ดร.กฤษณพงศ์ ชี้รัฐลงทุนภาษีการศึกษา มุ่งเป้าให้เงินแล้วจบมาต้องมีงานทำ
ดร.กฤษณพงศ์ มองคำสั่งนายกฯสั่งคุมงบสาขาที่ไม่สร้างงาน ไม่ใช่เรื่องใหม่ ชี้รัฐลงทุนภาษีการศึกษา ก็หวังผลไม่ใช่ใบปริญญา แต่คือสร้างงาน ต่อยอดทางเศรษฐกิจและสังคม
สืบเนื่องจากกรณีที่ นายกรัฐมนตรีมีข้อสั่งการเพิ่มเติมในประเด็นโครงการพัฒนาศักยภาพของทรัพยากรมนุษย์ในอุดมศึกษา เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของบริบทโลก (ทุนพัฒนาอาจารย์) พ.ศ.2561-2580 โดยหนึ่งในข้อคำสั่ง ระบุถึงการสนับสนุนงบประมาณให้อุดมศึกษา โดยให้มีการควบคุมสาขาที่ไม่มีงานทำ/ไม่ตรงความต้องการ การลดเงินอุดหนุนหรือไม่ให้ เช่น จีน ทำเหตุผล จบมาไม่มีงานทำ แต่ต้องใช้หนี้ กยศ./ปัญหาต่อเนื่อง (อ่านประกอบ นายกฯ สั่งเพิ่มเติม ‘ทุนพัฒนาอาจารย์’ คุมงบฯ อุดมศึกษา สาขาไม่มีงานทำ-ไม่ตรงความต้องการ)
ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร กรรมการนโยบายและพัฒนาการศึกษา และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ต่อกรณีนี้ว่า เรื่องแนวคิดเงินภาษีที่ลงมาในอุดมศึกษา อย่างน้อยต้องสร้างคนในสาขาที่ประเทศต้องการ แนวคิดนี้มีมานาน เงินกู้ กยศ. พยายามให้ไปในสายที่มีงานทำ ซึ่งในทางปฏิบัติไม่แน่ใจว่ามีการพิจารณาอย่างไร การศึกษาไม่ใช่เเค่เรื่องของวุฒิแต่ต้องนำไปสู่การมีงานทำ เป็นแนวคิดที่ทุกคนต้องเข้าใจในเมื่อใส่งบฯ เข้าไป( Input) ก็ต้องมีผลลัพธ์( Output)ที่ดีด้วย
"มหาวิทยาลัยต่างๆ ต้องลดขนาด(Down size ) โดยเฉพาะสาขาวิชาที่ไม่มีคนเรียนหรือจบไปแล้วไม่มีงานทำ ซึ่งเหล่านี้อยู่ที่วิธีปฏิบัติของมหาวิทยาลัย เรื่องนี้ก็มีมานานพอสมควรแล้ว"
เมื่อถามถึงสาขาวิชาที่อาจใช้เวลาในการสร้างงาน ไม่ได้เห็นผลทันที จะมีวิธีพิจารณาอย่างไรในการควบคุมงบฯ ดร.กฤษณพงศ์ กล่าวว่า เรื่องนี้มีสถิติยืนยันได้ว่า คณะนี้มีอัตรามีงานทำเท่าไหร่ ซึ่งมหาวิทยาลัยตื่นตัวเรื่องนี้มานานแล้ว ไม่ต้องรอให้นายกฯสั่ง ซึ่งเป็นหนึ่งในใบอนุญาตที่จะให้ประเทศเอาเงินมาลงทุนเพื่อให้คนเรียน แต่ไม่ใช่ให้เเล้วมีแค่ปริญญา เป้าหมายคือให้เงินแล้วจบมาต้องมีงานทำ
ดร.กฤษณพงศ์ กล่าวอีกว่า ปริญญาไม่ใช่เป้าหมาย จุดที่เราต้องช่วยกันแก้ เพราะวุฒิไม่ได้รับประกันการมีงานทำ นั่นหมายถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ แต่ก็ย่อมมีข้อยกเว้นในบางสาขาที่เกี่ยวข้องกับศิลปวัฒนธรรม เรื่องภาษา ด้วยทรัพยากรที่มี เราจะให้การศึกษาคนอย่างที่เขาต้องการและต้องมีงานทำด้วย ในหลายประเทศก็แบ่งค่าใช้จ่ายกันระหว่างรัฐและคนเรียน ดังนั้นถ้าจะเรียนในสาขาตามที่ตัวเองต้องการ และไม่ได้สร้างผลผลิตให้กับสังคม คุณก็ต้องแบกภาระมากหน่อย ในเมื่อเรามีทรัพยากรจำกัด เราจึงต้องเรียงลำดับความสำคัญว่า รัฐจ่ายเท่าไหร่ คนเรียนเท่าไหร่
“รัฐต้องอุ้มชูสาขาแต่สาขาไม่เท่ากันต้องมองไปข้างหน้า 10 ปี 20 ปีตลาดไปทางไหน ปัญหาของเราคือมองว่า เอาปริญญาตัวตั้งเสียก่อน มากกว่าเรียนเพื่อมีงาน เป้าหมายของการศึกษาก็เพื่อมีอาชีพ ไม่ใช่มีวุฒิ มีอาชีพก็คือสามารถไปขับเคลื่อนสังคม เศรษฐกิจได้ ไม่ใช่แค่เรียนปวส. ปวช. ปริญญาแล้วจบ เมื่อตลาดงานเปลี่ยนรัฐต้องมีกลไกให้คนกลับไปเรียนรู้เพิ่มเติม สิ่งที่มีปัญหาเราไม่มีการพัฒนาต่อเนื่อง คิดว่าได้ปริญญาเเล้วจบ” ดร.กฤษณพงศ์ กล่าวทิ้งท้าย
หมายเหตุ ภาพประกอบจาก สํานักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)