เจตนา อีกทั้งยังมีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง 1.5 ล้านคน จะได้ปฏิบัติหน้าที่ได้โดยไม่ผิดพลาด จึงมีความจำเป็นต้องขยายระยะเวลา
ทางด้านของนายประพันธ์ นัยโกวิท กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ในฐานะกมธ.เสียงข้างน้อยที่สงวนคำแปรญัตติไม่ให้ขยายเวลาบังคับใช้กฎหมาย กล่าวว่า สิ่งที่คณะกมธ.เสียงข้างมากทำ เป็นการเปลี่ยนแปลงหลักการที่กรธ.กำหนดไว้ โดยการทำงานของกรธ.ทำตามมาตรา 267 มีกรอบเวลาชัดเจนคือ เขียนกฎหมายลูกทั้ง 10 ฉบับภายใน 240 วัน นับแต่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ กรธ.ได้ทำตามกรอบและวางแผนอย่างดีว่าต้องทำอย่างไร เพราะรู้ดีว่า มีเวลาเพียง 240 วัน ดังนั้นการที่กรธ.เสนอว่าต้องดำเนินการเลือกตั้งใน 150 วัน นับแต่ร่างดังกล่าวประกาศใช้ ถือว่าระยะเวลาดังกล่าวมีความยืดหยุ่นเหมาะสมแล้ว รวมทั้งกกต.ก็ใช้เวลาทำงานเท่ากัน รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้ขยายเวลายาวกว่ารัฐธรรมนูญปี50 ที่กำหนดเพียง 90 วันเท่านั้น จึงไม่เห็นความจำเป็นต้องขยายเวลาอีก 90 วัน เพราะแค่ 150 วันก็ยืดหยุ่นและสามารถปฏิบัติได้ โดยคสช.ไม่เคยขอให้กกต.มาทำอะไรเกี่ยวกับมาตรา 2 เลย
ส่วนนายทวีศักดิ์ สูทกวาทิน กมธ.เสียงข้างน้อยที่สงวนคำแปรญัตติขอขยายเวลาบังคับใช้กฎหมายเป็น120 วัน ระบุว่า การขยายเวลาบังคับใช้ 90 วันไม่เพียงพอ ทำให้เกิดปัญหาแก่พรรคการเมือง ไม่สามารถเตรียมการเลือกตั้งได้ทัน อาจมาขอขยายเวลาเพิ่ม กลายเป็นแรงกดดันทางการเมืองที่ถาโถมเข้ามา ทั้งนี้คำสั่งคสช.ที่ 53/2560 ที่ให้ขยับเวลาดำเนินกิจกรรมทางการเมืองเริ่มต้นในเดือนมี.ค.และเม.ย.ส่งผลให้เงื่อนเวลาดำเนินกิจกรรมทางการเมืองถูกขยับออกไป6 เดือน แต่ถ้าจะขยายเวลาออกไป 6เดือน จะถูกวาทกรรมต่างๆเช่น ยื้อเวลา สืบทอดอำนาจมากดดัน จึงเห็นว่าควรขยายเวลา 90 วันน่าจะเพียงพอ เพราะมีขั้นตอนหลายอย่างต้องใช้เวลาดำเนินการมาก เช่น การทบทวนรายชื่อสมาชิกพรรคการเมือง ระบบไพรมารีโหวต ขณะที่กกต.มีประเด็นใหม่หลายเรื่องที่ไม่มีประสบการณ์มาก่อนเช่น การหาเสียงทางอิเลคทรอนิกส์ ผู้ตรวจการเลือกตั้ง ไม่รู้กกต.มีความพร้อมและความรู้แค่ไหน หากไปกำหนดเงื่อนเวลา 90 วัน ตามแรงกดดัน ทำแบบกล้าๆกลัวๆ เมื่อถึงเวลาเลือกตั้งอาจเกิดปัญหาได้ ควรขยายเวลาเป็น 120 วัน จะเหมาะกว่า
ส่วนนายสมชาย แสวงการ สมาชิก สนช.กล่าวว่าสำหรับขั้นตอนในการดำเนินการพิจารณากฎหมายในแต่ละช่วงโดยก่อน 150 วัน ประมาณช่วงละ 19วัน ซึ่งทั้งหมดประมาณ 60-90 วัน และมี 90 ที่ 2 อยู่ใน 150 วัน ซึ่งรวมแล้วเป็นเวลา 180 วัน จึงเห็นว่าการขยายเวลาออกไป 90วันนั้นน้อยเกินไป ความจริงแล้วตนอยากให้ขยายเวลาเป็น 180 วันด้วยซ้ำ
ทางด้านนายณัฏฐ์ เล่าสีห์สวกุล ตัวแทนกกต.ในฐานะกมธ.ฯกล่าวว่า ในฐานะผู้จัดการเลือกตั้งมีความพร้อมตั้งแต่ยกร่างรัฐธรรมนูญเราก็เตรียมการเลือกตั้งไปพอสมควรแล้ว ซึ่งผู้ที่เป็นผู้สมัครสส.จะอ่านกฎหมายฉบับเดียวแล้วมาสมัครไม่ได้ ต้องอ่านทั้ง 3 ฉบับ ทั้งรัฐธรรมนูญ กฎหมายพรรคการเมือง และกฎหมายสส. เพราะมีการทำไพรมารีโหวตเพิ่มขึ้น และกกต.จะต้องดำเนินการตามกฎหมายที่บังคับใช้อยู่แล้ว ตนลองคาดคะเนดูแล้ว ในเดือนม.ค.กฎหมายดังกล่าวจะผ่านสนช. และอีกประมาณ 5 เดือนจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาหรือประมาณเดือนมิ.ย. ถ้าไม่มีการเลื่อนเวลาออกไปก็จะเริ่มนับ 150 วันซึ่งจะจบที่เดือนพ.ย.นี้ ตามที่ผู้นำประกาศไว้ แต่เมื่อมีคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 53/2560 และติดคำสั่งคสช.ที่ 57/2557 หากยกเลิกคำสั่งดังกล่าวพรรคการเมืองจะสามารถจัดประชุมใหญ่และทำไพรมารีโหวตได้
ทั้งนี้สำนักข่าวอิศรารายงานว่าหลังจากการลงมติทั้งในวาระ 2 และวาระ 3 แล้ว สนช.จะต้องนำเอาร่าง พ.ร.บ.ฯส่งไปยัง กรธ.และ กกต.พิจารณาว่าร่าง พ.ร.บ.ฯนั้นขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งหากพบว่าขัดต่อเจตนารมณ์ กรธ.และ กกต.ก็จะมีเวลา 10 วันเสนอตั้งกรรมการร่วมประกอบด้วย สนช.จำนวน 5 คน กรธ.จำนวน 5 คน และ กกต.อีก 1 คนเพื่อทบทวนร่าง พ.ร.บ.ฯ ซึ่งทั้งหมดเป็นไปตามมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญ
สำนักข่าวอิศรารายงานเพิ่มเติมว่าถ้าหากเนื้อหาของมาตรา 2 ที่ผ่านวาระ 2 ของ ร่าง พ.ร.บ.ฯมีผลบังคับใช้ ก็จะส่งผลทำให้ กกต. ต้องจัดการเลือกตั้งตามกรอบระยะเวลา 240 วัน หลังจากที่มีการลงพระประมาภิไธยประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.