ถอดบทเรียน ตปท. กำกับดูแลแอพฯ เรียกแท็กซี่ ดึงจดทะเบียนทั้งบริษัท-ผู้ขับขี่-รถ
ทีดีอาร์ไอถอดบทเรียน 5 ประเทศ ศึกษาแนวทาง “กำกับแอพฯ แท็กซี่” เน้นปรับปรุงกฎ ระเบียบ ในประเทศ ให้ครอบคลุมต่อการดูแล ชงข้อเสนอกรมการขนส่งทางบกเดินหน้าขับเคลื่อน
การใช้รถยนต์ส่วนบุคคลรับส่งผู้โดยสารผ่าน “แอพพลิเคชัน” เหมือนกับแท็กซี่ ในต่างประเทศนิยมเรียกว่า Ride-sourcing และเรียกผู้ประกอบการขนส่งประเภทดังกล่าวว่า Transportation Network Company (TNC) โดยเป็นธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการเชื่อมโยงระหว่างผู้โดยสารกับผู้ขับขี่
อย่างไรก็ตาม ในหลายประเทศ ระบบขนส่งนี้ยังเป็นการให้บริการผิดกฎหมาย ไม่มีการกำกับดูแลอย่างถูกต้อง หรือแม้แต่ประเทศที่มีการกำกับดูแล ยังคงมีข้อถกเถียงในแง่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับสังคม โดยเฉพาะรถแท็กซี่ปกติที่ต้องเจอคู่แข่งทางการตลาด
สำหรับประเทศไทย มีบริการขนส่ง Ride-sourcing ตั้งแต่ปี 2557 ปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายรองรับอย่างเป็นกิจจะลักษณะ
ผู้ประกอบการรายใหญ่ 2 ราย ได้แก่ 1.อูเบอร์ (Uber) บริษัทประเทศสหรัฐฯ ที่ให้บริการใน 78 ประเทศทั่วโลก เริ่มให้บริการในประเทศไทย ในเดือน เม.ย. 2557
2.แกร๊บ (Grab) บริษัทประเทศมาเลเซีย ให้บริการใน 8 ประเทศอาเซียน เริ่มให้บริการในประเทศไทย ในเดือน มี.ค. 2557 เช่นเดียวกัน
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้ศึกษาการกำกับดูแลแอพพลิเคชันรถแท็กซี่ และ Ride-sourcing ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัย “การพัฒนาเพื่อความปลอดภัยและคุณภาพการให้บริการของรถแท็กซี่ โดยพิจารณาโครงสร้างต้นทุนและการประกอบการ”
โดยมีข้อเสนอหนึ่งเกี่ยวกับการคุ้มครองสวัสดิภาพผู้บริโภคไปยังกรมการขนส่งทางบก จะต้องมีการกำกับดูแลบริษัทที่ทำแอพพลิเคชันและแอพพลิเคชัน ออกใบอนุญาตขับขี่มาตรฐานเดียวกัน และจดทะเบียนรถที่ให้บริการผ่านแอพพลิเคชันเพื่อให้บริการสาธารณะ (Re-registation) โดยกำหนดระยะเปลี่ยนผ่านภายใน 6-12 เดือน พร้อมกับเตรียมแผนปฏิบัติการในช่วงเปลี่ยนผ่าน
ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัย เพราะการไม่มีกฎหมายรองรับที่ชัดเจนในปัจจุบัน อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่าง ๆ เช่น ปัญหาความเป็นส่วนตัวของข้อมูล หากไม่มีการจดทะเบียน ข้อมูลส่วนตัวของผู้ขับขี่และผู้โดยสารที่อยู่กับเจ้าของแอพพลิเคชันอาจถูกเผยแพร่โดยไม่ได้ตั้งใจ
กรณีนี้ในสหรัฐฯ เคยเกิดขึ้นแล้ว ที่ข้อมูลผู้โดยสารอูเบอร์ถูกแฮ๊ก แล้วบริษัทยอมจ่ายเงินให้กับแฮ๊กเกอร์เพื่อปิดข่าว
ฉะนั้นเพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ ให้ผู้บริโภคได้รับประโยชน์จากการบริการ และสร้างการแข่งขันที่เป็นธรรม “ในต่างประเทศ” จึงสร้างแนวทางกำกับบริการเรียกแท็กซี่ผ่านแอพพลิเคชัน
‘ดร.สุเมธ องกิตติกุล’ ผอ.วิจัยด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ ทีดีอาร์ไอ หยิบยกตัวอย่างกรณีศึกษา 5 ประเทศ ได้แก่ รัฐนิวเซาท์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย ประเทศสิงคโปร์ รัฐอิลลินอยส์ ประเทศสหรัฐฯ ประเทศฟิลิปปินส์ และประเทศมาเลเซีย พบ 3 แนวทาง ที่เกี่ยวข้องกับการปรับปรุงกฎ ระเบียบ ในประเทศ ให้ครอบคลุมต่อการกำกับดูแล
แนวทางที่หนึ่ง การขออนุญาตประกอบกิจการและกำกับดูแลเพื่อสร้างความเป็นธรรมแก่บริการรถแท็กซี่
-กรณีรัฐนิวเซาท์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย
ผู้ประกอบการต้องขออนุญาตประกอบการเหมือน Booking service provider ที่ไม่ใช่การขออนุญาตเหมือนแท็กซี่มิเตอร์ปกติ และต้องเสียภาษีเงินได้ และค่าธรรมเนียมสมทบกองทุนอุดหนุนแท็กซี่ที่ได้รับผลกระทบ บริษัทฯ ยังต้องจ่ายค่าธรรมเนียมรายปีเช่นเดียวกับรถแท็กซี่ โดยคิดจากจำนวนเที่ยววิ่งของรถแต่ละคันรวมกัน รวมถึงห้ามจอดในจุดจอดของรถแท็กซี่ปกติ ซึ่งของรัฐนิวเซาท์เวลส์ มีความคล้ายคลึงกับประเทศสิงคโปร์
แนวทางที่สอง ผู้ขับขี่ต้องมีใบอนุญาตขับขี่สาธารณะหรือใบอนุญาตขับขี่รถที่ให้บริการแท็กซี่ผ่านแอพพลิเคชันโดยเฉพาะนั้น มีกรณีศึกษา
-กรณีประเทศฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย
กำหนดให้ใช้ใบอนุญาตขับขี่สาธารณะในการให้บริการ
-กรณีรัฐนิวเซาท์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย และรัฐอิลลินอยส์ ประเทศสหรัฐฯ
สร้างใบอนุญาตขับขี่ประเภทใหม่ โดยกำหนดเงื่อนไขด้านคุณสมบัติเฉพาะ
-กรณีประเทศสิงคโปร์
ให้ใช้ใบอนุญาตขับขี่ประเภทใหม่ ใบขับขี่สาธารณะที่มีอยู่แล้ว
แนวทางที่สาม รถทุกคันที่ให้บริการแท็กซี่ผ่านแอพพลิเคชั่น ต้องผ่านการจดทะเบียนและกำหนดให้ติดตราสัญลักษณ์เป็นพิเศษ
โดยทั้ง 5 ประเทศ ระบุตรงกันต้องมีการจดทะเบียน โดยให้จดทะเบียนจากหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลโดยเฉพาะ ปฏิบัติตามเงื่อนไขด้านมาตรฐานความปลอดภัย ต้องมีการตรวจสภาพรถตามกฎหมาย และต้องติดตราสัญลักษณ์หรือโลโก้เฉพาะ แต่ต้องไม่ซ้ำกับแท็กซี่ปกติ
จะเห็นได้ว่า 3 แนวทาง จากกรณีศึกษาในต่างประเทศ คือ หัวใจสำคัญที่จะทำให้การกำกับดูแลแอพพลิเคชันรถแท็กซี่และ Ride-sourcing ประสบความสำเร็จ ภายใต้กรอบของกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้เป็นเพียงความเห็นหนึ่งของทีดีอาร์ไอ หลังจากนี้เป็นหน้าที่ของกรมการขนส่งทางบก ในฐานะผู้รับผิดชอบโดยตรง เร่งรัดให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเหล่านี้เป็นผลสำเร็จจริงโดยเร็ว ภายใต้หลักการแข่งขันอย่างเป็นธรรมและคุ้มครองประโยชน์สาธารณะอย่างสูงสุด .
อ่านประกอบ:นักวิจัยชงกรมขนส่งทางบกขึ้นทะเบียนแอพฯ แท็กซี่ คาดใช้ระยะเปลี่ยนผ่าน 6-12 เดือน
ภาพประกอบ:https://pantip.com/topic/32946342